NLA Weekly (24-30 มิ.ย. 60): ร่าง กม.เซ็ตซีโร่ กสม. ผ่านวาระแรกแล้ว สนช.บางส่วนยังติดใจ ทำไมเลือกเซ็ตซีโร่แค่บางองค์กร

NLA Weekly (24-30 มิ.ย. 60): ร่าง กม.เซ็ตซีโร่ กสม. ผ่านวาระแรกแล้ว สนช.บางส่วนยังติดใจ ทำไมเลือกเซ็ตซีโร่แค่บางองค์กร

เมื่อ 2 ก.ค. 2560
สัปดาห์นี้หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 สั่งให้สามารถนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะอื่นได้ นอกจากเกษตรกรรม ด้านสนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานวาระสาม เห็นควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย และผ่านร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วาระแรกแล้ว
 
24 มิถุนายน 2560
 
หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ประกาศให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ทำอย่างอื่นได้ นอกจากเกษตรกรรม
 
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ  มีเนื้อหาว่า กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ด้านพลังงานหรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีอำนาจพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และให้มีการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
 
ที่มา: ประชาไท 
 
26 มิถุนายน 2560
 
แอมเนสตี้-ICJ เรียกร้องทางการไทยผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ตามสัญญา
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ออกแถลงการณ์ร่วม แสดงความยินดีที่ไทยให้คำมั่นสัญญาในเวทีนานาชาติว่าจะป้องกันและปราบปรามการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศ เนื่องใน "วันต่อต้านการทรมานสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี และในโอกาสใกล้ครบรอบ 10 ปีที่ไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ 
 
แอมเนสตี้พร้อมกับ ICJ ได้เรียกร้องให้ทางการไทยผ่าน พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย สอบสวนการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระ โปร่งใส และเป็นกลาง นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในศาลพลเรือน ตลอดจนกำหนดกลไกป้องกันการทรมานระดับประเทศ และอนุญาตให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานระหว่างประเทศเข้าตรวจเยี่ยมด้วย
 
ที่มา: ประชาไท 
 
กป.อพช.ภาคเหนือ ร้องรัฐหยุดแก้ กม.หลักประกันสุขภาพ
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือตอนบน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยุติกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติกระบวนการแก้กฎหมายฉบับนี้ แล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ยุติการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามตรวจสอบประชาชนทุกรูปแบบ แล้วเปิดเวทีรับฟังความเห็นก่อนการเริ่มต้นแก้กฎหมายโดยเฉพาะการมีความเห็นร่วมกันในเรื่องหลักการของกฎหมายก่อน และการเปิดกว้างให้รับรู้กระบวนการขั้นตอนต่างๆ อย่างโปร่งใสต่อไป
 
ที่มา: ประชาไท 
 
28 มิถุนายน 2560
 
ประธาน กรธ. ยัน กสม.ชุดเดิม เข้ารับการสรรหาใหม่ไม่ได้
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ชุดเดิมที่ถูกเซตซีโร่  ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้   ซึ่งตามมาตรา 60 ในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม. กำหนดให้กรรมการชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่เท่านั้น   ดังนั้น  ที่มีการเข้าใจกันว่าสามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน   และขอย้ำว่า กรธ. ไม่เคยใช้สองมาตรฐาน แต่ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกองค์กร ซึ่งหากหน่วยงานหรือองค์กรอิสระใด มีความสงสัย ก็มีสิทธิยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ 
 
 
29 มิถุนายน 2560
 
สนช.ผ่านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำกลุ่มนักเรียน คนพิการ ผู้สูงอายุ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ให้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ .. )พ.ศ. ....  ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง  เห็นด้วย 208 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี  งดออกเสียง 3 เสียง ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับนักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ  โดยค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด 2. นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่ให้ประกาศไว้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป  โดยต้องเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือเพิ่มเติมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้    
 
3. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ และการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ  โดยในร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้การเกษียณอายุ หมายถึง การเลิกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย ภายใน 30 วัน หลังลูกจ้างใช้สิทธิ และมีบทลงโทษหากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย     และ 4. การกำหนดเวลาเกษียณอายุตามร่างกฎหมายฉบับนี้  กำหนดให้เป็นไปตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ แต่ถ้าหากไม่มีการระบุอายุเกษียณไว้ในสัญญาจ้างงาน ก็ให้ใช้เกณฑ์อายุครบเกษียณที่อายุ 60 ปี  ซึ่งเท่ากับว่า ในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยแล้ว นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงทำสัญญาจ้างใหม่ โดยแตกต่างไปจากสัญญาเดิมก็ได้  
 
 
 
15 เครือข่ายภาคประชาสังคม เรียกร้องให้รัฐรับฟังความเห็นรอบด้านก่อนออกกฎหมาย เกรงขัดม.77
 
เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 15 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบของกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็นไว้แค่ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ อย่างน้อย 15 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับฟังประชาชนที่ต่ำมาก ทำให้การรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นแค่เพียงพิธีกรรม ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ
 
ทางเครือข่ายมีข้อเสนอสองแนวทางคือ ในระยะสั้น ให้ชะลอร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และนำมารับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านเสียก่อน ส่วนร่างกฎหมายใหม่ในทุกลำดับชั้น รวมทั้งคำสั่งตามม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หากไม่เช่นนั้น ภาคประชาชนอาจจะหาช่องใช้สิทธิทางศาลคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้
 
ในระยะยาว ขอให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกฎหมาย ที่กำลังดำเนินการยกร่างกันอยู่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหา และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างและแสดงความคิดเห็น
 
ที่มา: ประชาไท
 
30 มิถุนายน 2560
 
สนช.ผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ วาระแรก
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วาระแรก โดย สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง  โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำทีม กรธ. ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การที่กำหนดให้เซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันนั้น เป็นเพราะ กสม.มีปัญหา ที่ถูกลดเกรดจากการประเมินผล ด้วยเหตุผลที่ว่า กระบวนการสรรหาที่ผ่านมาไม่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และไม่เป็นไปตามกติกาปารีส
 
ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้บัญญัติให้คณะกรรมการสรรหา กสม. มีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขและ ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นกรรมการ ร่วมกับประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีความหลากหลาย ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ ยังติดใจประเด็นการเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบัน ว่าเหตุใดจึงเลือกเซ็ตซีโร่เฉพาะบางองค์กร
 
ที่มา: ประชาไท