จากการสแกนรายงานข้อเสนอของ สปท. แล้วเปรียบเทียบกับรายงานยุค สปช. ก็ต้องตกใจ เมื่อพบหลายข้อเสนอไม่เพียงแค่ลอก แต่ตัวรายงาน "ก๊อปปี้ เพสต์" กันชัดเจน ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเสนอหลายอย่างซ้ำกับกฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว หรือซ้ำกับที่หน่วยงานราชการทำอยู่ก่อนแล้วด้วย
รายงานของ สปท. หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หลายฉบับ ที่ดูเหมือนผ่านการศึกษา การค้นคว้าข้อมูล อย่างละเอียดลึกซึ้ง และเขียนเป็นรายงานเพื่อนำเสนอวิธีการปฏิรูปออกมาเป็นชุดๆ เมื่อตรวจสอบลงลึกขึ้นแล้วจะพบว่า ข้อเสนอของ สปท. บางส่วนนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานราชการ หรือองค์กรต่างๆ จัดทำอยู่ก่อนแล้ว สปท. เพียงแค่หยิบแนวทางนำร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วมาศึกษาเพิ่มเติมแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอของตัวเอง เสมือนว่าคิดขึ้นเองทั้งหมด หรือในบางประเด็น ข้อเสนอของ สปท. ออกมาตามหลังจากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกันได้ผ่านการพิจารณาหรือบังคับใช้ไปแล้วเสียอีก
จุดที่สะท้อนความไม่มีประโยชน์ของรายงานของ สปท. ชัดเจนที่สุด คือ ข้อเสนอของ สปท. หลายประเด็น ซ้ำหรือเรียกได้ว่า "ลอกข้อสอบ" มาจากข้อเสนอการปฏิรูปของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) องค์กรที่เปรียบเสมือนภาคแรกของ สปท. ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาและหมดวาระไปก่อนหน้านี้ และรายงานหลายฉบับของ สปท. ไม่เพียงลอกเฉพาะข้อเสนอเท่านั้น แต่เนื้อหาของรายงานทั้งการวิเคราะห์ปัญหา และข้อมูลทางวิชาการที่ทำการศึกษามา เมื่ออ่านดูก็จะเห็นได้ว่า เป็นการ "ตัดแปะ" มาจากรายงานในเรื่องเดียวกันของ สปช. อย่างชัดเจน ซึ่งพอจะจำแนกได้อยู่ 3 แบบคือ
หนึ่ง ลอกข้อสอบจาก ‘สภาปฏิรูปแห่งชาติ’
ไม่เพียงในแง่เนื้อหา แต่ในแง่รูปแบบการเขียนรายงานก็เห็นได้ชัดว่า การลำดับเนื้อหาและการให้เหตุผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางย่อหน้าของรายงานทั้งสองฉบับเขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร แทบจะเรียกได้ว่า คนที่เขียนรายงานให้ สปท. นำรายงานเก่าของ สปช. มาเป็นร่างแรก แล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปบ้าง รวมทั้งการจัดหน้าเอกสารใหม่ เช่น การย่อหน้า รูปแบบการใช้หมายเลขหัวข้อ ขนาดตัวอักษร เพื่อไม่ให้ดูเหมือนกันมากจนเกินไป
ตัวอย่างเช่น ประโยคที่รายงานของ สปช. เขียนว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีความพยายามที่จะกำหนดแผน 20 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม" ในรายงานของ สปท. ก็นำมาแก้ไขเล็กน้อยเป็น "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพยายามจะมีแผน ๒๐ ปี แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม มากนัก"
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ประโยคที่รายงานของ สปช. เขียนว่า "ส่งผลให้แผนพัฒนาเหล่านั้นขาดการบูรณาการเป็นองค์รวมและไม่มีการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาประเทศ" ในรายงานของ สปท. ก็นำมาแก้ไขเล็กน้อยเป็น "ส่งผลให้แผนพัฒนาเหล่านั้นขาดการบูรณาการและจัดลำดับความสำคัญเป็นองค์รวมของการพัฒนาประเทศ"
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับเดียวกันก็มีส่วนที่ลอกแบบไม่เนียนก็คือ หัวข้อ "ประสบการณ์ของนานาประเทศ" ในหน้า 3-7 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจากรายงานเดิมของ สปช. ในหัวข้อเดียวกัน ตั้งแต่หน้า 5-10 แบบชัดเจน แต่ในส่วนนี้คัดลอกมาแบบไม่แก้ไขตัดทอนอะไรเลย
และสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ หัวข้อ “สรุปผลการพิจารณาศึกษาและการกำหนดกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ” ตั้งแต่หน้า 11-21 ก็พบว่า เป็นการคัดลอกมาจากรายงานของสปช. ในหัวข้อ "ข้อเสนอแนะและแนวทางการปฏิรูป" ตั้งแต่หน้า 16-25 แบบตัวต่อตัวชนิดไม่ได้แก้ไขเลย เนื่องจากในรายงานฉบับเดิมมีการทำภาพแผนผัง 4 ภาพ ในรายงานฉบับใหม่ ก็ทำภาพแผนผัง 4 ภาพเช่นเดียวกัน เพียงแค่ลงสีใหม่หรือปรับถ้อยคำใหม่บางส่วนเท่านั้น แต่โดยโครงสร้างของแผนผังเหมือนกันทั้ง 4 ภาพ ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างบ้าง คือ รายงานของ สปท. ได้เอาเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ มาจัดวางใหม่เป็นรูปแบบตาราง แต่เนื้อหาในตารางไม่ได้ต่างไป มีการแก้หัวข้อหนึ่งแห่งจาก "ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ชาติกับยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ" เป็น "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ" ส่วนเนื้อหาภายใต้หัวข้อนั้นยกจากของเก่ามาเป็นโครงหลัก และมีการเพิ่มประเด็นบทเฉพาะกาลเข้ามาเป็นหัวข้อใหม่เพียงหัวข้อเดียว ทั้งที่ ข้อมูลส่วนนี้ควรจะมีการคิดต่อยอดจากของเดิม

และเมื่อพิจารณาในประเด็นที่มีความแตกต่างกัน ตามร่างที่ สปช. เคยเสนอไว้นั้น กำหนดให้ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น แต่ในร่างที่ สปท. เสนอมาใหม่ กำหนดให้มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นั่งรวมอยู่ในคณะกรรมการด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ถูกองค์กรวิชาชีพคัดค้านอย่างหนักเพราะเกรงว่า จะเปิดช่องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อได้ เท่ากับว่า ร่างกฎหมายที่ สปท. เอาแนวคิดมาทำต่อจาก สปช. กลับมีเนื้อหาที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพน้อยกว่า ข้อเสนอของ สปช. เสียอีก
สอง ลอกข้อสอบจาก ‘กฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว’
ใน
รายงานของ สปท. เรื่อง การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม หน้า 7 เสนอให้มีระบบคัดกรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยให้สมาชิกพรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือระบบ Primary Vote เพื่อให้ได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งรายงานฉบับนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อ 20 เมษายน 2559 ซึ่งระบบ Primary Vote นั้นไม่ได้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในรายงานของ สปท. ฉบับนี้ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 45, 90 และ 258 ให้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองต้องจัดทำ
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559 ก่อนที่ สปท. จะมีรายงานออกมาภายหลังเป็นเวลา 1 เดือน และต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการทำประชามติกลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่บังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน ข้อเสนอข้อนี้ของ สปท. จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่เกิดขึ้นใหม่ และแม้ว่า สปท. จะไม่ได้เสนอประเด็นนี้ หลักการ Primary Vote ก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในฐานะที่ สปท. ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นนี้อย่างลงลึก ก็กลับไม่ได้นำเสนอวิธีการสร้างระบบ Primary Vote ที่จะสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้โดยลงรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมมากไปกว่าหลักการกว้างๆ ที่มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ
โดยกฎหมายที่ผ่าน สนช. ไปก่อนหน้านั้น มีรายละเอียดและหลักเกณฑ์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ต้องหาที่ลงลึกและชัดเจนกว่ารายงานของ สปท. เสียอีก
อย่างไรก็ดี เกือบหนึ่งปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559
สปท. ได้นำเสนอรายงานอีกหนึ่งฉบับ โดยเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา และเสนอกฎหมายใหม่ คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยระบบการติดตามตัวโดยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พร้อมทั้งเสนอเทคโนโลยีที่แนะนำให้ใช้เพื่อทำให้ระบบติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ใช้งานได้จริงมากยิ่งขึ้น แต่นับถึงวันที่ สปท. หมดวาระ กฎหมายทั้งสามฉบับก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช.
สาม ลอกข้อสอบจาก ‘ผลงานที่หน่วยงานอื่นทำอยู่ก่อนแล้ว’
ใน
รายงานของ สปท. เรื่อง ระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 มกราคม 2559 หัวข้อ "วิธีการปฏิรูป" หน้า 7 เสนอให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน ได้นำแนวคิด “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)” มาใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ทว่าข้อเสนอนี้ดันไปสอดคล้องกับข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรมที่จัดทำและพยายามผลักดัน
ร่างพ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหา คือ ให้อำนาจตำรวจไกล่เกลี่ยคดีอาญาได้ และให้อำนาจอัยการสั่งชะลอการฟ้องคดีได้
นอกจากนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2557 และร่างกฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอยู่พักใหญ่ก่อนที่ สปท. จะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอเสียอีก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559
คณะรัฐมนตรีลงมติใหม่ ให้ชะลอร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน เท่ากับว่า ข้อเสนอชิ้นนี้ของ สปท. นอกจากจะเป็นข้อเสนอที่ "ลอกข้อสอบ" ของกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่สุดท้ายคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เอาด้วยเสียอีก