NLA Weekly (12-18 ส.ค. 60) สนช. มีมติเอกฉันท์ เซตซีโร่ กสม.

NLA Weekly (12-18 ส.ค. 60) สนช. มีมติเอกฉันท์ เซตซีโร่ กสม.

เมื่อ 20 ส.ค. 2560
14 สิงหาคม 2560
 
34 สนช. เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความ ร่าง พ.ร.ป. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุไม่ยืดระยะเวลาโรดแมป
 
สมชัย แสวงการ เลขาธิการวิป สนช. กล่าวถึงประเด็นการเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)ตีความ ร่าง พ.ร.ป. ผู้ตรวจการแผ่นดินของ สนช. 34 คน ว่า ต้องรอว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นข้อโต้แย้งหรือไม่ หากไม่มีข้อโต้แย้ง ก็จะยื่นให้ ศาล รธน. ตีความ ซึ่งในขณะนี้ สนช. มีความเห็น 2 ทาง คือ การทำเรื่องรีเซทผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมอบสิทธิ์ให้กรรมการสรรหานั้นทำได้ แต่มีความเห็นว่าผู้แทนที่เป็นกรรมการจากองค์กรอิสระ มาวินิจฉัยองค์กรอิสระด้วยกันจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกันหรือไม่ และอาจเกิดความไม่เป็นธรรมในชั้นกรรมการสรรหา โดยที่ประชุม สนช. ได้ปรับตามข้อเสนอ และอีกความเห็นหนึ่งคือ สนช. มีสิทธิพิจารณาแทนกรรมการสรรหา ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 273 หรือไม่ จึงมีความเห็นว่าควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยในประเด็นนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีความแตกแยกภายใน สนช. ด้วยกันเองแน่นอน เพราะเป็นความสวยงามด้วยเหตุผล และชอบด้วยกฎหมายในการยื่น และย้ำว่ากระบวนการนี้ไม่ได้เป็นการยืดระยะเวลาโรดแมปออกไป แต่กลับทำให้ระยะเวลานั้นสั้นลงอีกต่างหาก 
 
 
15 สิงหาคม 2560
 
ครม. เห็นชอบ คณะ กก. ปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ชุด 
 
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งหมด 11 ชุด ประกอบด้วย 
 
1. ด้านการเมือง  เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน  ธีระภัทร์ เสรีรังสรรค์ พรชัย ตระกูลวรานนท์ วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย นรรัตน์ พิมเสน วันชัย สอนศิริ ฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รวี ประจวบเหมาะ เป็นกรรมการ
 
2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กฤษฎา บุญราช เป็นประธาน คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ บัณฑูร ล่ำซำ พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ วิบูลย์ สงวนพงศ์ เบญจวรรณ สร่างนิทร พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ถวิล เปลี่ยนศรี กานต์ ตระกูลฮุน อาศิส อัญญะโพธิ์ ประหยัด พวงจำปา สุรพงษ์ มาลี เป็นกรรมการ
 
3.ด้านกฎหมาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ คำนูณ สิทธิสมาน สุขุมพงศ์ โง่นคำ นันทวัฒน์ บรมานันท์ สุดา วิศรุตพิชญ์ ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ประภาศ คงเอียด พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ เป็นกรรมการ
 
4.ด้านกระบวนการยุติธรรม อัชพร จารุจินดา เป็นประธาน คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สราวุธ เบญจกุล วันชัย รุจนวงศ์ ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร สงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ตระกูล วินิจนัยภาค พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ เป็นกรรมการ
 
5.ด้านเศรษฐกิจ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อิสระ ว่องกุศลกิจ เทวินทร์ วงศ์วานิช ณฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ทวีศักดิ์ กออนันตกูล สว่างธรรม เลาหทัย ชาติศิริ โสภณพนิช สมชาย หาญหิรัญ ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล เป็นกรรมการ
 
6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอยล จิตรดอน เป็นประธาน บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ขวัญชัย ดวงสถาพร ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สัญชัย เกตุวรชัย ภาวิญญ์ เถลิงศรี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ลดาวัลย์ คำภา เป็นกรรมการ
 
7.ด้านสาธารณสุข นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย สมชัย จิตสุชน พาณิชย์ เจริญเผ่า นพ.พลเดช ปิ่นประทีป นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นพ.โสภณ เมฆธน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล เป็นกรรมการ
 
8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จิระชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ธงชัย ณ นคร ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ประภา เหตระกูล ศรี นวลนัด ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ เสรี วงษ์มณฑา กนกทิพย์ รชตะนันทน์ สุทธิชัย หยุ่น สมหมาย ปาริจฉัตต์ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เป็นกรรมการ
 
9.ด้านสังคม ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายวิเชียร ชวลิต วินัย ดะห์ลัน อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ สมเดช นิลพันธุ์ สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ไมตรี อินทุสุต ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ เป็นกรรมการ
 
10.ด้านพลังงาน พรชัย รุจิประภา เป็นประธาน เสมอใจ ศุขสุเมฆ มนูญ ศิริวรรณ ดุสิต เครืองาม บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ดนุชา พิชยนันท์ กวิน ทังสุพานิช เป็นกรรมการ
 
11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน กล้านรงค์ จันทร์ทิก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เจษฎ์ โทณวณิก เพิ่มพงษ์ เชาวลิต มานะ นิมิตรมงคล วิชา มหาคุณ วิชัย อัศรัสกร พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อนุสิษฐ คุณากร อุทิศ ขาวเธียร ประยงค์ ปรียาจิตต์ เป็นกรรมการ 
 
รวมทั้งหมด 120 คน และยังไม่ได้แต่งตั้งอีก 45 คน ซึ่งจะพิจารณาในการแต่งตั้งเพิ่มเติมต่อไป โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี และต้องดำเนินการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด คาดการณ์ว่าแผนปฏิรูปฉบับแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2561 
 
 
16 สิงหาคม 2560
 
สนช. เชื่อมั่นว่า รายชื่อกรรมการปฏิรูปเป็นที่ยอมรับของสังคม
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า รายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ชุดที่เพิ่งแต่งตั้งนั้นเป็นที่ยอมรับของสังคม น่าจะทำหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศได้ดี ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการนั้นมีกรอบเวลา และรัฐธรรมนูญคอยกำกับอยู่ว่าจะต้องปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยจะนำแนวคิดของการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาศึกษาและเป็นแนวทางในการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งไม่น่าจะเกิดปัญหาหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะการปฏิรูปจะต้องเป็นไปตามกฏหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูป และยังกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย ทั้งนี้สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นทำหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 11 ชุดให้เป็นไปตามกฎหมายปฏิรูป 
 
 
17 สิงหาคม 2560
 
สนช. มีมติเอกฉันท์ เซตซีโร่ กสม. 
 
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ.... วาระสาม ด้วยเสียงเห็นชอบ 199 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้คือ การกำหนดคุณสมบัติและกระบวนการสรรหา กสม. ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและเป็นไปตามหลักการปารีส และมีการอภิปรายมาตรา 60 ในบทเฉพาะกาลเรื่องสถานะของ กสม. ชุดปัจจุบัน ผลการอภิปรายปรากฎว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเฉพาะมาตรา 60 ทั้งหมด 177 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง ซึ่งจะส่งผลให้ กสม. ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งหลังจาก ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวประกาศใช้ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่า ประธานกสม. และ กสม.ที่แต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการสรรหา กสม. ชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 320 วัน หลังจากนี้ประธาน สนช. จะส่งร่างให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ กสม. พิจารณาถึงความชอบด้วยเจตนารมภ์ของรัฐธรรมนูญ หากมีข้อโต้แย้งให้ส่งข้อโต้แย้งภายใน 10 วัน หากไม่มี ก็ให้จัดตั้งคณะกรรมมาธิการร่วม เพื่อที่จะนำส่งให้นายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 
 
 
สนช. รับหลักการ กม. 4 ชั่วโคตร นิยาม "คู่สมรส" กินความกว้างถึง กิ๊ก ชายรักชาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.... หรือกฎหมาย 4 ชั่วโครต ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 150 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 7 เสียง และจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ จำนวน 29 คน โดยมีการกำหนดแปรญัตติ 15 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน เหตุผลในการร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันการทุจริต และสร้างความชัดเจนของผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนหรือผลประโยชน์ส่วนรวม ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับ นิยาม "คู่สมรส" ว่ากินความไปถึงขนาดไหน ซึ่ง วิษณุ เครืองาม ได้ลุกขึ้นชี้แจงด้วยตัวเองว่า คู่สมรสนั้นรวมไปถึงความสัมพันธ์นอกสมรส กิ๊ก หรือชายรักชาย และเพื่อนสนิทก็ถูกรวมอยู่ในคู่สมรส นอกจากนี้ สมาชิกยังอภิปรายถึงคำจำกัดความของ เจ้าหน้าที่รัฐว่ายังมีความหมายคลุมเครือ อาจก่อให้เกิดปัญหาในการตีความ อาจทำให้ภาคเอกชนเกิดความไม่มันใจในการร่วมมือในโครงการประชารัฐก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้โครงการประชารัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้สมาชิก สนช. บางส่วนไม่เห็นด้วยที่ห้ามข้าราชการที่เกษียณอายุไม่ถึง 2 ปี เป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาภาคเอกชน โดยให้เหตุผลว่า คนที่มีอายุ 60 ปีก็มาความสามารถและยังเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนอยู่ 
 
 
สมชัย ส่งการ์ดเชิญ 3 องค์กร ร่วมชมการสาธิตบัตรเลือกตั้ง ปัดแกล้งให้เกิดปัญหา 
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ได้มีการจัดประชุมผู้รับผิดชอบในการทำงานของ กกต. พร้อมประเมินผลการทำงานในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามตัวชี้วัดหรือไม่ นอกจากนี้ สมชัย กล่าวว่า ได้เชิญ 3 องค์กร ให้ร่วมชมการสาธิตบัตรเลือกตั้ง เพื่อรับฟังคำแนะนำในการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น และชี้แจ้งว่าการสาธิตนี้เป็นไม่ได้เป็นการแกล้งให้เกิดปัญหา เพื่อให้ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกเลิกระบบดังกล่าว ซึ่งการสาธิตบัตรเลือกตั้งนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2560 โดยบัตรเลือกตั้งจะระบุหมายเลขผู้สมัคร ชื่อผู้สมัคร และโลโก้ชื่อพรรคการเมือง สมชัยให้ความเห็น กรณีที่ กรธ.อาจจะไม่ใส่ชื่อผู้สมัครลงไปในบัตรเลือกตั้งนั้น น่าจะเป็นประโยชน์เพราะว่าบัตรเลือกตั้งดังกล่าวนั้น เป็นการเลือกทั้งบุคคลและพรรค และหลังจากการสาธิตนี้อาจจะเสนอให้ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป เพราะในขณะที่ทำการร่างกฎหมายยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ จึงต้องออกแบบให้ดีที่สุด และเป็นประโยชน์กับประชาชนที่สุด
 
 
18 สิงหาคม 2560
 
สรส. ยื่นหนังสือ สนช. ยับยั้งร่าง พ.ร.บ. แปรรูปรัฐสู่รัฐวิสาหกิจ
 
กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ประกอบ ปริมล เลขาธิการ สรส. กล่าว่า จากการระดมความห็นของ สรส. และจัดเวทีวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยนักกฎหมาย นักวิชาการ และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชน มีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. แปรรูปรัฐฯ นั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมภ์ของรัฐบาลที่เคยแถลงต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มเห็นด้วยที่จะให้มีการแปรรูปรัฐเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงหาผลประโยชน์ สามารถตรวจสอบได้ นำไปสู่การลดความเเหลื่อมล้ำ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของรัฐบาล สรส. และเพื่อเจตนารมภ์ร่วมกันที่ดี ในการร่วมปฏิรูปรัฐที่มีความโปร่งใส และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน