6 สิงหาคม 2560
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ส คล้ายร่างเดิม แต่มีเปลี่ยนแปลงบางประเด็น
นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ. ) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า จากการพิจารณาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรธ. ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการในการเลือกตั้งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่ายังคงเป็นไปคล้ายร่างเดิมเพียงแต่เพิ่มเติมในบางประเด็น คือ ให้เเต่ละเขตกำหนดหมายเลขบัตรเลือกตั้งเอง โดยพรรคการเมืองจะไม่มีหมายเลขแล้ว และให้มีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งหลังปิดหีบเลือกตั้งเช่นเดิม ส่วนโทษสำหรับผู้ไม่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในการเมืองทุกระดับ รวมไปถึงไม่สามารถสมัครเข้ารับการเลือกสรรในองค์กรอิสระ ในส่วนของการสมัครรับเลือกตั้งนั้นจะไม่ให้ยื่นใบสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจอนุโลมให้ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หากมีปัญหาหรือกระทำการยื่นตรงไม่ได้ สำหรับหลักฐานการสมัครนั้น ให้ใช้หลักฐานการแสดงภาษีเงินได้ 3 ปีย้อนหลัง โดยมีค่าธรรมเนียมสมัคร 10,000 บาท กรณีผู้สมัครคนใดได้เสียงเกิน 5% จะได้รับเงินคืน 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ใช้ตามเดิม ส่วนเรื่องการหาเสียงออนไลน์ ได้ข้อสรุปให้ทำได้แต่ต้องแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ทราบก่อนและดำเนินการตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กรธ. ยังเสนอไม่ให้นำเสนอนโยบายต่อสาธารณะในรูปแบบโต้วาที ส่วนวิธีการเลือกตั้งกำหนดตามมาตรา 61 ว่า ให้ลงคะเเนนด้วยเครื่องลงคะเเนน เพราะ ป้องกันการทุจริตได้ดีกว่าเดิมและมีใช้จ่ายน้อยลง ทั้งนี้คะแนนที่ลงให้เก็บเป็นความลับส่วนบุคคล ทั้งนี้ กรธ. กำหนดเพิ่มระยะเวลาการลงคะเเนนเลือกตั้ง จากเดิม 08.00 - 15.00 น. เป็น 08.00 - 16.00 น.
8 สิงหาคม 2560
ประธาน กรธ. ยืนยันระบบแยกเบอร์ รายเขต ไม่มีปัญหาการนับคะแนนและไม่ทำให้ประกาศผลเลือกตั้งล่าช้า
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ยกเลิกเบอร์ แล้วให้ใช้ชื่อพรรคหรือโลโก้พรรคแทน เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้งว่า ส่วนตัวเห็นควรกำหนดให้ใช้เบอร์เหมือนเดิมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่บางคนอาจไม่รู้หนังสือและส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการกากบาทเลือกหมายเลข ทั้งนี้ บัตรเลือกตั้งในระบบที่ กรธ.เสนอจะมีขนาดใหญ่และเป็นบัตรเดียว สามารถใส่ชื่อและโลโก้ของพรรคเข้าไปได้ จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการพิมพ์บัตรเลือกตั้งในแต่ละเขต อย่างไรตาม ถึงการใช้ระบบแยกเบอร์ รายเขต ซึ่งต่างจากการกำหนดหมายเลขผู้ลงสมัครแบบเขตเดียว เบอร์เดียว อาจทำให้การรวมคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบ่งเขต เพื่อนำมาใช้คำนวณสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เกิดปัญหา และอาจทำให้การประกาศผลเลือกตั้งล่าช้าออกไปหรือไม่ มีชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า การเลือกตั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้พรรคเดียวเบอร์เดียวตาม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนตัวจึงเห็นว่า ระบบแยกเบอร์ รายเขต จะไม่ทำให้การรวมคะแนนมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะมีทั้งการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง จากนั้นเป็นการนับคะแนนรวมจากทุกหน่วยเลือกตั้งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เขตเลือกตั้ง และคะแนนจะถูกส่งเข้ามาที่ส่วนกลาง ที่จะสามารถระบุได้ว่าแต่ละพรรคได้คะแนนเท่าใด ซึ่งในอดีตเคยมีการนับคะแนนรูปแบบนี้ ซึ่งอาจทำให้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการล่าช้าจากเดิมเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน
หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ ม. 44 ตั้งบุคคลภายนอกนั่งอธิกการบดีมหาวิทยาลัยได้
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแก้ให้การปฏิรูปการศึกษามีความต่อเนื่อง ไม่เกิดความล่าช้าในการบริหาร จึงให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราขการหรือพนักงานของมหาวิทยาลัยสามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเทีนบเท่ากับคณะได้
หัวหน้า คสช. ใช้ ม. 44 ปรับโครงสร้าง คณะกรรมการ ปปง.
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 38/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นำไปสู่การป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่ทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจของประเทศ สาระสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง คณะกรรมการ ปปง. ใหม่ ประกอบด้วย ผู้ทรวงวุฒิ 4 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการ ปปง. เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ
10 สิงหาคม 2560
มติ สนช.187 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินฯ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบการชำระเงิน พ.ศ. .... เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 87 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 191 คน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางมาตรา เช่น กำหนดนิยาม "เงินอิเล็กทรอนิกส์" และกำหนดห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลง ลัก กรรโชก รีดไถ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอกหรือรับของโจร ไม่ว่าจะมีการรอลงโทษหรือไม่ก็ตาม และบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหรือทำหน้าที่ หรือผู้มีอำนาจจัดการธุรกิจระบบการชำระเงิน ส่วนความสำคัญในการตราพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลระบบการชำระและบริการการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทันต่อความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแกลงอย่างรวดเร็ว
สนช.ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเรื่องด่วน ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับ การเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผลการลงคะแนนปรากฏว่า บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1.ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ (ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน) 2. พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ (ด้านกฎหมาย) 3. อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป (ด้านกฎหมาย) 4. จินดา มหัทธนวัฒน์ (ด้านบัญชี) 5. ชนะทัพ อินทามระ (ด้านการตรวจสอบภายใน) 6. นายระยุทธ ปั้นน่วม (ด้านการเงินการคลัง) และ 7. สรรเสริญ พลเจียก (ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน) ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
11 สิงหาคม 2560
สมาคมกีฬากอล์ฟยื่นหนังสือถึงปธ.สนช. เกรงพ.ร.บ.ภาษีที่ดินกระทบกิจการสนามกอล์ฟเอกชน
พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล นายกสมาคมสนามกอล์ฟไทยและคณะยื่นหนังสือต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสนามกอล์ฟเอกชน เพราะร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านสภาจะทำให้สนามกอล์ฟเอกชนจะต้องเสียภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี จึงเรียกร้องให้พิจารณาการลดหรือยกเว้นการเสียภาษีที่ดินของสนามกอล์ฟเอกชน โดย พรเพชร กล่าว่าจะส่งมอบหนังสือฉบับนี้ให้กับประธานคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ต่อไป
ประธาน สนช. ยังไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินตีความ ว่าขัด รธน.หรือไม่
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่ายังไม่ได้ส่งคำร้องของ สนช. จำนวน 34 คน เพื่อขอให้พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะต้องรอการโต้แย้งของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ ผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะมีการโต้แย้งมาหรือไม่ ถ้าหากไม่มีการโต้แย้งมาจึงจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และระบุว่าคำร้องดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นต่างภายใน สนช.ไม่ได้มีความขัดแย้งกันเอง และเป็นสิทธิ์ของสมาชิก สนช.ในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นอกจากนี้ พ.ร.ป.ที่ สนช.ส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในตอนนี้มีทั้งหมด 3 ฉบับคือ พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สนช.มีมติ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.... ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 188 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 192 คน ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ปี 2543 เพื่อให้มีการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไของค์ประกอบและหน้าที่อำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ด้านสมาชิก สนช. มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เช่น ควรมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเอส.เอ็ม.อีในสถาบันการศึกษา การกำหนดบทบัญญัติในการกำกับ ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการใช้งบประมาณ และควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย