แม้ว่าสัปดาห์นี้ สนช. จะไม่ได้ผ่านกฎหมายฉบับใดเลย แต่สัปดาห์หน้าจะมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับเข้า สนช. ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ จะมีร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จำนวนมาก รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้วย
23 พฤษภาคม 2560
สนช.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ สัปดาห์หน้า
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มายัง สนช. จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ซึ่ง สนช. ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. .... หากฉบับใดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช. พิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งจะมีร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุม สนช. จำนวนมาก ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สนช.จะจัดทำปฏิทินการทำงานพิจารณากฎหมายให้เหมาะสมและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
25 พฤษภาคม 2560
สนช.เผย อาจเพิ่มคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจาก 32 คน เป็น 35 คน
ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า กมธ.พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว รวมทั้งพิจารณาคำแปรญัตติของสมาชิก สนช. โดยที่ประชุม กมธ.มีมติแก้ไขเพิ่มเติม 5 มาตรา คือ มาตรา 7 , 8 , 12 , 15 และ 28 และมีข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น เป้าหมายการพัฒนาประเทศตามมาตรา 6 วรรคสอง ควรมีด้านการส่งเสริมพลังของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสแสดงบทบาทพลเมืองที่เข้มแข็งของรัฐในอนาคต การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่น ตามมาตรา 12 (6) ควรพิจารณาโดยคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในห้วงเวลานั้นเป็นสำคัญ และที่ประชุมได้มีมติให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจากเดิม 32 คน เป็น 35 คน โดยเพิ่มในสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม 14 คน เป็น 17 คน แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมาจากฝ่ายใด และยังคงสัดส่วนตัวแทนจากเหล่าทัพไว้ที่ 5 คน เท่าเดิม
ทั้งนี้ กมธ.จะประชุมพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติทั้งฉบับอีกครั้ง ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช. พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2560
26 พฤษภาคม 2560
หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ลดเวลาทำ EIA ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก เหลือไม่เกิน 1 ปี จากเดิม 1-3 ปี
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีสาระสำคัญคือ การดําเนินโครงการหรือกิจการใดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือชุมชน ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชํานาญการ (คชก.) เพื่อพิจารณารายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment:EIA) ของโครงการหรือกิจการนั้นเป็นการเฉพาะ กับให้มีอํานาจกําหนดหลักเกณฑ์ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมจาก สกรศ. หรือผู้ขออนุญาต แล้วแต่กรณี เพื่อนําไปจ่าย เป็นค่าตอบแทนพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชํานาญการตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกําหนด
ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับรายงานที่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คสช.ใช้ ม.44 เปิดให้ตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ระบุว่า “เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล จําเป็นต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อจะได้นําองค์ความรู้ ที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีคำสั่งว่า การจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ให้ดําเนินการได้ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกลงวันที่ 17 มกราคม 2560