สัปดาห์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ คือ เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และมีมติอนุมัติพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นพ.ร.บ. ขณะที่ในสัปดาห์หน้า สนช.จะมีการพิจารณากฎหมายอย่างน้อย 1 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วาระที่สองและสาม ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560
3 กรกฎาคม 2560
สปท.มีมติ 144 เสียง เห็นชอบรายงานปฏิรูปการใช้สื่อโซเซียลมีเดีย
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ด้วยคะแนนเสียง144 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงและงดออกเสียง 2 เสียง
สำหรับรายงานฉบับนี้ กมธ.ได้มีการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและนโยบายเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลังสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด
แต่ปัจจุบันกลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ กอปรกับขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจและสถาบันหลักของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในปี 2562 และในระยะยาวซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์อย่างมีคุณภาพ มีจริยธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
4 กรกฎาคม 2560
ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ออกคำสั่งชะลอลงโทษตาม พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้ปรับตัว
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบการออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ชะลอการลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรจะไม่ให้เสียผลประโยชน์อย่างอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจภายในประเทศ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในอาชีพบางประเภท แต่ไม่ใช่ยอมทำตามใคร และที่สำคัญต้องดูเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นพันธสัญญาโลก ต่อไปถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานเถื่อนในประเทศได้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น ทำให้ต่างประเทศไม่ซื้อสินค้าของประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขภายในให้ได้เพื่อตอบสนองโจทก์ สำหรับ มาตราที่มีการยกเว้น เกี่ยวข้องกับการเอาผิดนายจ้างและลูกจ้าง ที่ทำผิดกฎหมาย และยังเป็นการแก้ปัญหาด้านแรงงานในช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงาน มีเวลาในการปรับตัว และดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้อง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศ
งัดม.44 ขยายอีก60วัน ให้ปชช.แจ้งรุกล้ำลำน้ำ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายระยะเวลาให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่รุกล้ำน่านน้ำไทย แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการกีดขวางการเดินเรือ ฯลฯ หรือมีการปักหลักสำหรับทำประมง ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยกับทางกรมเจ้าท่าออกไปอีก 60 วัน และให้เวลาเจ้าหน้าใช้เวลาอีกไม่เกิน 180 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยผู้ที่มาแจ้งในระยะเวลาดังกล่าว จะไม่มีโทษทางอาญาและไม่ต้องเสียค่าปรับ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า หากเป็นการุกล้ำน่านน้ำก่อนปี 2515 ในเขต กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ จะต้องแจ้งขออนุญาตเพื่อขึ้นทะเบียน ส่วนหลังปี 2515 ถึงปี 2537 จะมีการพิจารณาว่าจะให้อยู่ต่อหรือต้องรื้อถอด โดยจะพิจารณาตามเกณฑ์ 1.สิ่งรุกล้ำต้องไม่เป็นอันตรายในการเดินเรือ หรือกระทบสิ่งแวดล้อม 2.การรุกล้ำให้กระทำเท่าที่จำเป็น 3.ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารและผังเมือง ทั้งนี้หลังปี 2560 จะไม่อนุญาตให้มีส่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำยกเว้นประโยชน์ต่อราชการและสาธารณะเท่านั้น
กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย กกต. มีมติเสียงข้างมากยืนตามร่างตามที่ สนช. ให้ความเห็นชอบ
สมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยผลการประชุมนัดแรกว่า กรรมาธิการซึ่งประกอบด้วย ประธาน กกต. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง 6 ประเด็น ที่ กกต. เสนอความเห็นเข้ามายัง สนช. ว่าร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ที่ผ่านวาระ 3 ของ สนช. ไปแล้วนั้น ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการพิจารณาและลงมติทีละประเด็น ประกอบด้วยการกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา กกต., คุณสมบัติของ กกต., อำนาจหน้าที่ที่ให้ กกต. แต่ละคน สามารถระงับยับยั้งเมื่อพบเหตุในการเลือกตั้ง, อำนาจในการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น, การให้พนักงาน กกต.มีอำนาจสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดี, รวมไปถึงบทเฉพาะกาล ที่ให้เซตซีโร่ กกต. นั้น กรรมาธิการเสียงข้างมาก มีมติเห็นว่า ทุกประเด็นเป็นไปตามเจตนารมณ์ และไม่มีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงยืนตามร่างที่สนช.ให้ความเห็นชอบในวาระสาม พร้อมระบุว่า ไม่กังวลร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกคว่ำ เนื่องจากต้องใช้เสียง สนช. มากถึงสองในสาม และ ย้ำ สนช. ไม่มีการยื้อเวลาเลือกตั้ง
รบ.ตั้ง 'พล.อ.บุญสร้าง' นั่งประธาน กก.ปฏิรูปตำรวจ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมกับได้ให้แนวทางการทำงานไปแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ระดับจังหวัดด้วยจะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการเพื่อทำงานร่วมกัน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีความสุข แต่สายการบังคับบัญชายังขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนำทหารมาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะมีปัญหาในแง่ภาพลักษณ์หรือไม่ ว่า แล้วแต่คนจะมอง แต่รัฐบาลไม่ได้มองแบบนั้น เพราะ พล.อ.บุญสร้าง เป็นนายทหารสายวิชาการ จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยเวสต์ พ้อยต์ ของสหรัฐอเมริกา เก่งเรื่องโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง สอดคล้องกับงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี 3 ด้าน คือ 1. โครงสร้าง สังกัด อำนาจหน้าที่ 2. อำนาจการสอบสวนจะแยกหรือไม่ และ 3.การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ให้มีการซื้อขาย ตำแหน่ง โดยกรรมการแต่ละคนเชี่ยวชาญแต่ละด้าน
สปท.มีมติ 143 เสียง เห็นชอบจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์ด้านกิจการอวกาศของประเทศ
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง การปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการอวกาศและการให้บริการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย ด้วยคะแนนเสียง 143 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง
สำหรับการดำเนินเพื่อพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารไทย กมธ.ได้เสนอให้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสาร เพื่อให้มีความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอำนวยการและหน่วยงานกำกับดูแล อาทิ กำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กำกับดูแลประสานงานคลื่นความถี่ หรือปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านอำนวยการต่างๆ ตามขั้นตอนของการได้มาซึ่งความถี่ในวงโคจรดาวเทียม และพิจารณาจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยดาวเทียมสื่อสารและการดำเนินกิจการในอวกาศที่เหมาะสม
พร้อมทั้งทบทวนประมวลกฎหมายด้านการสื่อสาร เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารให้เกิดการบูรณาการกฎหมายอย่างเป็นระบบ รวมถึงช่วยลดข้อจำกัดทางกฎหมายอันเป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแลในอนาคต นอกจากนี้ยังเห็นควรให้มีหน่วยงานในการดูแลกิจการอวกาศของชาติโดยเฉพาะ ด้วยการจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านกิจการอวกาศของประเทศในภาพรวม ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอวกาศ รวมถึงการปฏิบัติพันธกรณีทางกฎหมายต่างๆ อาทิ อนุสัญญากฎหมายอวกาศ ค.ศ.1967 และอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ค.ศ.1972 เพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนของอำนาจหน้าที่กับหน่วยงานอำนวยการของประเทศไทย
5 กรกฎาคม 2560
กรธ. ส่งความเห็นแย้งถึง สนช. ประเด็นไพรมารีโหวต ย้ำ เห็นด้วยในหลักการ แต่หวั่นเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ. ส่งความเห็นแย้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ทบทวนและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ สนช. เห็นชอบแล้ว เนื่องจาก กรธ. เห็นด้วยในหลักการไพรมารีโหวต แต่มองว่ามีกลไกบางประเด็นที่อาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนเวลาหากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการสรรหาผู้ลงสมัครเลือกตั้งได้ทัน อาจทำให้พรรคการเมืองถูกตัดสิทธิ์
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งจะมาจาก 3 ฝ่าย สามารถทบทวนและช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมหากเกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ตนไม่เห็นด้วย กรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกผู้ลงสมัครตามระบบไพรมารีโหวต เพราะจะทำให้ กกต.เข้าไปมีบทบาทกับกิจการภายในของพรรคการเมือง สำหรับกรณีที่ กกต. เตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วมีมติยืนตามร่างที่ สนช. ให้ความเห็นชอบด้วยว่า ตนเห็นว่าตามกระบวนการต้องส่งผ่าน สนช. ให้เป็นผู้ยื่นเรื่องดังกล่าว แต่หากประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว กกต. จึงจะสามารถยื่นเรื่องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้
ปธ. สนช. ขออนุกรรมการฯ กกต. เร่งสอบกรณี สนช. 90 คน ถือครองหุ้น ชี้ ไม่ขัดกฎหมายหากถือครองหรือขายก่อนเข้ารับตำแหน่ง
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงหลัง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบ สนช. 90 คน ถือครองหุ้น ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 มาตรา 187 และมาตรา 170 อาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 ว่ากรณีการถือหุ้นสัมปทาน ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำพิพากษาแล้วว่า หากมีการถือหุ้นก่อนเข้ารับตำแหน่ง หรือขายไปก่อน ย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่หากได้มาหลังการเข้ารับตำแหน่งย่อมเข้าข่ายความผิด ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ทราบว่า สนช. 90 คน มีการถือครองหุ้นมาตั้งแต่เมื่อใด จึงขอให้ กกต.เร่งรัดการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และเพื่อนำคนผิดมาลงโทษให้ได้
6 กรกฎาคม 2560
สนช.มีมติ 177 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ด้วยคะแนน เห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
โดย พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551และ พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศได้
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้คำนึกถึงการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของภายในและต่างประเทศ
สปท. เผย 31 ก.ค. นี้ พร้อมส่งมอบงานปฏิรูปแก่แม่น้ำ 5 สาย ที่รัฐสภา
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สปท. เปิดเผยถึงการประชุมในสัปดาห์หน้าว่า ในวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม นี้ จะมีการพิจารณารายงานด้านพลังงาน 2 เรื่อง ได้แก่ รายงานเรื่อง การส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน และรายงานเรื่อง การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยภาคอุตสาหกรรมและกิจการพลังงาน
อย่างไรก็ตาม สปท. จะมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 23 ก.ค. นี้ ซึ่งปัจจุบันเหลือสมาชิก สปท. 174 คน หลังลาออกไป 25 คน และถึงแก่อนิจกรรม 1 คน นอกจากนี้ คำนูณ ยังได้เปิดเผยถึงการส่งมอบงานปฏิรูป ก่อน สปท. หมดวาระว่า ในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้ เวลา 10.00 น. จะมีการส่งมอบงานในความรับผิดชอบของ สปท. ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุมรัฐสภา โดยมีสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 900 คน
7 กรกฎาคม 2560
สนช.มีมติ 184 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารออมสินฯ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 184 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน ปี 2489 ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น ด้วยการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิ่มทุนของธนาคารออมสิน และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารออมสิน โดยในร่างกฎหมายธนาคารออมสินฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ กำหนดให้ธนาคารออมสินอาจเพิ่มทุนได้ด้วยการได้รับการจัดสรรจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือจากแหล่งอื่นโดยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และกำหนดให้คณะกรรมการธนาคารออมสินมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณของธนาคารออมสิน การประกาศงบแสดงฐานะการเงิน รายงานประจำปี รายงานประจำปีว่าด้วยธุรกิจที่ธนาคารได้จัดทำในระหว่างปี จำนวนผู้ฝาก จำนวนเงินฝาก จำนวนเงินดอกเบี้ยที่จ่าย ผลประโยชน์ที่จากเงินทุนและอื่น ๆ ตลอดจนฐานะการเงินโดยย่อของธนาคารประจำไตรมาส ซึ่งการปรับแก้ไขหลายอย่างจะทำให้การบริหารจัดการของธนาคารออมสินเท่าทันกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเป็นไป และดำเนินการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มติ สนช.199 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมฯ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 199 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ปี 2534 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจกระทำกิจการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมให้สามารถโอนสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการค้ำประกันสินเชื่อภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อมแก่บุคคลอื่น และมีอำนาจลงทุนหรือถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติบบทบัญญัติเกี่ยวกับกรรมการในคณะกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมและอำนาจในการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อแก่ภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อมเพิ่มขึ้น
สนช.มีมติอนุมัติพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติอนุมัติพระราชกำหนดการประมง ด้วยคะแนนเห็นด้วย 200 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง โดย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลักจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 บังคับใช้พบว่า มีข้อขัดข้องเกิดขึ้นกับพนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชน จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในหลายประเด็นให้ทันกับสภาพปัญหาปัจจุบัน อาทิ ปรับปรุงบทนิยามคำว่า "ประมงพาณิชย์" "เรือประมง" หลักเกณฑ์การทำประมงพื้นบ้าน ผ่อนผันเครื่องมือทำประมง โดยขั้นตอนการแก้ไขได้รับฟังความเห็นผ่านคณะทำงานศึกษาและแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และคณะทำงานศึกษาและแก้ไขกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวกับการทำประมงพื้นบ้าน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ และการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.นี้เป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นการ แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ทำประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และผู้ประกอบกิจการต่อเนื่องกับการทำประมง