NLA weekly (15-21 ก.ค.60): โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับใหม่ และ สปท. เตรียมอำลาตำแหน่ง

NLA weekly (15-21 ก.ค.60): โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับใหม่ และ สปท. เตรียมอำลาตำแหน่ง

เมื่อ 23 ก.ค. 2560
17 กรกฎาคม 2560
 
โปรดเกล้า ฯ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับใหม่ 
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สาระสำคัญคือ 
 
มาตรา 4 และ 5 ให้คำนิยามที่ชัดเจนของ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ มาตรา 6 ให้การจัดการดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ให้มีการตั้งคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีหน้าที่ดูแลกิจการของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีอำนาจในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และบริหารงานบุคคลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติย์ตาม พ.ร.บ. การจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความผูกพัน และพนักงานลูกจ้างของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ. ฉบับ 2479 และแก้ไขเพิ่มเติมมาเป็นของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในพ.ร.บ. ฉบับนี้ 
 
 
 
 
18 กรกฎาคม 2560
 
สปท. เห็นชอบรายงานปฏิรูปตำรวจ เพิ่มค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย อัตรากำลังคน เพื่อขวัญและกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน
 
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงาน เรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 129 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง และหลังจากนี้จะนำรายงานดังกล่าวส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป การปฏิรูปตำรวจตามรายงานฉบับนี้คือ ให้จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนแต่ละปีให้ครบถ้วนตามจำนวนครั้งที่เกิดขึ้นจริง ไม่มียอดค้างชำระ รวมทั้งการปรับเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวนให้เท่ากับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่น และปรับค่าตอบแทนตำรวจให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานและความเสียงภัยเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานการทำงานของข้าราชการพลเรือน 
 
 
19 กรกฎาคม 2560
 
สปท. ด้านบริหารราชการแผ่นดิน รวมรายงานข้อเสนอการปฏิรูปเสนอรัฐบาลก่อนสิ้นสุดวาระ 
 
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธ่านในการประชุมนัดสุดท้าย เพื่อสรุปรายงานข้อเสนอการปฏิรูปในด้านบริหารราชการแผ่นดินเสนอให้ สปท. ทั้งหมด 22 รายงาน และให้เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม พ.ต.ต. ยงยุทธ ได้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ที่สนับสนุนการทำงานของ กมธ และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกันที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 
 
 
20 กรกฎาคม 2560
 
สปท. เตรียมจัดงานเลี้ยงอำลาตำแหน่ง พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณสมาชิก 25 ก.ค. นี้ 
 
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมมาธิการวิสามัญสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) กล่าวว่า วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนจะหมดวาระการทำงาน โดยการประชุมครั้งสุดท้ายจะพิจารณารายงานของคณะกรรมมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน เรื่องการจัดทำแผนการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าโดยรัฐ และหลังจากนั้นจะจัดงานเลี้ยงอำลาสมาชิก สปท. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ณ ห้องกมลทิพย์ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. จะกล่าวขอบคุณสมาชิกพร้อมมอบประกาศเกียรติคุณให้สมาชิกทุกคน โดยค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงมาจากการเก็บเงินสมาชิก สปท. 
 
 
 
สนช. มีมติเอกฉันท์ เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. มาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 เสียง  ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง เหตุผลในการออกกฎหมายฉบับนี้คือ หลังจากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วมักมีผู้หลบหนี และติดตามตัวได้ยาก เป็นจำนวน 5,000 คนต่อปี สำนักงานศาลยุติธรรมเห็นว่า ควรจะมีผู้ติดตามระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ติดตามตัวด้วย โดยการกำหนดให้ศาลอาจแต่งตั้งผู้กำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบนีจากการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล เพื่อติดตามผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวว่าได้ทำตามคำสั่งศาลหรือไม่ และถ้าหากผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหนีและถูกจับได้ ผู้แจ้งความนำจับจะมีสิทธิได้รับเงินสินบน และเจ้าหน้าที่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล ส่วนผู้ติดตามดูแลจะได้ค่าตอบแทนจากเงินค่าปรับตามคำพิพากษาในคดีอาญาที่ศาลมีอยู่แลัว แต่ปล่อยให้ผู้ถูกติดตามหนีได้ก็อาจจะไม่ได้รับรางวัล 
 
 
สนช. เห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ร่วม 3 ฝ่าย 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญ (กธม.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง) ร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าร่างดังกล่าวนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง กรธ.วิสามัญมีทั้งหมด 11 คน ดังนี้ 1. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 2. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. 3. นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. 4. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. 5. พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ สมาชิก สนช. 6. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการ กรธ. 7.นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการ กรธ. 8. นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการ กรธ. 9. นายนรชิต สิงหเสนี กรรมการ กรธ. 10. นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการ กรธ. และ 11. นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีกรอบพิจารณาทบทวน 15 วันนับจากได้รับแต่งตั้งและประชุมครั้งแรก 25 กรกฎาคม นี้