หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ
พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ฉบับที่ 17 (แก้ไขเพิ่มเติม) และบังคับใช้เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและชุมชนที่มีวิถีชีวิตทั้งทางทะเล และลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ อาคารบ้านเรือนของประชาชนซึ่งดำรงอยู่ในรูปแบบของวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำกลายเป็นสิ่งลุกล้ำลำน้ำที่กลายเป็ชุนความผิดทางอาญาซึ่งทั้งโทษปรับและจำคุก ส่งผลให้ชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำได้รับผลกระทบทันทีนับแต่ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้มาตรา 44
ประกาศคำสั่งคสช.ที่ 32/2560 โดยกำหนดให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้บางมาตราออกไป
เพิ่มโทษปรับ-จำคุก ล่วงล้ำลำน้ำ
พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ตั้งแต่
17 พฤศจิกายน 2559 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 182 เสียง โดยไม่มีเสียงคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายเนื่องจาก“ปัจจุบันมีอาคารและสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มมากขึ้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติสำหรับเจ้าท่าในการดำเนินการเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่ปลูกสร้างดังกล่าว และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น...” จึงนำมาสู่การแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้
สำหรับเนื้อหาสำคัญซึ่งเป็นประเด็นปัญหาคือ "การล่วงล้ำลำน้ำ" โดยสนช.ได้ปรับเปลี่ยนอัตราโทษปรับให้มีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และมีการเพิ่มโทษจำคุกทางอาญาซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือ หากผู้ใดมีที่อยู่อาศัยหรือมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งที่ล่วงลำไปในแม่น้ำ ลําคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชน โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าท่า ต้องจ่ายค่าปรับตารางเมตรละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20,000 บาท หรือโทษจำคุกทางอาญาไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังมีโทษปรับรายวัน หากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าท่าที่ให้รื้อถอนและแก้ไขอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายดังกล่าวอีกตารางเมตรละไม่เกิน 20,000 บาท ต่อวัน แต่ถ้าได้รับอนุญาตก็ต้องเสียค่าเช่าอีกโดยคิดเป็นรายปีตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 50 บาท
มาตรา 118 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117 หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตามมาตรา 117 แล้ว ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับ โดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละหนึ่งพันบาทแต่ไม่เกิน ตารางเมตรละสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับรายวันวันละไม่เกินตารางเมตรละ สองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าท่าตามมาตรา 118 ทวิ วรรคหนึ่ง หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติ ให้ถูกต้อง โดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
สำหรับพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ฉบับที่ 16 ก่อนการแก้ไขของสนช. กำหนดว่ากรณีมีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นๆ ล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 118 จะต้องจ่ายโทษปรับตารางเมตรละ 500 บาทแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก
ชุมชนริมน้ำ ชุมชนชายฝั่ง เดือดร้อนกันทั่วหน้า
การบังคับใช้พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำและทะเล โดยมีประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบและออกมาคัดค้านจำนวนมาก โดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับความเดือนร้อนอย่างมาก เนื่องจากอัตราโทษปรับที่สูง และการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ประชาชนไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน โดยประชาชนเสนอให้ชะลอการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน และเสนอให้รัฐบาลแก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
สำหรัับตัวอย่างผลกระทบ เช่น จังหวัดหนองคายมีเกษตรกรทำกระชังปลายื่นไปในแม่น้ำโขงซึ่งถือเป็นลำน้ำที่จะต้องขออนุญาตกับกรมเจ้าท่าและต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ประมาณ 3,000 กระชัง ซึ่ง ผู้เลี้ยงปลากระชังต้องมายื่นคำร้องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าเป็นใบอนุญาต ฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมตรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้งละ 50 บาท กล่าวคือ จะมีการพิจารณาเก็บเงินค่ากระชังตารางเมตรละ 500 บาท ค่าธรรมเนียมเชิงธุรกิจ ตารางเมตรละ 200 บาท เกษตรกรคนหนึ่งเลี้ยงปลาในกระชังประมาณ 50-200 กระชัง หากคิดอัตราตามนี้จะต้องจ่ายค่าปรับคนละประมาณ 50,000-100,000 บาท เป็นอย่างต่ำ คิดทั้งจังหวัดเกษตรกรทั้ง 3,000 รายจะต้องจ่ายค่าปรับประมาณ 57 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าเกษตรกรจะขายปลาได้เงินมาก รายจ่ายก็มากตามไปด้วยเช่นกัน
หรือ ประชาชนหมู่บ้านปันหยี จังหวัดพังงา ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา คัดค้านพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยกำนันตำบลเกาะปันหยี กล่าวว่า "เกาะปันหยีเป็นหมู่บ้านกลางน้ำ และดำเนินการใช้ชีวิตมากว่า 300 ปีแล้ว บ้านเรือนของชาวบ้านได้ปลูกสร้างอยู่กลางน้ำ บางส่วนมีการดำรงชีพด้วยการทำประมง จากประกาศการใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำ รวมทั้งผู้อยู่อาศัยอยู่ริมทะเล ในพื้นที่ป่าชายเลน ผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เลี้ยงปลากระชัง ได้รับผลกระทบโดยตรง..."
ออกคำสั่งม.44 ชะลอปัญหาที่ตัวเองก่อ
โดยประกาศคำสั่งของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ไม่ได้เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นเพียงการชะลอการใช้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2560 หากประชาชนไม่ได้ทำการแจ่้งต่อเจ้าท่าภายในเวลาที่กำหนดจะต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่า ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ เขียนยอมรับอย่างชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการแก้ไข พ.ร.บ.ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง และการอยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิมริมน้ำ
รวบอำนาจท้องถิ่นเพิ่มอำนาจราชการจัดการน่านน้ำไทย
นอกจากประเด็นการล่วงล้ำลำน้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ของ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือประเด็น "เจ้าท่า" ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้สร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำ เก็บค่าธรรมเนียมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำ มีอำนาจยึดทรัพย์สินที่รื้อถอนไว้ และสามารถนำสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ล่วงล้ำลำน้ำออกขายได้ในกรณีที่ไม่พบเจ้าของ นอกจากนั้นยังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตสำคัญในการเดินเรือทางน้ำ เช่น การอนุญาตให้ใช้เรือ การจดทะเบียนเรือ เป็นต้น
ประเด็นอำนาจเจ้าท่า แม้จะไม่มีการแก้ไขในสนช. และ "อธิบดีกรมเจ้าท่า" ก็เป็นเจ้าท่าตามกฎหมายมาแต่เดิม แต่อย่างไรก็ตามอธิบดีฯ สามารถมอบหมายอำนาจเจ้าท่าให้ผู้อื่นได้ ด้วยเหตุที่พื้นน้ำจืดและน้ำเค็มของประเทศไทยมีความกว้างขวาง อธิบดีฯ จึงจำเป็นต้องมอบอำนาจนี้ให้ผู้อื่นรับผิดชอบแทน ดังนั้นเมื่อพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ประกาศในราชกิจจานุเษกษา อธิบดีกรมเจ้าท่า จึงออก
"คำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ 123/2560" เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 มอบอำนาจเจ้าท่าให้กับข้าราชการคือ "ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม" "ผู้อำนายการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค" และ "ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา" ทำหน้าที่แทน
ทั้งนี้ ก่อนเกิดพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 อำนาจของเจ้าท่าอยู่ในมือข้าราชการ และเมื่อมีพ.ร.บ.การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ จึงมีการมอบอำนาจเจ้าท่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2548 ที่มีการ
ออกคำสั่งกรมเจ้าท่าอย่างน้อยสามฉบับ
ข้อน่าสังเกตสำหรับประเด็นการมอบอำนาจเจ้าท่า คือว่าการดึงอำนาจเจ้าท่าไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับที่ข้าราชการกรมเจ้าท่าอีกครั้ง น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีสิ่งปลูกสร้างบริเวณลำน้ำและทะเลต่างๆ ทั้งนี้ด้วยความไม่เข้าใจพื้นที่และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของข้าราชการ จึงอาจทำให้การบังพ.ร.บ.ฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
พิจารณากฎหมายทหารเรือ-เจ้าท่าคุม แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
ความผิดพลาดในการออกกฎหมายฉบับนี้ส่วนสำคัญมาจากกระบวนการที่ขาดความชอบธรรมและการมีส่วนร่วมประชาชน แน่นอนว่าการออกกฎหมายในยุคที่รัฐสภามาจากการแต่งตั้งของทหาร และสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นทหาร ย่อมต่างจากรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยที่สมาชิกเป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ พบว่า
คณะกรรมมาธิการวิสามัญที่ถูกตั้งขึ้นมาจำนวน 15 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ผู้ภูมิหลังมาจากระบบราชการ โดยส่วนใหญ่เป็นนายทหารเรือ รวมทั้งข้าราชการจากกรมเจ้าท่าซึ่งมีอำนาจตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีประชาชนผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาพ.ร.บ.ฉบับนี้เลย
หรือแม้กระทั่งในการเชิญบุคคลมาให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้เชิญบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เข้ามาให้ความเห็น จะพบว่าผู้ที่เข้ามาให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการทั้งหมดคือตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับ...) |
วันชัย ศารทูลทัต | นักกฎหมายด้านคมนาคม |
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ | นักกฎหมายมหาชน |
ชนิสร์ คล้ายสังข์ | นักกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา |
ธนกฤต วรธนัชชากุล | อัยการสูงสุด |
ประสาท พงษ์สุวรรณ์ | นักกฎหมายมหาชน |
ศรศักดิ์ แสนสมบัติ | อธิบดีกรมเจ้าท่า |
จิราภรณ์ จันทรศิริ | รองอธิบดีกรมเจ้าท่า |
อังคณา สินเกษม | ผู้พิพากษา |
ภัทรศักดิ์ วรรณแสง | ผู้พิพากษา |
พลเรือเอก กฤษฎา เจริญพานิช | ทหารเรือ |
พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร | ทหารเรือ |
พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ | ทหารเรือ |
พลเรือเอก ยุทธนา ฟักผลงาม | ทหารเรือ |
พลเรือเอก วีระพันธ์ สุขก้อน | ทหารเรือ |
พลตำรวจโทวิบูรย์ บางท่าไม้ | ตำรวจ |
นอกจากนี้ หากเปิดดู
รายงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ จะไม่พบว่าการพิจารณาพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพิ้นที่ต่างๆ จะพบแต่เพียงข้อความสั้นๆ ว่า “คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เดินทางไปศึกษา สภาพปัญหาการบุกรุกสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำในเขตพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2559”
แก้ปัญหาไปข้างหน้าหรือถอยหลังลงคลอง?
การจัดทำพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ มีความผิดพลาดในสามประเด็นคือที่มา กระบวนการ และเนื้อหา กล่าวคือ
ในประเด็นแรกเป็นที่ทราบกันดีว่าที่มาของ สนช. ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนจากเลือกตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคสช. ทำให้การทำงานแตกต่างจากสภาจากการเลือกตั้งซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับประชาชนและมีแนวโน้มที่จะรับฟังเสียงของประชาชนมากกว่า
ประเด็นที่สองกระบวนการร่างกฎหมาย คณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารเรือ ข้าราชการจากกรมเจ้าท่า และนักกฎหมาย นอกจากนี้การรับฟังความเห็นคิดคณะกรรมาธิการเชิญแต่เพียงบุคคลจากหน่วยงานรัฐมาให้ความคิดเห็นเท่านั้น ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่มีรับเชิญและมีโอกาสให้ความคิดเห็น ซึ่งแสดงออกถึงการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ส่งผลให้การออกกฎหมายไม่มีความละเอียดรอบคอบทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
ประเด็นที่สามเนื้อหา นอกจากโทษปรับที่เพิ่มขึ้นและโทษจำคุกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ หลังประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีคำสั่งให้อำนาจข้าราชการกรมเจ้าท่ามากขึ้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่ราชการส่วนกลางจะเข้าใจสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ว่ามีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับสายน้ำอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งที่ย่อมเข้าใจท้องถิ่นของตนเองมากกว่า และการให้อำนาจท้องถิ่นยังสอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย
จากความผิดพลาดของคสช.ที่ต้องการแก้ไขปัญหาแม่น้ำลำคลอง แต่กลับเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทำให้ต้องกลับไปพิจารณาว่าที่ผ่านมากฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคคสช.เป็นการพัฒนาไปข้างหน้าหรือถอยหลังลงคลองกันแน่