ก่อนเสนอร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อฯ ลองดูบทเรียนเพื่อนบ้านเมื่อสื่อถูกคุมเข้มด้วยระบบใบอนุญาต

ก่อนเสนอร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อฯ ลองดูบทเรียนเพื่อนบ้านเมื่อสื่อถูกคุมเข้มด้วยระบบใบอนุญาต

เมื่อ 30 มิ.ย. 2560
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
FULL Article • Looking at Our Neighbours’ Oppressive Licensing Regimes851.18 KB
 
ต้นเรื่องจาก Jayshendra Karunakaren,
Proposed Media Licensing laws Looking at Our Neighbours’
Oppressive Licensing Regimes
แปล เรียบเรียงและนำเสนอโดย iLaw
 
 
ถ้าหาก ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... หรือ ร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อฯ ผ่านการพิจารณา นักข่าวทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องมีใบอนุญาต มาตรฐานกลางว่าด้วยจริยธรรมจะถูกเขียนขึ้น สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติก็จะถูกตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรอำนาจสั่งลงโทษสื่อมวลชนที่ฝ่าฝืน “มาตรฐานทางจริยธรรม” ร่างกฎหมายนี้ถูกจัดทำและเสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารทั้งหมด
 
ขณะที่ฟากฝั่งผู้ร่างกฎหมายได้พยายามบอกว่า ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาการรายงานข่าวเท็จ จะทำให้สื่อทำงานอย่างมีมาตรฐาน องค์กรวิชาชีพสื่อกว่า 30 แห่ง เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์, สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ก็รวมตัวกันคัดค้านว่า ข้อกำหนดเช่นนี้จะทำให้การทำงานของนักข่าวต้องถูกตรวจสอบและเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นช่องทางการแทรกแซงสื่อมวลชนโดยตรงในฐานะที่เป็นฐานันดรที่สี่ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
 
ตามร่างกฎหมายนี้ คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน จำนวน 15 คนจะถูกตั้งขึ้น โดย 4 คนเป็นตัวแทนมาจากภาครัฐ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น กรรมการชุดนี้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานจริยธรรมให้กับสื่อมวลชน และมีอำนาจสั่งปรับ หรือยึดใบอนุญาตการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือกิจการวิทยุโทรทัศน์ได้ หากเห็นว่า ฝ่าฝืนจริยธรรม นอกจากนี้หากนักข่าวหรือสำนักข่าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
หลังจากร่างกฎหมายถูกเสนอขึ้น สปท. ก็ยังแก้ไขอีกอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ หนึ่ง นักข่าวต้องมีใบรับรองจากบริษัทหรือสำนักข่าวของตัวเองก็เพียงพอ ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล สอง ตัวแทนจากภาครัฐจะนั่งอยู่ในคณะกรรมการเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกเท่านั้น แล้วร่างกฎหมายนี้ก็ได้รับการรับรองจาก สปท. ด้วยคะแนนเสียง 141 ต่อ 13 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง
 
 
 
 
แนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้น ดูตัวอย่างได้จากประเทศเพื่อนบ้าน
 
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เคยกล่าวไว้ว่า สปท.ดูตัวอย่างจากสื่อของเวียดนาม มาเลเซียด้วย เท่าที่ศึกษาพบว่า สื่อมวลชนสิงคโปร์ถูกควบคุมใน 3-4 เรื่องคือ การห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น การห้ามสร้างความแตกแยก การห้ามทำลายเสถียรภาพรัฐให้สั่นคลอน ทำให้ประเทศสิงคโปร์มีเสถียรภาพ เราจึงลอกในส่วนดีของเขามาใช้
 
บทความนี้จึงจะนำเสนอข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่งว่า กฎหมายจดทะเบียนสื่อของมาเลเซีย และสิงคโปร์ ถูกระบบเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือควบคุมสื่อมวลชนอย่างไรบ้าง เพื่อจะให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ร่างพ.ร.บ.จะทะเบียนสื่อฯ ของไทยก็อาจถูกใช้ในทางที่ผิดได้อย่างไร
 
มาเลเซีย: สื่อโดนคุกคามอยู่ตลอด
 
กฎหมายที่มาเลเซียใช้เป็นหลักเพื่อบังคับจดทะเบียนสื่อชื่อว่า พ.ร.บ.การพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ ปี 2527 (Printing Presses and Publications Act หรือ PPPA of 1984) มาตรา 2 และ 3 ของ PPPA กำหนดว่า สำนักพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศต้องขออนุญาตต่อกระทรวงกิจการภายใน (Home Affairs Ministry) เพื่อที่จะพิมพ์ นำเข้า หรือแจกจ่าย หนังสือพิมพ์ และยังต้องขออนุญาตครอบครองแท่นพิมพ์ด้วย และรัฐมนตรีกิจการภายในก็มีอำนาจอย่างเต็มที่ ที่จะออกคำสั่งอนุญาตหรือไม่ก็ได้ การพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นอาจถูกลงโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี และมีโทษปรับด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียเคยทั้งระงับและเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อกดดันนักข่าวให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยการเลิกวิจารณ์รัฐบาล
 
ระบบการบังคับจดทะเบียน ถูกแก้ไขในปีค.ศ. 2012 เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกการบังคับให้สื่อมวลชนต้องต่อใบอนุญาตแบบรายปี และยังมีการแก้ไขให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตของรัฐมนตรีได้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขครั้งนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนว่า คำสั่งของรัฐมนตรีแบบใดบ้างที่จะถูกตรวจสอบได้
 
ระบบการจดทะเบียนสื่อของมาเลเซียเป็นรากฐานที่สำคัญของการควบคุมสื่อโดยรัฐบาล ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รัฐบาลนำกฎหมายนี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่จะปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ตัวอย่าง กรณีที่มีชื่อเสียง คือ การปฏิเสธคำขอจดทะเบียนของ มินิดอทคอม (Mini Dotcom) ในปี 2545 และ 2553 ที่จะขอผลิตสื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดเจน 
 
มาเลเซียเป็นประเทศที่ปกครองแบบเบ็ดเสร็จยาวนานโดยรัฐบาลพรรคเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาลพรรคอัมโน (UMNO) มินิดอทคอม ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักข่าวออนไลน์มาเลเซียกินี (Malaysiakini) เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะสื่อที่รายงานข่าวสวนทางกับรัฐบาล ตำรวจเคยบุกค้นสำนักข่าวแห่งนี้หลายครั้ง โดยส่วนใหญ่มาจากการสั่งการของรัฐบาลพรรคอัมโน นอกจากนี้สำนักข่าวยังเคยถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทนักการเมืองอีกหลายคน
 
เมื่อมินิดอทคอม โต้แย้งคำสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนไปยังชั้นศาล ศาลตัดสินว่า รัฐมีอำนาจไม่ออกใบอนุญาตให้กับสื่อมวลชนก็ได้ เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี นอกจากศาลจะอาศัยเหตุผลนี้ยืนยันการปฏิเสธใบอนุญาตแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงภายในยังอ้างต่อศาลว่า สำนักข่าวมาเลเซียกินีนั้น “ไม่เป็นกลาง” และ “มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง” 
 
ซูนาร์ นักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมืองที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เคยถูกรัฐบาลจับกุมและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นหลายครั้ง ซูนาร์เล่าว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายการจดทะเบียนสื่อข่มขู่สำนักพิมพ์ทั้งสามแห่งที่ตีพิมพ์หนังสือของเขาว่าจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต
 
อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ กรณีในเดือนสิงหาคม 2556 ที่ตอนแรกรัฐบาลออกใบอนุญาตให้กับ เอดจ์คอมมิวนิเคชั่น (Edge Communications) เจ้าของสื่อออนไลน์ เอฟซีเดลี่ (FZ Daily) สำหรับการผลิตสื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์ แต่ว่าหนึ่งสัปดาห์ต่อมากลับหน่วงใบอนุญาตเอาไว้ และไม่มีคำสั่งอะไรออกมา เอดจ์คอมมิวนิเคชั่นจึงโต้แย้งไปที่ศาล ศาลรับฟ้องและสั่งว่าการหน่วงใบอนุญาตไว้นั้นไม่ถูกต้อง ต่อมากระทรวงกิจการภายในจึงมีคำสั่งปฏิเสธใบอนุญาต โดย ดาตุก เสรี อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน ให้เหตุผลการปฏิเสธใบอนุญาตของเอดจ์คอมมิวนิเคชั่น และมินิดอทคอมว่า สื่ออิสระทั้งสองแห่งจะรายงานข่าวที่ “อ่อนไหวและมีความขัดแย้ง” 
 
อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อในเครือเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในขู่ที่จะเพิกถอนใบอนุญาตของหนังสือพิมพ์ เอดจ์วีคลี่ (The Edge Weekly) และเอดจ์ไฟแนนเชี่ยลเดลี่  (The Edge Financial Daily) เพื่อตอบโต้ที่หนังสือพิมพ์เผยแพร่รายงานกล่าวหาว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐ ชื่อ วันมาเลเซีย เดเวลลอปเม้นต์ เบอร์ฮาด (1 Malaysia Development Berhad หรือ 1MDB) รัฐบาลส่งคำขู่ถึงเครือเอดจ์ว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตหากไม่ระงับการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ คือ รัฐมนตรีได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับเป็นเวลาสามเดือน
 
คำสั่งของรัฐบาลครั้งนี้ อ้างอิงเหตุผลสามประการ
          (1) พาดหัวข่าวและรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ทั้งสองแห่ง “ชวนให้เกิดคำถามและสร้างความรับรู้ของสาธารณชนในทางลบต่อกองทุน และพาดพิงรัฐบาลและผู้นำของชาติ”
          (2) รายงานที่เผยแพร่ไปนั้น อาศัย “ข้อมูลที่น่าสงสัยและยังไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนตื่นตกใจ และอาจส่งผลเสียต่อความสงบเรียบร้อยและผลประโยชน์ของชาติ”
          (3) ประเด็นการทุจจริตในกองทุน 1MDB ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน จึง “ไม่เหมาะสมที่จะรายงานข่าวให้เกิดความรับรู้ในทางลบ” 
 
การให้เหตุผลมาเช่นนี้ เป็นไปตามถ้อยคำที่เขียนไว้ในมาตรา 7(1) ของ PPPA ซึ่งให้อำนาจกับกระทรวงกิจการภายในที่จะสั่งห้ามเผยแพร่สื่อใดๆ ที่ “ก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี ความมั่นคง หรือน่าจะทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก หรือน่าจะขัดแย้งต่อกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความเสียหายหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ของชาติ”
 
โฮ เค ทัท ผู้จัดพิมพ์สื่อในเครือเอดจ์ กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เขาไม่เข้าใจว่า รายงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวนที่สื่อมวลชนจัดทำขึ้นเพื่อเปิดโปงการทุจริตขนาดใหญ่ในภาครัฐ จะถูกมองว่าเป็นการรบกวนความสงบเรียบร้องได้อย่างไร เขายังมองว่า การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลถือเป็นการเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น
 
 
สิงคโปร์ : เต็มไปด้วยการควบคุมโดยระบบราชการ
 
ไม่ต่างกันนักกับมาเลเซีย สิงคโปร์มีพ.ร.บ.หนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิม์ พ.ศ.2517 (Newspaper and Printing Presses Act หรือ NPPA 1974) ซึ่งกำหนดให้หนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกๆ ปี และก็ให้อำนาจกับรัฐบาลที่จะสั่งห้ามการแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่พิจารณาแล้วเห็นว่า แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้สิ่งพิมพ์จากต่างประเทศที่พิมพ์มากกว่า 300 ฉบับต่อเล่มขึ้นไป และรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง หรือเหตุการณ์ปัจจุบันในอาเซียน ต้องจดทะเบียน และวางเงินประกัน 200,000 ดอลล่าห์สิงคโปร์ หรือประมาณ 144,000 ดอลล่าห์สหรัฐ และเปิดเผยตัวแทนทางกฎหมายที่อยู่ในสิงคโปร์ด้วย
 
ระบอบการบังคับจดทะเบียนสื่อของสิงคโปร์ยังมีชื่อเสียงในการควบคุมสื่อบนอินเทอร์เน็ตด้วย พ.ร.บ.การกระจายเสียง และพ.ร.บ.การจดทะเบียนสื่อออนไลน์ (Broadcasting Act, the Online News Licensing Scheme หรือ ONLS) กำหนดให้ สื่อที่รายงานบนอินเทอร์เน็ตต้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาล กติกานี้บังคับใช้กับสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาเฉลี่ยอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งชิ้นเป็นเวลาติดต่อกันนานกว่าสองเดือน ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราวในประเทศ และมีคนเข้าชมเว็บไซต์อย่างน้อยเดือนละ 50,000 ครั้งติดต่อกันสองเดือน จากผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์ 
 
เว็บไซต์ที่จดทะเบียนจะต้องวางเงินประกัน 50,000 ดอลล่าห์สิงคโปร์ หรือประมาณ 36,000 ดอลล่าห์สหรัฐ และยังต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเพิ่มเติมอีกว่า ต้องลบเนื้อหาที่ต้องห้ามภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานข้อมูลการสื่อสาร และการพัฒนาสื่อ (Info-Communications Media Development Authority หรือ IMDA) รัฐบาลยังกำหนดให้สื่อทั้งหลายต้องเปิดเผยว่าไม่ได้รับเงินมาจากกองทุนต่างประเทศ 
 
กฎระเบียบการจดทะเบียนที่เคร่งครัดเช่นนี้ นำไปสู่การปิดเว็บไซต์ เครือข่ายข่าวเช้าอิสระ (independent Breakfast Network news) หรือ กรณีหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ การที่ IMDA ระงับใบอนุญาตประกอบกิจการของสำนักข่าว เดอะเรียลสิงคโปร์ (The Real Singapore)  และยังตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นต่อบรรณาธิการร่วม 7 กระทง จากการเผยแพร่ข่าว ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า “มีแนวโน้มจะสนับสนุนความรู้สึกรังเกียจและความแตกแยกระหว่างประชาชนหลากหลายกลุ่มในสิงคโปร์” รายงานข่าวที่เป็นปัญหา เช่น ข่าวที่อ้างคำสัมภาษณ์ของส.ส.ต่อปัญหาหมอกควัน และถูกส.ส.กล่าวหาว่า อ้างคำพูดผิด หรือการรายงานข่าวที่ วัยรุ่นชาวสิงคโปร์ปลูกกัญชาในบ้าน แต่พาดหัวข่าวผิดเป็นวัยรุ่นชาวอินเดีย