NLA weekly (29 ก.ค. - 4 ส.ค.60): สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายพรรคการเมือง ขณะที่ประยุทธ์ กล่าวอำลาสปท.ยันไม่สืบทอดอำนาจ

NLA weekly (29 ก.ค. - 4 ส.ค.60): สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายพรรคการเมือง ขณะที่ประยุทธ์ กล่าวอำลาสปท.ยันไม่สืบทอดอำนาจ

เมื่อ 6 ส.ค. 2560
สัปดาห์นี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านวาระที่สามเห็นชอบ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และผ่านวาระหนึ่งรับหลักการร่างพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ส่วนครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ขณะที่หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 เปิดตำแหน่งใหม่ 10 ตำแหน่งปลอบใจข้าราชการไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง  
 
30 กรกฎาคม 2560
 
อลงกรณ์ ชี้ สปท.ปฏิรูปอัพเกรดประเทศดีขึ้น ฝากทุกฝ่ายสานต่อการปฏิรูป สร้างความสามัคคีปรองดองและขจัดคอรัปชั่น
 
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า สปท.ส่งมอบผลงานการปฏิรูปต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 200 เรื่อง ครอบคลุม 37 วาระปฏิรูปใน 11 ด้าน เฉลี่ยเดือนละ 10 เรื่อง ทั้งแผนปฏิรูปข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปและกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูปทำให้ประเทศแข็งแรงขึ้นและดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างมีอนาคต ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจที่ดำเนินการมา 1ปี 9 เดือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งในการทำงานร่วมกับแม่น้ำห้าสาย โดยการนำของนายกรัฐมนตรีและทุกภาคีภาคส่วนทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจเติบโตมากสุดในรอบหกปี  รวมถึงมีการลงทุนในโมเดลเศรษฐกิจใหม่และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (First & new S-curve) สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นแล้วเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายใหม่ของประเทศ พร้อมย้ำว่า จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศให้สัมฤทธิ์ผล ให้คุ้มค่ากับการสูญเสียประชาธิปไตยจากการรัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าอันเป็นต้นเหตุแห่งการรัฐประหาร 13 ครั้งที่ผ่านมาเพื่อตัดวงจรอุบาทก์ทางการเมืองและขอให้เป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย
 
 
31 กรกฎาคม 2560
 
สปท. ส่งมอบผลงานการปฏิรูปแก่นายกรัฐมนตรีแล้ว  
 
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดพิธีส่งมอบผลงานการปฏิรูปแก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และหัวหน้าส่วนราชการ  รวมกว่า 900 คน เข้าร่วม ร้อยเอกทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. กล่าวสรุปผลงานของ สปท. ว่า ได้ขับเคลื่อนงานปฏิรูปต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  โดยคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสำคัญของการปฏิรูปภายในเวลาที่ยังอยู่ในวาระ ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากแม่น้ำ 5 สาย ทั้งนี้ที่ผ่านมา สปท.ได้เสนอความเห็นแก่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปฏิรูป ซึ่งปรากฏในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงการเสนอให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายของประเทศ  และจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พร้อมกับได้เสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปต่างๆ ต่อ นายกรัฐมนตรี จำนวน 188 เรื่อง  และเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว 27 เรื่อง  อาทิ  การจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ  การปฏิรูปข้อกำหนดเกี่ยวความผิดทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 
 
 
ประยุทธ์ ขอบคุณสปท. ยืนยันไม่สืบทอดอำนาจ
 
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณสมาชิก สปท. ที่ได้ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนงานปฏิรูป และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันร่วมกันพัฒนาประเทศ พร้อมกล่าวว่า การพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากการพัฒนาคนอันเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกเรื่อง และต้องเดินหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บนหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างโอกาสและความเสมอภาคความเท่าเทียมทางสังคม การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในลักษณะของการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแผนสำหรับดำเนินการเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่า การปฏิรูปจะสำเร็จได้จะต้องบูรณาการทุกหน่วยงานอย่างเท่าเทียมกันทุกพื้นที่และสร้างความเชื่อมโยง ขณะที่ประชาชนต้องเข้าใจและเปิดรับสิ่งใหม่ สู่ความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาประเทศ และขอยืนยันว่า การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูประเทศ ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง และทั้งหมดไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ไม่ได้ควบคุมใคร แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
 
 
1 สิงหาคม 2560
 
ใช้ม.44 เปิดตำแหน่งใหม่ปลอบใจข้าราชการไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง เพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย
 
หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 36/2560 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจําส่วนราชการโดยให้เหตุผลประกอบการออกคำสั่งฉบับนี้ว่า “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศและการปฏิบัติราชการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยนําศักยภาพของข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกําลังใจให้แก่ข้าราชการที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น แต่ยังไม่มีโอกาสก้าวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ภายใต้กฎ ระเบียบ หรือคําสั่งที่มีอยู่ จึงจําเป็นต้องแก้ปัญหาข้อจํากัดดังกล่าวเพื่อประโยชน์ข้างต้น”
 
โดยให้มีตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจําส่วนราชการ เพื่อใช้เป็นอัตราหมุนเวียนเฉพาะตัว รวม 10 ตําแหน่ง แบ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิประจําส่วนราชการระดับกระทรวงหรือกรม จาก ซี 10 ขึ้นเป็น ซี 11 จํานวน 5 ตําแหน่ง โดยให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหาร ระดับสูง เทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง รับเงินประจําตําแหน่ง 21,000 บาท และผู้ทรงคุณวุฒิประจําส่วนราชการระดับกรม จากซี 9 ขึ้น ซี 10 จํานวน 5 ตําแหน่ง โดยให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหาร ระดับสูง เทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมรับเงินประจําตําแหน่ง 14,500 บาท โดยมีการกำหนดให้คำสั่งฉบับนี้สิ้นสุดลงเมื่อ คสช. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ คือหลังมีการเลือกตั้งครั้งแรกตาม รัฐธรรมนูญ 2560
 
 
ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.4 ชั่วโคตร ปราบข้าราชการโกง จ่อ คลอด ก.ม.ลูก รองรับ 
 
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยมีที่มาจาก สปท. ซึ่ง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ระบุว่า กฎหมายนี้เป็นผลงานชิ้นโบแดง กฎหมายนี้เป็นความตั้งใจที่รัฐบาลจะให้ข้าราชการมีความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยจะบังคับใช้กับข้าราชการทุกคน ทุกตำแหน่ง ข้าราชการการเมือง รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือเอกชนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการของรัฐ จะดำเนินการทุกระดับพร้อมคู่สมรส ทั้งจดทะเบียน หรือไม่ แต่ต้องพิสูจน์ทราบได้ว่าใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และครอบคลุมไปถึงญาติ 4 ลำดับ คือ 1.ผู้สืบสันดาน 2.บุพการี 3.คู่สมรสของบุตร และ 4.พี่น้อง และบุตรบุญธรรม
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
รัฐบาลจ่อตั้ง ‘ซุปเปอร์บอร์ด’ รับ 2 ก.ม.ยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปประเทศ 
 
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในที่ประชุม ครม.ว่า หลังจากประกาศ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 จะมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานและรองประธาน และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 ตำแหน่ง ซึ่งจะต้องมีการแต่งตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จะเป็นคณะกรรมการย่อย 11 คณะ โดยแต่ละคณะจะมีคณะกรรมการ 15 คน โดยจะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน 
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
3 สิงหาคม 2560
 
สนช. เห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง อีกครั้ง ตามร่างที่ กมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเสนอ เพิ่มโทษไพรมารีโหวต แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ...  สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง นั้น ผ่านวาระ 3 จาก สนช. ไปแล้ว แต่เนื่องจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)  ได้ส่งข้อโต้แย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว มายัง สนช. จึงทำให้ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย (สนช. กกต. กรธ.)  เพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยสาระสำคัญของข้อโต้แย้ง มี 4 ประเด็นหลักคือ 
 
1.การเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคเพื่อคัดสรรส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยระบบไพรมารีโหวต  ยังไม่มีมาตรการจัดการหากเกิดการทุจริต 
2.การกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งลำดับ 1 ในระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสิทธิการลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของหัวหน้าพรรคการเมือง
3.การกำหนดให้จังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วม จะส่งผลให้พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไม่ว่าเพราะเหตุใด ไม่สามารถจัดให้สมาชิกเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้  ย่อมเป็นการตัดสิทธิพรรคการเมืองไม่ให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 
4.การกำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่กฎหมายลูกนี้มีผลบังคับใช้ หากพรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตในจังหวัดนั้น ทำให้พรรคใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าได้เปรียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก   
 
โดยกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ว่า จากการพิจารณาประกอบข้อโต้แย้งดังกล่าว มีมติเห็นควรปรับแก้ใน 2 ประเด็น ได้แก่ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองสามารถลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ได้ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแบบแบ่งเขต ขณะเดียวกันให้มีบทลงโทษกรณีทุจริตไพรมารีโหวตเพิ่มเข้ามา โดยให้แบ่งโทษเป็น 4 ระดับ โทษสูงสุดถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี  แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค มุ่งเน้นลงโทษหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่หากพบว่าผู้สมัครมีความผิดด้วย ก็จะมีความผิดตามมาตรา 51/3  
 
 
สนช.มีมติ 211 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเหตุผลที่ต้องตรา พ.ร.บ.เนื่องจากต้องการกำหนดขอบเขตของนิยามคำว่า "หนี้สาธารณะ" ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ อำนาจหน้าที่ของสำนักงานหนี้สาธารณะ รวมทั้งแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศและหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
 
กมธ.วิสามัญฯ งบประมาณ 2561 เผยปรับลดงบประมาณไปแล้ว 8,193 ล้านบาท คาดพิจารณาทุกหน่วยงานแล้วเสร็จ 7 ส.ค. นี้
 
พลเอกชาตอุดม ดิตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า กมธ.ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงและหน่วยงานในกำกับ เสร็จสิ้นไปแล้ว 19 กระทรวง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณในส่วนแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ และแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยเหลือในส่วนของงบประมาณส่วนราชการที่ไม่สังกัดนายกรัฐมนตรี กระทรวง สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ คาดว่าวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะพิจารณาเสร็จสิ้นทุกหน่วยงาน เบื้องต้นได้มีการพิจารณาปรับลดงบประมาณจำนวน 8,193 ล้านบาท 
 
 
สนช.ส่งร่าง ก.ม.อาญานักการเมือง ถึงมือ 'บิ๊กตู่' แล้ว รอนำทูลเกล้าฯ
 
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากกรณีที่ สนช.ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปแล้ว และ สนช.ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้พิจารณาว่า มีบทบัญญัติใดที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 267 แต่ปรากฏว่า กรธ.ไม่ได้มีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ขัดหรือไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้ สนช.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้ส่งไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ดำเนินการตามมาตาม 81 นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.
 
ที่มา: ไทยรัฐ