NLA Weekly (8-14 ก.ค. 60): กฎหมายลูก กกต. ผ่านฉลุย สนช. ไม่ฟังเสียงค้าน ด้าน กกต. หาช่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

NLA Weekly (8-14 ก.ค. 60): กฎหมายลูก กกต. ผ่านฉลุย สนช. ไม่ฟังเสียงค้าน ด้าน กกต. หาช่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อ 16 ก.ค. 2560
ความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์นี้ ประเด็นหลักอยู่ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก ได้แก่ กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลัง กกต. ส่งเสียงค้านตั้งกรรมการร่วม แต่ทว่า สนช. ก็ยังโหวตเห็นชอบเหมือนเดิมโดยมิได้แก้ไขตามประเด็นที่ กกต. ทวงติง ในขณะเดียวกัน สนช. ก็เพิ่งจะผ่านกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไป ทั้งนี้ ยังมีกฎหมายลูกอีกหลายฉบับกำลังทยอยออกมา อาทิ กฎหมายลูกว่าด้วยผู้ตรวจการ หรือกฎหมายพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการหาข้อสรุปเรื่อง 'ไพรมารีโหวต'
 
8 กรกฎาคม
 
กรธ.ติดดาบผู้ตรวจฯฟ้องครม. หากขรก.เมิน "หน้าที่ของรัฐ" 
 
เธียรชัย ณ นคร คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ของสนช. กล่าวว่า ภาพรวมการพิจารณามีผู้เห็นต่างบางประเด็น โดยกมธ.ใช้วิธีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน เนื้อหาส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของผู้ตรวจฯเล็กน้อย เรื่องใหม่ที่เป็นหลักใหญ่ คือ การให้ผู้ตรวจฯ มีภารกิจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ติดตามแต่ละส่วนราชการให้ดำเนินการ หากพบหน่วยงานใดฝ่าฝืน ให้ผู้ตรวจฯแจ้งต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที ขณะนี้ กมธ.พิจารณาถึงในส่วนบทเฉพาะกาล มีผู้แปรญัตติให้ผู้ตรวจฯ 2 คน อยู่ทำหน้าที่ต่อไป แต่ทั้งนี้ คงต้องยึดไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ที่จะต้องหาผู้ตรวจฯเพิ่มอีก 1 คน และพิจารณาคุณสมบัติของ 2 คนที่เหลือว่า ถูกต้องหรือไม่ เป็นไปตามที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ระบุว่า คุณสมบัติขององค์กรอิสระ คือเรื่องสำคัญ เนื่องจากภารกิจมีความแตกต่างไปจากเดิม
 
 
9 กรกฎาคม
 
'อุดม' มั่นใจถก กมธ.ร่วม 'ไพรมารีฯ' ผ่านฉลุย เชื่อ สนช.ไม่มีเหตุคว่ำ 
 
อุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการตั้ง คณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.)ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ประเด็นไพรมารีโหวตว่า หลังจาก กรธ.ได้เชิญ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างฉบับนี้ เพื่อชี้แจงเบื้องต้น โดย พล.อ.สมเจตน์ เห็นด้วยกับรายละเอียดและประเด็นที่ กรธ. จะเขียนเพิ่มในกลุ่มมาตราว่าด้วยการทำไพรมารีโหวต 5 มาตรา และในบทเฉพาะกาล 1 มาตรา โดยยังคงหลักการของระบบไพรมารีโหวตไว้
 
สำหรับประเด็นที่แก้ไขและปรับปรุง อาทิ กรณีข้อพิพาทหรือมีข้อร้องเรียนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบไพรมารีโหวตของพรรค ทั้งนี้ระบบไพรมารีโหวตกรธ.กำหนดให้เป็นเรื่องเฉพาะภายในพรรคการเมืองเท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ขยายไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความวุ่นวายทั้งประเทศ และเพื่อไม่ให้ กกต.มีอำนาจแจกใบเหลืองใบแดงกระบวนการภายในพรรคได้แต่หน้าที่ของ กกต.ต่อเรื่องนี้คือ การกวดขันว่าพรรคการเมืองดำเนินการตามนี้แล้วหรือไม่ และหลังจากทำรายละเอียดเสร็จ กรธ.จะเสนอให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณา
 
 
12 กรกฎาคม
 
กสม. ยัน รธน.60 ตอกตะปูปิดฝาโลง 'กสม.ปัจจุบัน' ลงสมัครใหม่ไม่ได้
 
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะให้ กสม.ชุดปัจจุบันลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ใหม่ได้ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พ.ร.ป.กสม.) ว่า ตนยืนยันว่า กสม.ชุดปัจจุบันไม่สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ใหม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 สถานะ กสม. เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากวันที่ 6 เม.ย. 60 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ กสม. มีสถานะเป็น 1 ใน 5 องค์กรอิสระ ซึ่งมีบทบัญญัติห้าม กสม. ไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระอื่น และเหตุผลอีกข้อหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ต่างบัญญัติให้ กสม.ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ถือได้ว่าเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงในการสมัครใหม่
 
"การที่ กสม.ลงสมัครใหม่ไม่ได้ ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่อาจจะเขียนไว้ในกฎหมายลูกให้สมัครใหม่ได้ ข่าวที่ว่าให้สมัครใหม่ได้ เป็นเพียงความเห็นในการตีความกฎหมายเท่านั้น โดยมีข่าวในทำนองนี้มาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีการประโคมข่าวประเด็นนี้ในระยะนี้หนาหูขึ้นไม่ทราบว่าจะมีเจตนาหลอกล่อให้ความหวังในการสมัครใหม่ เพื่อลดกระแสคัดค้านเรื่องเซตซีโร่หรือไม่ แต่ไม่ว่าผลของกฎหมายลูกจะเป็นอย่างไร ผมในฐานะส่วนตัวไม่ขอสมัครใหม่แน่นอน"นายวัส ระบุ
 
ประธาน กสม. กล่าวด้วยว่า ในระหว่างร่างกฎหมายลูก กรธ.ออกข่าวเรื่อยมาว่า กสม.ชุดปัจจุบันได้มาตามกฎหมายเก่า แตกต่างจากกฎหมายใหม่ ทั้งเรื่องคุณสมบัติและกระบวนการสรรหา ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลเกี่ยวกับกระบวนได้มาซึ่ง กสม. ที่ต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสม.ชุดปัจจุบันก็มีปัญหาในการทำงาน และ กสม.ไทยถูกลดสถานะจาก เอ เป็น บี จึงจำเป็นต้องเซตซีโร่ส่วนเหตุผลในการเซตซีโร่ที่เป็นทางการปรากฏอยู่ในตารางความเห็นและผลการพิจารณาในเอกสารประกอบร่าง พ.ร.ป. มีเพียงประการเดียวคือ วิธีการได้มาซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับหลักสากลเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม.ที่ต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่จากข้อมูลขณะนี้ ทราบว่า กรธ.ไม่ใช้เหตุผลนี้ในการเซตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่า กรธ.จะใช้เหตุผลใดไม่ว่าจะเหตุผลที่เป็นทางการ หรือเหตุผลเบื้องหลังก็ตาม 
 
 
13 กรกฎาคม 
 
ได้ฤกษ์ประชุมนัดแรกปฏิรูป ตร.ดึงมือฉมังนั่งคุมงานแต่ละด้านคาดหวังห้าเดือนเห็นพิมพ์เขียว
 
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เป็นนัดแรกต่อมา พล.อ.บุญสร้างแถลงว่า มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ วางกรอบเวลาการทำงาน โดยยึดขั้นตอน 2-3-4 โดยแบ่งออกเป็น 5 คณะทำงานคือ 1.คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล มีตนเป็นประธาน เน้นงานคณะนี้เป็นสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายทำให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ยืนยันว่าเป็นเพียงการสร้างระบบการแต่งตั้งโยกย้าย ยังไม่มีผลกับการโยกย้ายในปีนี้ แต่บังคับใช้ในปี 2561 โดยจะออกมาเป็นกฎหมาย ส่วนจะระบุถึงหลักความอาวุโส ผลการทำงานอย่างไร ให้รอคณะอนุกรรมการฯ พูดคุยกันก่อน ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
 
พล.อ.บุญสร้างกล่าวต่อว่า 2.คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา มีนายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกาเป็นประธานรับผิดชอบในส่วนการแยกงานสืบสวนสอบสวน 3.คณะอนุกรรมการด้านหน้าที่อำนาจและภารกิจของตำรวจ มีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน 4.คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น มี พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ.เป็นประธาน 5.คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ มี ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน และ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะกรรมการ สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านนั้นๆ ของ สตช.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของแต่ละอนุกรรมการ
 
พล.อ.บุญสร้างกล่าวด้วยว่า เบื้องต้นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น คือ การแต่งตั้งโยกย้าย และระบบงานสอบสวน ส่วนเรื่องอื่นจะพิจารณาเป็นลำดับต่อไป ช่วง 2 เดือนแรกน่าจะเห็นเป็นรูปร่าง คือนำเรื่องต่างๆ มาศึกษา และ 3 เดือนถัดไป ลงมือปรับแก้กฎหมายและเสนอเป็นกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติก่อนเข้าสู่ระยะที่ 4 เปิดรับฟังความคิดเห็น แต่เราคาดหวังว่าช่วง 5 เดือนแรกทุกอย่างต้องเสร็จสมบูรณ์ เชื่อมั่นว่าจะใช้เวลา 9 เดือนทำเรื่องปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้เสร็จตามนโยบายนายกฯ ส่วนจะมีข้อขัดข้องหรือแรงต่อต้านมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง
 
 
สนช. เห็นชอบร่างกฎหมายลูก กกต. อีกครั้ง ย้ำ เซ็ตซีโร่เพื่อปรับโครงสร้างให้สอดคล้อง รธน. 60
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  มีมติแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ...  ด้วยคะแนนเสียง  เห็นด้วย 194   ไม่เห็นด้วย ไม่มี  งดออกเสียง 7 เสียง จึงถือว่า ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย)  เสนอ    หลังจากนี้จะส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตาม มาตรา 81 รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป
 
สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ...  ได้ผ่านวาระ 3 จาก สนช. ไปแล้ว  แต่เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ได้ส่งข้อโต้แย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว มายัง สนช.  จำนวน 6 ประเด็น  ได้แก่  1.การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสรรหาเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติหรือไม่ 2.การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติหรือไม่ 3.หน้าที่และอำนาจของ กกต. แต่ละคนตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ2560 หรือไม่ 4.อำนาจในการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่  5.การบัญญัติให้ กกต. มอบอำนาจการสอบสวนได้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ6.การให้ประธาน กกต. และกรรมการ กกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ (เซ็ตซีโร่ กกต.)    ซึ่งการเสนอข้อโต้แย้งทั้งหมดนี้ นำมาสู่การตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย (สนช. กกต. และ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ)  ตามมาตรา 267  ขึ้น เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง   ที่สุดท้ายแล้วกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าบทบัญญัติในร่างกฎหมายนี้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ  จึงไม่ได้แก้ไขตามข้อโต้แย้งที่ กกต. เสนอมาแต่อย่างใด
 
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็น  กล่าวว่า การสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายในครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นการเสนอความเห็นเพื่อให้ สนช  ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  พร้อมระบุว่า ขอทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี แม้จะรู้ผลล่วงหน้าแล้วก็ตามว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร  แต่ทั้งนี้ ก็ขอให้ สนช. ทบทวนให้ดีอีกครั้งว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเห็นชอบหรือไม่
 
 
สนช.ดับฝัน กกต.ไม่ยื่นศาล รธน.ตีความร่างกฎหมายลูก
 
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากที่ประชุม สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าหลังจากนี้ สนช.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไปให้นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 ซึ่งนายกฯ จะต้องรอไว้ 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ.จากรัฐสภา เพื่อรอดูว่าจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ทั้งนี้ตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ผู้ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้มีเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น คือ 1. สนช.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของ สนช.ที่มีอยู่ทั้งหมด ส่งให้ประธาน สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ 2. นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งเรื่องเอง ซึ่ง กกต.หรือหน่วยงานอื่น อาทิผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้เอง กรณีร่าง พ.ร.บ.กกต.คงเป็นไปได้ยากที่ สนช.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะ สนช.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงปิดประตูที่ สนช.จะยื่นให้ตีความ.
 
 
สนช.มีมติ 176 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกฎหมาย
 
สนช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 176 ต่อ 0 คะเเนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามขั้นตอนจะต้องส่งร่างต่อให้กับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. เพื่อพิจารณาว่าเนื้อหาตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 176 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 179 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยหลังจากนี้จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
สำหรับร่างกฎหมายลูกดังกล่าวตราขึ้น เพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้ โดยในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลให้อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ขณะในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากไม่มาศาล แต่มีหลักฐานชัดว่ามีการออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล ส่วนกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย แต่หากไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความต่อสู้คดีแทนได้ และในกรณีเมื่อคดีตัดสินไปแล้วแต่จำเลยกลับมา หากจำเลยจะขอรื้อฟื้นคดีใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องยื่นเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
 
 
คณะกรรมการสรรหา คตง. ได้ชื่อ คตง. ชุดใหม่ ทั้ง 7 คนแล้ว เตรียมเสนอ สนช. ให้ความเห็นชอบต่อไป
 
คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีการประชุมครั้งที่ 3เพื่อพิจารณาเลือกผู้สมควรได้รับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยที่ประชุมลงมติเลือกผู้สมควรเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7คน  ได้แก่   ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน คือ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์  /  ด้านกฎหมาย จำนวน 2 คน คือ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ และศาสตราจารย์อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป  / ด้านบัญชี จำนวน 1 คน คือ นางสาวจินดา มหัทธนวัฒน์   /ด้านการตรวจสอบภายใน จำนวน 1 คน คือ พลเอก ชนะทัพ อินทามระ  /ด้านการเงินการคลัง คือ นายวีระยุทธ ปั้นน่วม / และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน คือ นายสรรเสริญ พลเจียก
 
ทั้งนี้  ผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่   ซึ่งคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว เสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
 
 
14 กรกฎาคม 
 
'สมชัย' ยันมี 4 ช่อง ยื่นศาล รธน.ตีความร่าง ก.ม.ลูก กกต.ขัด รธน.
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงกรณีช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย กกต.มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจพิจารณา ร่างกฎหมายแม้ว่ายังไม่ประกาศใช้หรือไม่ 
 
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1) สำหรับกระบวนการนำเรื่องสู่คำวินิจฉัย สามารถกระทำได้ 4 กรณี คือ 
 
1. กรณีทั่วไปรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคสองระบุว่า การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย การทำคำวินิจฉัย นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และเนื่องด้วยขณะนี้กฎหมายลูกดังกล่าวยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของ กรธ. ดังนั้น ต้องดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 วรรคสาม ที่ระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญการพิจารณาและการทำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 
 
2. กรณีการใช้ช่องทางฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 
 
3. กรณีการใช้ช่องทางฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (1) ส.ส. ส.ว.หรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เสนอต่อประธานรัฐสภา และให้ประธานส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และ 
 
4. กรณีการใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231
 
สรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายหรือเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม สามารถมีช่องทางการเสนอเรื่องถึงศาลได้ 4 ช่องทาง ดังนั้นใครที่กล่าวว่า มีเพียง 2 ช่องทาง โปรดอ่านรัฐธรรมนูญให้ลึกซึ้งด้วย
 
ที่มา: ไทยรัฐ