19 มิถุนายน 2560
มีชัย เผย กม. พรรคการเมืองของ สนช. กระทบพรรคการเมือง
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.) ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดการสรรหาผู้รับสมัครเลือกตั้งว่า ระบบไพรมารีโหวตจะทำให้มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ เพราะเดิมการประกาศรับสมัครผู้แทนจะกำหนดรับสมัครภายใน 7-10 วัน หลังจากประกาศวันเลือกตั้ง แต่กฎหมายใหม่ กำหนดให้ ตัวแทนพรรคที่จะลงเลือกตั้งได้ต้องทำไพรมารี่โหวตซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาพอสมควร และยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และพรรคการเมืองจะกลับมาเลือกตั้งทันหรือไม่ ถ้าหากพรรคการเมืองไม่สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ต้องให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้
20 มิถุนายน 2560
มีชัย เดินหน้าเซ็ตซีโร่ กสม.
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงการเซ็ตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เพื่อสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งชุดนั้นยึดตามหลักการปารีส โดยระบุว่า กระบวนการสรรหา กสม. ต้องมีความหลากหลาย ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม มีการกำหนดระยะเวลาในการสรรหามากกว่าเดิม และต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซึ่งทาง กรธ.ก็ได้ปรับแก้ให้เป็นไปตามแนวทางนี้ และมีการปรับอำนาจหน้าที่ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการ โดยเปลี่ยนจากต่างคนต่างทำให้เป็นการลงมติร่วมกัน ปรับลดให้มีอนุกรรมการเท่าที่จำเป็น เปลี่ยนไปเป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาทำงานแทน ซึ่ง กรธ. จะกำหนดแบบนี้กับทุกองค์กร
สปท. มีมติ 144 เสียง เห็นชอบการปฏิรูประบบงานอาสาสมัครในภาครัฐ
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงาน เรื่อง การพัฒนารูปแบบการดำเนินภารกิจภาครัฐ การปฏิรูประบบงานอาสาสมัครในภาครัฐ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียงเสียง 144 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง และงดออกเสียง 11 เสียง จากผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 166 คน สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้คือ เน้นพัฒนากลไกระบบงานอาสมัคร เช่น จัดระบบฐานข้อมูลกลางของอาสาสมัครทั่วประเทศ สร้างระบบบูรณาการการทำงานร่วมกันของอาสาสมัครในพื้นที่ พัฒนาองค์ความรู้อาสาสมัคร และสร้างระบบค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรม ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการกลางกำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ในกรมบัญชีกลาง
21 มิถุนายน 2560
สปท. ทำใจพ้นตำแหน่ง หลัง กม.ปฏิรูปผ่าน
คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงหลังจากการประชุม สปท.ว่า การทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะหมดวาระลงหลังจากร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.... มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม ตาม รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สปท. พ้นวาระหลังจากกฎหมายปฏิรูปผ่านสภา แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีสมาชิกสปท.คนใดบ้างที่่จะลาออกไปลงสมัครสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพราะกฎหมายกำหนดให้สมาชิก สปท. และสนช.ที่ต้องการลงสมัครเลือกตั้งต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว 90 วัน นอกจากนี้ยังระบุว่า สปท. ได้ทำงานในการปฏิรูปประเทศแล้ว 100 เปอร์เซนต์ ที่เหลือคือ ให้ กรธ. และให้แต่ละคณะเก็บรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่ สปท.จะส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีนำไปสานต่อ
22 มิถุนายน 2560
สนช. มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ ร่างพ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
วันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติมีการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่สำคัญคือ ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูประเทศ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกฎหมาย 218 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้เสนอความเห็นต่อรัฐสภา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลให้การปฏิรูปประเทศสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง
และในวันเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติยังได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ด้วยคะแนนเสียง 216 เสียง สาระสำคัญคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งหมด 11 ด้าน โดยแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ โดยแต่ละด้านจะมีคณะกรรมการได้ไม่เกิน 13 คน และดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี และให้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะส่งผลให้ สภาการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนด
23 มิถุนายน 2560
หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ ม. 44 ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก.
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 31/2560 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ 1) ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจในการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินกิจการด้านพลังงาน ในกรณีที่มีจำเป็น และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 2) ให้ ส.ป.ก. จัดการให้ผู้ขอสัมปทานต้องจ่ายค่าเยียวยาหรือชดเชยค่าเสียโอกาสให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยเงินที่เหลือไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 3) การพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตตามคำสั่งนี้ ไม่มีผลเป็นการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 4)ให้ผู้ที่ได้รับสัมทปานปิโตรเลียม การสำรวจแร่ การทำเหมือง อยู่ก่อนที่จะมีประกาศฉบับนี้ยื่นขออนุญาตตามข้อ 1 ภายใน 60 วัน ในระหว่างรอผลให้สามารถใช้ที่ดินดังกล่าวต่อไปได้ จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 5) สำหรับผู้ที่จะขอสัมปทานใหม่ ให้ยื่นคำขอตามข้อ 1 ภายใน 60 วัน และสามารถใช้ที่ดินดังกล่าวไปก่อนได้ แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้ที่ดินตั้งแต่ตอนเข้ามาใช้ที่ดินด้วย 6) ถ้าในกรณีที่ผู้ขอสัมปทานไม่สามารถใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 55 เนื่องจากมีคำสั่งให้ชะลอการใช้ที่ดิน ให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอำนาจพิจารณาคืนค่าสงวนพื้นที่ให้กับผู้รับสัมปทานเป็นรายกรณีไปได้
สนช. มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่าง พรบ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองในวาระที่ 2 และ 3 และผ่านร่างดังกล่าวเป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 173 คะแนน มติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งที่ประชุมได้มีการเพิ่มมาตรา 33/1 เกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งของประธานศาลปกครองสูงสุด โดยไม่ให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้กับตุลาการศาลปกครองซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดอยู่ก่อนวันที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ และให้ตุลาการศาลปกครองผู้นั้นพ้นตำแหน่งดังกล่าวเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี นับแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว