สัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่ต้องจับตา เริ่มตั้งแต่การออกมาค้านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของ กกต. เอง ซึ่งจะเข้าไปยื่นเรื่องให้ สนช. พิจารณาว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กรธ. ต้องเตรียมรับมือในประเด็นการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วยเชนกัน
อย่างไรก็ดี สนช. ก็ยังคงพิจารณากฎหมายลูกอย่างต่อเนื่อง โดยสัปดาห์นี้ให้ความเห็นชอบประกาศใช้ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง และรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับอาทิตย์นี้ก็คือ ผลการสอบจริยธรรม 7 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขาดประชุมและขาดการลงมติซึ่งอาจจะผิดตามข้อบังคับของสภาแต่ผลการตรวจสอบปรากฎว่า ไม่มีความผิด เพราะมีภารกิจของหน่วยงาน ที่ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม อีกทั้ง ที่ประชุม สนช. ยังแก้ข้อบังคับใหม่ ขาดลงมติได้ไม่จำกัด อีกด้วย
14 มิถุนายน 2560
กกต.มีมติยื่นสนช. 2 ประเด็น ร่างพรป. ขัดรัฐธรรมนูญ
ในการประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 16 มิ.ย. 2560 จะมีการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ใหม่ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีสาระสำคัญประการหนึ่งคือการตัดข้อบังคับที่ว่าสมาชิก สนช. ต้องมาแสดงตนลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมด
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ยอมรับว่ามีการตัดเนื้อหาดังกล่าวออกไป เนื่องจากไม่ได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือให้ สมาชิก สนช. ขาดประชุมได้ ทั้งยังสั่งให้ประธานกรรมาธิการคณะต่างๆ กำชับกับสมาชิกว่าแม้ไม่มีเนื้อหาดังกล่าวก็ขอให้มา
สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 217 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 19 คน โดยมีสัดส่วนมาจาก กรธ. 2 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 คน และ สนช. 14 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 45 วัน
โดย กรธ.ได้ปรับแก้ สาระสำคัญของร่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาใน 3 ประเด็น คือ
1.การเปลี่ยนบทบาทของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการที่เคยเป็นผู้ตรวจจับและรายงานความผิด มาเป็นการปรึกษาหารือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติให้ถูกต้องทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ความเที่ยง ธรรมและความไม่เหลื่อมล้ำ
2.เจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ปฏิบัติตามการเสนอแนะของผู้ตรวจแผ่นดิน ทำให้ การแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อประชาชนไม่สามารถเดินหน้าได้ กรธ.จึงพยายามหาทางปรองดองคือ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายให้ดำเนินการปรึกษาหารือกับหน่วยงานและแนะนำให้ปฏิบัติ แต่หากหากเพิกเฉยจึงมีบทลงโทษ
3.หลีกเลี่ยงการตั้งคณะบุคคลไปทำงานแทนผู้ตรวจการแผ่นดินให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อก่อให้เกิดความไว้วางใจและ ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง แต่หากจำเป็นก็สามารถตั้งคณะบุคคลทำงานแทนได้
ด้านสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่มุ่งเน้นอภิปรายในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ค่อนข้างสูง คล้ายกับจะเป็นการเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่เป็นธรรม และอาจหาผู้สมัครเข้ารับการสรรหาได้ยาก
16 มิถุนายน 2560
ประธาน กรธ. ระบุ การปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม จะเป็นไปตามกลไกเมื่อกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดูรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง(พ.ร.ป.) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งหากไม่สมบูรณ์ก็ต้องหาทางปรับแก้ โดยตั้งกรรมาธิการร่วมกันขึ้นมาทำงานร่วมกันเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ ส่วนการปลดล็อคพรรคการเมืองในการทำกิจกรรมนั้น เมื่อกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ทุกอย่างจะเป็นไปตามกลไก แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทาง สนช. ปรับแก้ไขการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครเลือกตั้งจากตัวแทนที่ได้รับการโหวตเลือกจากสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด(ระบบไพรมารีโหวต) นั้น แม้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่วิธีดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติกับ กกต. และพรรคการเมืองในเรื่องกระบวนการ อีกทั้งสงผลให้พรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ กรธ.จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือในประเด็นดังกล่าว เพื่อหาทางออกร่วมกัน
สนช.มีมติ 204 เสียงประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ใช้เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 204 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการ
สำหรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกอบด้วย
1.แก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลของร่าง เป็น "โดยที่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยไม่ดำรงตำแหน่งด้านบริหารจนกว่าจะพ้นจากราชการ"
2.การประเมินสมรรถภาพเป็นมาตรการสำคัญในการตรวจสอบและดูแลให้ผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอยู่ในสถานะที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ การกำหนดให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ต้องเข้ารับการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าข้าราชการตุลาการผู้นั้นถึงแม้จะมีอายุมาก แต่ก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์ ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา ทั้งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงสามารถอำนายความยุติธรรมให้แก่คู่ความที่มีอรรถคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในการประเมินสมรรถภาพจึงควรที่จะมีการประเมินอย่างรอบด้านทั้งทางร่างกาย ซึ่งนอกจากการตรวจร่างกายโดยทั่วไปแล้ว ควรมีการตรวจความสามารถด้านการฟังและสายตา และการตรวจประเมินด้านสุขภาพจิตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ เพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
สนช.มีมติประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ใช้เป็นกฎหมาย
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม มีมติผ่านวาระ 3 ประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 197 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง
โดยพลตำรวจเอก ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวต่อที่ประชุม สนช.ว่า ในการพิจารณาร่างฉบับนี้ ได้นำรายงานความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตรากฎหมายมาประกอบการพิจารณาทุกขั้นตอน
สำหรับเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการกำหนดให้มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการพ้นจากราชการไปใช้บังคับแก่ข้ารราชการบางประเภทซึ่งรวมถึงข้าราชการตุลาการแต่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพ้นจากราชการของข้าราชการตุลาการไว้เป็นการทั่วไป สมควรกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ทั่วไปโดยให้ข้าราชการตุลาการทุกตำแหน่งพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
'บิ๊กเจี๊ยบ' เคาะร่างสัญญาประชาคมก่อนส่งถึงมือ 'บิ๊กป้อม' 19 มิ.ย.นี้
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธานการประชุมจัดทำร่างสัญญาประชาคมครั้งสุดท้าย โดย พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า เราได้นำข้อมูลจากการประชุม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา นำมาปรับแก้เพื่อเพิ่มเติมข้อมูล ซึ่งวันนี้จะได้ข้อยุติในตัวร่างสัญญาประชาคมเสร็จสมบูรณ์และครบถ้วน ตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้ โดยในวันที่ 19 มิ.ย.เวลา 10.00 น. จะนำร่างสัญญาประชาคมเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และกระบวนการหลังจากนั้น ก็จะจัดเวทีสาธารณะ ทั้ง 4 พื้นที่กองทัพภาค