เปรียบเทียบ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับแก้ไข ปี 2491 และฉบับปี 2560

เปรียบเทียบ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับแก้ไข ปี 2491 และฉบับปี 2560

เมื่อ 17 ก.ค. 2560
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
พระราชบัญญติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491.PDF74.39 KB
พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560.PDF75.83 KB

 

16 กรกฎาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 โดยที่ไม่เคยเห็นข่าวมาก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้หน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อใด
 
จากการสืบค้นในฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของ สนช. ทั้งในหน้าระบบประมวลผลข้อมูลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ และในหน้าเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ต่างก็ไม่พบข้อมูลว่า กฎหมายนี้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเมื่อใด และมีหลักการของกฎหมายที่พูดคุยกันใน สนช. ว่าอย่างไรบ้าง
 
แต่เมื่อดูจาก "เหตุผล" ในการออกพระราชบัญญัติที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติ ก็อธิบายว่า โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วย จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 มีความยาวเพียง 3 หน้า 12 มาตรา สาระสำคัญว่าด้วย การจัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ โดยแบ่งทรัพย์สินออกเป็นสองประเภท ได้แก่
(1) “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาอันเป็นการส่วนพระองค์ รวมทั้งดอกผล
(2) “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์
 
กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ทันที ในวันถัดจากวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ก่อนหน้าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์เคยถูกจัดการดูแลรักษาภายใต้ กฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 ซึ่งถูกแก้ไขมาแล้วสองครั้ง ในปี 2484 และ 2491 
 
โดยกฎหมายฉบับปี 2479 เขียนให้ "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประเภทอื่น อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง โดยมีคณะกรรมการคณะหนึ่งตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาติ 
 
ส่วนการแก้ไขครั้งสำคัญในปี 2491 จัดระบบใหม่ ให้การดูแล "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" ให้อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และให้จัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อมารับหน้าที่ดูแล "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ประเภทอื่น โดยยังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั่งเป็นประธาน
 
ส่วนระบบใหม่ ตามกฎหมายใหม่ ในมาตรา 6 กำหนดว่า การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดําเนินการอื่นใด อันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สําหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้
 
 
 
 
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ที่ออกใหม่นี้ ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญจากกฎหมายเดิม ได้แก่
 
1. ประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 ฉบับที่ถูกแก้ไขในปี 2491 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  แต่กฎหมายใหม่แก้ไขให้ ประธานกรรมการและกรรมการอื่นมาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย 
 
2. ยุบ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” รวมกับ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" 
ตามกฎหมายเดิม มีระบบทรัพย์สินประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า พระราชวัง ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง แต่กฎหมายใหม่แก้ไขให้ยกเลิกระบบ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” แล้ว และให้พระราชวัง หรือทรัพย์สินอื่นในประเภทนี้ไปรวมกับ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
 
3. เปลี่ยนหลักการเสียภาษี
ตามกฎหมายเดิม เขียนว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร เช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ย่อมไม่อยู่ในข่ายแห่งความยกเว้น ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยหลัก "ต้องเสียภาษี" ยกเว้นจะมีกฎหมายใดมายกเว้นเป็นการเฉพาะ 
 
แต่กฎหมายใหม่แก้ไขเป็นว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทุกประเภทจะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แปลว่า หลักการเดิมที่ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียภาษีเป็นหลัก ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้องเสียภาษีเป็นหลัก ถูกยกเลิกไป โดยเรื่องใดจะต้องเสียภาษีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง