NLA weekly (22-28 ก.ค.60): สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีเซ็ตซีโร่

NLA weekly (22-28 ก.ค.60): สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีเซ็ตซีโร่

เมื่อ 30 ก.ค. 2560
สัปดาห์นี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านวาระที่ 3 ร่างพ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยยังให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้จนครบวาระ ด้านประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำงานวันสุดท้าย เชื่อสังคมเห็นผลงาน พร้อมส่งมอบงานต่อนายกรัฐมนตรี 31 กรกฎาคม นี้ ขณะที่หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ 70 ราย
 
24 กรกฎาคม 2560
 
เครือข่ายประชาชนฯ ค้านพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ยัดไส้ม.44 อนุญาตเอกชนทำโครงการก่อนผ่าน EIA
 
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าเจรจากับ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะ เกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA โดยมีตัวแทนประกอบด้วย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล สมนึก จงมีวศิน สุวิทย์ กุหลาบวงค์ และสุภาภรณ์ มาลัยลอย อ่านแถลงการณ์และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ โดยมีประเด็นสำคัญคือ 
 
1.มาตรา 44 ที่ใช้ออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 คือการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามโครงการก่อนที่ EIA จะผ่าน ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่)
 
2.กระบวนการจัดทำ EIA ไม่เป็นไปตามมาตรา 77 ที่กฎหมายทุกฉบับต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์ ไม่เหมาะกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น
 
3.การลดทอนคำว่า 'ดำเนินการ' ในรัฐธรรมนูญ ให้เหลือเพียงแค่ 'โครงการหรือกิจการ' ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่) และโครงการใดจัดทำ EIA และ EHIA ผ่านแล้ว โครงการที่มีลักษณะคล้ายกันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องทำ EIA และ EHIA อีก
 
4.ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มีเพียงแค่ 2 ระบบคือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment-EIA ) และ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment–EHIA) ภาคประชาชนเห็นว่า ควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่
 
5.องค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง ไม่ใช่การว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการตามที่ปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะจะทำให้เกิด Conflict of Interest (ผลประโยชน์ขัดกัน)
 
ที่มา: ประชาไท 
 
25 กรกฎาคม 2560
 
มีชัย ระบุคดียิ่งลักษณ์อาจได้สิทธิยื่นอุทธรณ์มากกว่าเดิม ตามรัฐธรรมนูญใหม่
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาคดีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ว่า ต้องรอผลการวินิจฉัยของศาล หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ตามสิทธิที่มีในรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการดังกล่าวต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งสามารถอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขณะที่กฎหมายเดิมให้สิทธิอุทธรณ์ได้ เฉพาะกรณีที่มีหลักฐานใหม่โดยคาดว่าร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ภายใน 1-2 เดือนนี้
 
 
สปท.ประชุมนัดสุดท้าย เชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อชาติ พร้อมส่งมอบงานต่อนายกฯ 31 ก.ค.นี้
 
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานการประชุม สปท.ครั้งที่ 31/2560 เป็นพิเศษ โดยเป็นการประชุมนัดสุดท้าย พร้อมกล่าวว่า ตนได้เรียนรู้การทำงานและขีดความสามารถของทุกคน เชื่อว่าสิ่งที่ สปท.ช่วยกันทำจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก โดยสังคมจะรับรู้ถึงสิ่งที่ สปท.ทำจากผลงานที่ปรากฏ ส่วนการส่งมอบงานต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคมนี้ ตนจะรายงานการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีจะพูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนา และจะร่วมถ่ายภาพร่วมกันกับนายกรัฐมนตรี เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา  
 
 
หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ 70 ราย
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 ซึ่งมีรายชื่อแบ่งเป็น 5 กลุ่ม จำนวน 70 คน คือ 1. ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 ราย ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมชั่วคราว และได้รับเงินปกติ 2. ข้าราชการพลเรือน จำนวน 6 ราย 3. พนักงานอื่นๆ ของรัฐ 2 ราย โดยกลุ่มที่ 2 และ 3 ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมชั่วคราว และให้ไปปฏิบัติราชการตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย แต่ได้รับเงินเดือนตามเดิม 4. ผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 37 ราย ให้ระงับการปฏิบัติราชการที่ดำรงตำแหน่งชั่วคราว และไม่ได้ค่าตอบแทน และ 5. ข้าราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 24 ราย ให้ช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัด ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งอยู่ หรือไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ กำหนด โดยไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และไม่ได้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายไปราชการชั่วคราว โดยคำสั่งดังกล่าวนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
 
27 กรกฎาคม 2560
 
สนช.มีมติตั้งกรรมการตรวจสอบประวัติ-ความประพฤติ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 17 คน กำหนดระยะเวลาการดำเนินการภายใน 12 วัน
สำหรับบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประกอบด้วย ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน คือ ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ ด้านกฎหมาย คือ พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ และ อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ด้านบัญชี สาวจินดา มหัทธนวัฒน์  ด้านการตรวจสอบภายใน คือ พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ด้านการเงินการคลัง คือ วีระยุทธ ปั้นน่วม และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน คือ สรรเสริญ พลเจียก
 
 
สนช.ผ่านร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ไร้เซ็ตซีโร่ผู้ตรวจฯ ชุดปัจจุบัน
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินในวาระ 3 ด้วยคะแนน 143 งดออกเสียง 7 ไม่ลงมติ 1 เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปโดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจคือ มีการแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 56-58 เรื่องวาระดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากเดิมที่ระบุให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน ที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ มีผลบังคับใช้แก้ไขเป็นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่อยู่ในตำแหน่งก่อนที่ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้จนครบวาระตาม พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินปี 2552ที่กำหนดไว้เดิม โดยไม่ให้นำมาตรา 8 ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินปี 2560 มาบังคับใช้