NLA weekly (13 - 19 พ.ค. 60): สนช. เสนอขึ้น VAT 1 % หวังรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้าน พัฒนาการศึกษา และสาธารณสุข

NLA weekly (13 - 19 พ.ค. 60): สนช. เสนอขึ้น VAT 1 % หวังรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้าน พัฒนาการศึกษา และสาธารณสุข

เมื่อ 21 พ.ค. 2560

 

15 พฤษภาคม 2560
 
สปท. รับทราบรายงาน ร่างพ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ เตรียมเสนอนายกใช้ ม. 44 ตั้ง กปช. ทำหน้าที่แทนก่อนประกาศใช้
 
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้รับทราบรายงานร่างพ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ฯ โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไข คือ ควรให้คำนิยามของคำว่า "ไซเบอร์" ให้ครอบคลุมความมั่นคงของชาติในทุกมิติทั้งด้านระะบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภค ระบบกิจการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่ง ถือว่าเป็นเครือข่ายระดับประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแทน รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว จะส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรีและให้คณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาต่อไป 

 
 
 
16 พฤษภาคม 2560
 
กมธ. วิสามัญ พิจารณาเนื้อหารายมาตราร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง 
 
วัลลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างดังกล่าวว่า เนื้อหารายมาตราได้พิจารณาเสร็จแล้ว ยังคงเหลือการพิจารณาเรื่องการจ่ายค่าสมาชิกพรรคการเมือง โดยมีความเห็นทั้งหมด 3 แนวทาง คือ 1) เก็บค่าสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปี 2) เก็บไม่เกิน 100 บาทต่อปี 3) เสนอให้กำหนดในบทเฉพาะการงดเว้นการเก็บค่าสมัครสมาชิกพรรคในปีแรก  และให้กำหนดค่าสมาชิกหลังจากพ้น 1 ปีไปแล้ว และประเด็นการจ่ายเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง 1 ล้านบาท มีกรรมาธิการเสนอให้ลดเหลือ 500,000 บาท เนื่องจากมากเกินไป แต่กรรมาธิการยังยืนยันความจำเป็นที่ต้องมีเงินทุนประเดิมและบทลงโทษพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับประมวลจริยธรรมที่กรรมาธิการกำหนดเพิ่มให้กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องใช้มาตรฐานเดียวกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
 
 
 
17 พฤษภาคม 2560 
 
หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 แก้ปมสรรหา สตง. กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
 
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า กรณีที่ประชุม คสช. ได้มีมติเห็นชอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4 เรื่อง "การแก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 23" เกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. และ ผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. โดยคณะกรรมการ คตง. จะหมดวาระพร้อมกันในเดือนกันยายน และคำสั่งเดิมได้กำหนดไว้ว่า หากสรรหาคณะกรรมการ คตง.ใหม่ จะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือก คณะกรรมการที่จะสรรหาภายใน 15 วัน และดำเนินการสรรหาภายใน 180 วัน แต่ก็ยังไม่สามารถสรรหาได้ จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลา และกำหนดเงื่อนไขใหม่ให้ชัดเจนในคำสั่งฉบับใหม่
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 25/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ในคำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาเช่น 
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 6 ของคำสั่งที่ 23/2560 ว่า “ผู้เคยได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระมาแล้วไม่ว่าตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือคําสั่งใด ให้ถือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม (๑)”
 
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 วรรคสี่ ของคําสั่ง 23/2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การรับสมัครและวิธีการคัดเลือก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานศาลฎีกาหรือประธานศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี เป็นผู้กําหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาตามข้อนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาตามข้อ ๙ เป็นผู้มีหน้าที่และอํานาจในการวินิจฉัย และให้นําความในข้อ ๙ วรรคหก มาใช้บังคับกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม”
 
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 12 ของคำสั่งที่ 23/2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 12 เมื่อมีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง หรือจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือคำสั่งใด หรือมีกรณีที่จะต้องคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ครบจำนวนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือให้ครบจำนวนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ”
 
 
 
 
ประธาน สนช. ปฏิเสธใช้ ม. 44 ผลักดันกฎหมายปฏิรูป ตาม สปท. เสนอ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิเสธการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปตามข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพราะ ต้องพิจารณาความจำเป็นและจะใช้มาตรา 44 กับการออกกฎหมายหลักไม่ได้ ทั้งนี้ สนช. ยังมีวาระเหลือ 1 ปี น่าจะสามารถผลักกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมาได้ แต่ก็อาจไม่สามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 36 ฉบับ และบางฉบับอาจขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น 
 
 
 
 
18 พฤษภาคม 2560 
 
สนช.- สปท. ชง โอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังกัดกระทรวงยุติธรรม 
 
ที่รัฐสภา ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ได้รายงานผลการศึกษาการปฏิรูปตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าควรโอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่บังคับใช้กฎหมายอื่นที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม 
 
ส่วนการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ใช้หลักเกณฑ์ต้องผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี มีส่วนรับผิดชอบในคดีไม่น้อยกว่า 70 คดี และควรมีการปรับฐานเงินเดือนตำรวจเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยให้เงินเดือนตำรวจชั้นประทวนเริ่มต้นที่ 13,773 บาท และชั้นสัญญาบัตร เริ่มต้นที่ 26,605 บาท ควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจร และสายงานสืบสวนที่มีความเสี่ยงการปฏิบัติงานสูงกว่าตำรวจสามัญ ซึ่งรายงานดังกล่าวจะนำเสนอเข้าที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
 
 
 
สนช. เสนอขึ้น VAT 1 % หวังรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้าน พัฒนาการศึกษา และสาธารณสุข
 

สุรชัย เลี้ยงบุญ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 พิจารณารายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน โดยเสนอให้มีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8 % เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 % เพื่อนำรายได้ไปใช้ในด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข และคาดว่าจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท 
 
นอกจากนี้ยังเเสนอแนวทางในการปฏิรูปภาษีอื่นๆ คือ 1)ภาษีเงินได้นิติบุคคล กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนรายเดียวกันที่มีหลายสาขาต้องจัดทำบัญชีรายได้และรายจ่ายของแต่ละสาขาออกจากกันเพื่อเสียภาษีในพื้นที่นั้นๆ โดยตรง โดยไม่ให้รวมบัญชีเดียวเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป 2) เสนอให้มีการเก็บภาษี e-Commerce ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ 3)การเก็บภาษีจากธุรกิจขายสินค้าผ่านระบออนไลน์ 4) ภาษีลาภลอย เช่่น การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงทำให้ที่ดินมีราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ 
 
ที่มา: คมชัดลึก