29 พฤษภาคม 2560
ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พิจารณาเสร็จทั้งฉบับแล้ว เตรียมส่งเข้าที่ประชุม สนช. เดือน มิ.ย.นี้
เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า มีทั้งหมด 33 มาตรา ขณะนี้ กมธ.พิจารณาวาระสองครบทุกมาตราแล้ว เหลือการพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยและการรับฟังข้อมูลความเห็นประชาชน ซึ่งหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติควบคู่กับกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ทั้งนี้ คาดว่าแผนปฏิรูปใช้เวลาทั้งสิ้น 8 เดือน หรือแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 เว้นเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และการศึกษาที่สามารถดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการได้ทันทีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
สปท.มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เห็นผลสัมฤทธิ์ไม่เกิน 20 ปี
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท) มีมติเห็นชอบรายงานของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดย เสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า คาดหวังว่าแผนการปฏิรูปดังกล่าวจะบรรลุได้ในระยะเวลา 5 ปี ภายหลังจากการที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในครั้งแรก และจะเกิดการพัฒนาทางการเมืองต่อไปภายในระยะเวลาทุกๆ 5 ปี หลังจากที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วแต่ละครั้ง ไม่เกิน 5 ครั้ง รวมเวลาแล้วจะเห็นผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปการเมืองที่สมบูรณ์ใช้เวลาไม่เกิน 20 ปี
1 มิถุนายน 2560
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เตรียมปรับแก้ไขเนื้อหาให้สมบูรณ์ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม สนช. 22 มิ.ย.นี้
พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... แถลงความคืบหน้าการพิจารณากฎหมายดังกล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. ได้พิจารณาผลการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ ผ่านเว็บไซต์ www.thaigov.go.th โดยพบว่า มีประชาชนแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในประเด็นการกำหนดกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ การเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)การพัฒนาคน และการเพิ่มบทบาทคนรุ่นใหม่ ซึ่งเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กมธ. ได้บัญญัติเพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ จาก 14 เป็น 17 คน และเพิ่มจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจาก 32 คน เป็น 35 คน รวมทั้งมีการปรับแก้ไขถ้อยคำให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้กมธ. จะพิจารณาทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้มีความสมบูรณ์ในวันที่ 8 มิถุนายน นี้ ก่อนเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุม สนช. ในวันที่ 22 มิถุนายน
กมธ. มีมติเห็นด้วย ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. แบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ แก้ปัญหานายทุนพรรค ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ที่ประชุม กมธ.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช.มีการประชุมนัดสุดท้ายพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ทุกมาตราแล้ว โดยมีการลงมติใน 4 มาตราที่สำคัญ ได้แก่ 1.คณะกรรมการบริหารพรรค โดยที่ประชุมกมธ. มีมติให้เพิ่มตำแหน่งเลขาธิการพรรค 2.ทุนประเดิมพรรค ที่ประชุมกมธ.มีมติปรับแก้ไขจากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาท ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนด แต่อยู่ภายใต้การใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิม กกต. กำหนดไว้ที่ 1.5ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทุนประเดิมอาจมีการปรับเปลี่ยนก็ได้ ภายใต้การหารือระหว่าง กกต. กับพรรคต่าง ๆ ในการเลือกตั้งต่อไป ขณะที่พรรคการเมืองสามารถจ่ายเงินประเดิมพรรคภายหลังได้ แต่ต้องเมื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 3.การจ่ายเงินสมทบจากสมาชิกพรรค ที่ประชุม กมธ.ยังคงยืนตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 100 บาท และในระยะเริ่มต้นปีแรกไม่น้อยกว่า 50บาท 4.การได้มาซึ่งรายชื่อของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กำหนดให้ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จะมาจากการเสนอชื่อโดยสมาชิกพรรคระดับสาขา ขณะที่แบบบัญชีรายชื่อ มาจากการรวบรวมจากคณะกรรมการสรรหาของพรรค จัดลำดับแล้วส่งกลับลงมาให้สมาชิกระดับสาขาเลือก
2 มิถุนายน 2560
กมธ.วิสามัญฯ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. มีมติเสียงข้างมากให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง หลังร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.มีผลบังคับใช้
พลโท พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. .... สนช. แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว หลังเชิญผู้แปรญัตติมาอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของกกต. ว่า ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ได้มีมติเสียงข้างมากเห็นควรให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง เมื่อร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.มีผลบังคับใช้ แต่ยังให้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่ง กกต.ต่อไปจนกว่ามี กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน เนื่องจาก กกต.ถือเป็นองค์กรสำคัญที่นำไปสู่การใช้อำนาจรัฐและการปฏิรูปประเทศ และตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต.มากขึ้น อาทิ อำนาจการสืบสวนไต่สวน ดั้งนั้นจึงต้องเพิ่มมาตรฐานคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานให้มีความเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหาก กกต.มาจากคุณสมบัติที่ต่างกันจะทำให้การทำงานไม่ราบรื่น ไม่เป็นผลดีในอนาคต อย่างไรก็ตามสุดท้ายร่างกฎหมายลูกดังกล่าวจะออกมาอย่างไร ขอให้รอความชัดเจนในที่ประชุมใหญ่ สนช. ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายนนี้
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสนช.มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... ไว้พิจารณา โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งการจัดสัมมนาและ นำขึ้นเว็บไซต์ โดยได้นำความเห็นและข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ กรธ.ได้เพิ่มเติมหลักการในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 2 ประเด็น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ กำหนดวิธีการไต่สวนให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้การพิจารณาของศาล การสืบค้นและหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรม รวมถึงได้กำหนดเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินคดีสำคัญได้ เนื่องจากจำเลยมีการหลบหนีและไม่สามารถนำมาดำเนินคดีได้ ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นโดยพยายามปิดช่องโหว่ต่างๆ คำนึงถึงหลักสากล และประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ตั้งทนายมาต่อสู้คดี