NLA Weekly (26 ส.ค. - 1 ก.ย. 60): ครม. แต่งตั้ง คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ ด้าน สนช. ผ่านฉลุย พ.ร.บ. งบปี 61 โดยไม่แตะงบ กห.-มท.

NLA Weekly (26 ส.ค. - 1 ก.ย. 60): ครม. แต่งตั้ง คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ ด้าน สนช. ผ่านฉลุย พ.ร.บ. งบปี 61 โดยไม่แตะงบ กห.-มท.

เมื่อ 3 ก.ย. 2560
ในรอบสัปดาห์นี้ ไฮไลท์ไปอยู่ที่การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหลายคนเป็นคนหน้าซ้ำที่รับตำแหน่งในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ครม. คณะกรรมการปฏิรูปฯ หรือบรรดาที่ปรึกษา ป.ย.ป. ด้าน สนช. ก็มีการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ โดยกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบในวาระ 3 คือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ส่วน กรธ. ก็มีความคืบหน้าในกฎหมายลูกหลายฉบับ รวมทั้งต้องจับตา ปมเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวางบรรทัดฐานอย่างไร 
 
29 สิงหาคม 2560
 
ประธาน กรธ. ระบุ กรณีคุณสมบัติผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน ยื่นเรื่องแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ที่ให้ดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ต้องรอคำชี้แจงและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องของกรรมาธิการของ สนช.ที่จะส่งเอกสารและส่งตัวแทนไปชี้แจง ทั้งนี้ตามร่างเดิม กรธ.ได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เว้นแต่บุคคลที่ขาดคุณสมบัติจะให้พ้นวาระ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการ แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่าอย่างไร หากยืนตามหลักการนี้ ก็จะใช้เป็นบรรทัดฐานในการยกร่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่นด้ย แต่หากศาลชี้เป็นอย่างอื่น ก็ถือเป็นอีกทางเลือกทางหนึ่งซึ่งก็เป็นเรื่องของ กรธ.และ สนช.ที่จะเลือกพิจารณาตามความเหมาะสม
 
ประธาน กรธ.กล่าวยืนยันด้วยว่า การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจะยึดตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เว้นแต่กรณีพิเศษ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เสนอให้มีการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งหมด
 
 
าชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 12 ด้าน
 
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2560 มีมติให้แต่งตั้ง รองประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ นอกเหนือจากกรรมการ โดยตําแหน่งที่มีอยู่แล้ว ดังนี้
 
1. ให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองประธานกรรมการ 
 
2. ให้ผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
 
(1) นายกานต์ ตระกูลฮุน (2) นายชาติศิริ โสภณพนิช (3) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ (4) นายบัณฑูร ล่ำซํา (5) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง (6) นายพลเดช ปิ่นประทีป (7) นายวิษณุ เครืองาม (8) นายศุภชัย พานิชภักดิ์ (9) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (10) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (11) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (12) นายอุตตม สาวนายน
 
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมต่อไป
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
วิษณุ เผยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศถกวางกติกา พรุ่งนี้ คาด แผนปฏิรูปเสร็จ เม.ย.61
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุผลการแต่งตั้ง 5 รัฐมนตรี เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่า ในระยะเร่ิมต้น หลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง จึงให้ตั้งแบบนี้ไปก่อน เพราะแต่ละคนเป็นคนที่ทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านมาก่อนเหมือนเป็นเจ้าของเรื่องอยู่ก่อนแล้ว ก็จะให้มาทำต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อผ่านไปสักระยะการจะลาออก หรือปรับเปลี่ยนตัวบุคคลไม่ยากอะไร อย่างไรก็ตาม บุคคลอื่นที่มาจากภาคส่วนอื่นๆ เพื่อมาเสริมงานในด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนอีก 5 ตำแหน่งที่เหลือที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง จะได้พิจารณาบุคคลที่เหมาะสมต่อไปรวมถึงนักการเมือง และขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีพิจารณา 
 
เมื่อถามว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่และปรับเปลี่ยนตัวบุคคล จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติสะดุด หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่สะดุด เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพราะมันเป็นแผน เมื่อแผนเดินไปแล้วก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวบุคคลได้ ตัวบุคคลเอาไว้เพียงทำหน้าที่รักษาแผนเท่านั้น
 
วิษณุ ยังกล่าวว่า วันที่ 30 สิงหาคม ตนจะเป็นตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นประธานในการประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและคณะปฏิรูปการศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อวางกติกาในการทำงานว่า แผนปฏิรูปต้องมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งแผนต่างๆ จะต้องนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้ความเห็นชอบภาย ใน 3 เดือน จึงจะเดินหน้าต่อได้ซึ่งเป็นแนวทางวิธีการทำงานปฏิรูป ก่อนไปเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยคาดว่า แผนปฏิรูปจะแล้วเสร็จในเดือน เมษายน 2561
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
30 สิงหาคม 2560
 
กรธ.คาด ก.ม.ลูก 'ส.ว.-ส.ส.' เสร็จต้น ธ.ค. สวน กสม.ปมจ้องลดเครดิต
 
นรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ ว่า ขณะนี้ กรธ.ได้ส่งให้ สนช.แล้ว 4 ฉบับส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.ที่ผ่านชั้น สนช. แต่ กสม.ได้ส่งความเห็นแย้งมาที่ สนช. เพื่อขอตั้งคณะ กมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายนั้น กรธ.ส่งคนไปเป็น กมธ.ร่วม 5 คน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้ายการตรวจเงินแผ่นดินที่ กรธ.ได้เสนอต่อ สนช. วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ทาง สนช.จะพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนร่างที่เสนอมามีจำนวน 233 มาตรา ส่วนอีก 2 ฉบับ ด้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. คาดว่าจะเสร็จทันตามกำหนด 240 วัน คือ ประมาณต้นเดือน ธ.ค.นี้
 
ด้าน อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวแถลงชี้แจงประเด็นที่ กสม.ทำความเห็นแย้งไปยัง สนช.ว่า ยืนยันว่า กรธ.ไม่เคยพาดพิง ลดความน่าเชื่อถือกสม.ชุดปัจจุบัน เราปรับแก้ไขสถานะ กสม. เพื่อให้ได้รับการยอมรับ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการแก้ไขข้อบกพร่องที่ยังมีอยู่อย่างรอบด้านยังมีกระบวนการได้มาที่ยังไม่ได้มาตรฐานยังอยู่ ส่วนการจะกำหนดให้ กสม.ชุดปัจจุบันอยู่ในวาระ หรืออยู่ครึ่งวาระต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหา กสม.ชุดใหม่นั้น ตรงนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แม้ทาง กสม.จะระบุว่าหลักการปารีสไม่ได้เป็นกฎหมายแต่ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาความน่าเชื่อถือที่ต้องนำมาประกอบด้วย ส่วนการเซตซีโร่ กสม.นั้น เป็นไปเพื่อยกระดับองค์กรให้เป็นที่ยอมรับตามเกณฑ์ของสากล.
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
กรธ.ยืนยันหลักการเซ็ตซีโร่กรรมการ กสม. เหตุที่มาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากล
 
อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... ของ กรธ. กรณีให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดเดิม พ้นจากตำแหน่ง หรือ เซ็ตซีโร่ และให้รักษาการไปจนกว่าจะมีการสรรหาคณะกรรมการ กสม.ชุดใหม่ ว่า เพื่อเป็นการยกระดับองค์กร กสม. เป็นการเฉพาะ เนื่องจาก กรธ.และ กสม.เห็นสอดคล้องกันว่า กรณีที่ กสม.ไทยถูกลดสถานะจากเกรดเอ เป็น เกรดบี นั้น แม้ว่าที่ผ่านมา กสม.ไทย ได้ชี้แจงที่มาของกรรมการ ต่อคณะอนุกรรมการการประเมินความน่าเชื่อถือขององค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ (International Coordinating Committee of National for the promotion and protection of Human right) มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีการนำประเด็นที่ กสม.ไทยชี้แจงไปพิจารณา เนื่องจากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มา จึงส่งผล กสม.ไทยถูกจัดให้อยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์ในการประชุมเวทีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Global Alliance of Nation Human Rights Institutions (GANHRI)) เท่านั้น ไม่มีสิทธิลงมติหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เนื่องจากที่มาของ กสม.ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ต่างประเทศใช้ประเมินว่าองค์กร กสม. มีความน่าเชื่อถือและได้มาตรฐานหรือไม่ และแม้ว่า กสม. ทักท้วงว่า หลักการปารีสไม่ใช่กฎหมาย แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐาน ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับสถานะ กสม.ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว
 
อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรธ. ไม่เคยลดความน่าเชื่อถือ กสม.ชุดปัจจุบัน และไม่เคยบอกว่า กสม.ชุดปัจจุบันไม่มีผลงาน แต่ กรธ.พยายามแก้ไขกระบวนการที่มาและคุณสมบัติ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องและเพื่อให้สถานะของ กสม.ไทย ได้รับการยอมรับจากองค์กรสากล ทั้งนี้ การให้ กสม.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปอีกครึ่งวาระนั้นหรือให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ จึงไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น การเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันจึงเป็นการยกระดับให้ กสม.ไทยเป็นที่ยอมรับตามหลักเกณฑ์ของสากล และเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอื่นมาก่อน ซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระแล้ว จึงไม่สามารถกลับเข้ามารับการสรรหาตามกระบวนการใหม่ได้อีก
 
 
กก.ปฏิรูป ตร.ลดหน้าที่ตำรวจ ถ่ายโอนภารกิจ 11 ด้าน ให้หน่วยอื่นใน 5 ปี
 
มานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจว่า ที่ประชุมหารือถึงปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 แสนกว่านายในประเทศไทยที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน แม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ให้ตำรวจ 3 นายดูแลประชาชน 1 แสนคน แต่เนื่องจากตำรวจไทยมีภารกิจด้านอื่นๆ มากมาย ทำให้ไม่สามารถบริการประชาชนได้เพียงพอ
 
ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันในหลักการให้ถ่ายโอนภารกิจตำรวจ 11 ด้านไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง อาทิ จราจร ป่าไม้ ท่องเที่ยว รถไฟ ทางหลวง แต่ต้องให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมตัวด้านบุคลากร งบประมาณให้พร้อม จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะใช้เวลาถ่ายโอนภารกิจ 11 ด้านได้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยไม่ต้องเอาตัวตำรวจไปอยู่ในหน่วยงานนั้นๆ ยกเว้นบุคคลนั้นมีความสมัครใจอยากไป ซึ่งสุดท้ายแล้ว ภารกิจตำรวจจะเหลือเพียงหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนเพียงอย่างเดียว
 
นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยงานบริการประชาชน เช่น การแจ้งความ ให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่วนมาตรการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจนั้น จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
'วิษณุ' ย้ำแผนปฏิรูปเสร็จ เม.ย. ปี 61 ยันไม่มีพิมพ์เขียว
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นประธานการประชุมประธานคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและการศึกษา
 
วิษณุ กล่าวก่อนการประชุมว่า จะหารือเพื่อกำหนดกลไกขั้นตอนงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านต้องจัดทำหลักเกณฑ์ปฏิรูป เสนอให้คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติพิจารณาภายช่วงกลางเดือนกันยายน คาดว่าขั้นตอนทำแผนปฏิรูปจะเสร็จสิ้นในเดือน เมษายนปี 2561 ยืนยันแผนไม่มีพิมพ์เขียว
 
เมื่อถามว่า ที่มีรายชื่อนักธุรกิจเป็นคณะกรรมการฯ จะไม่สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปทำทุกมติ คณะกรรมการของแต่ละชุดมีส่วนผสมของคนทุกรูปแบบ เพื่อทำงานให้เกิดความหลายหลาก
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
ศาล รธน.นัด 5 ก.ย.แถลงด้วยวาจา ปมวาระผู้ตรวจการฯ
 
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้อง กรณีที่ประธาน สนช.ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 36 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง(1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 56 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน
 
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำชี้แจงด้วยวาจา และให้ส่งความเห็นเป็นหนังสือของผู้แทนของสมาชิก สนช. ซึ่งเป็นผู้เสนอความเห็นฝ่ายเสียงข้างน้อย และผู้แทนของสมาชิก สนช.เสียงข้างมาก ปรากฏว่าประธาน สนช.ผู้ร้อง ได้ส่งความเห็นของทั้งสองฝ่ายเป็นหนังสือ โดยไม่มีผู้ใดมาศาล ศาลจึงมีคำสั่งรับความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวรวมไว้ในสำนวน และได้กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยพร้อมทั้งอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย คดีพอวินิจฉัยได้จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติและลงมติในวันอังคารที่ 5 กันยายน เวลา 11.00 น.
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
31 สิงหาคม 2560
 
พม.จัดเวทีประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.ประชาสังคม จ่อชง ครม.ไฟเขียว
 
กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน จำนวน 200 คน
 
เดช พุ่มคชา ประธานอนุกรรมการด้านฐานข้อมูล ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า เวทีรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ ในภาคประชาชนครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเป็นสัญญาณของการสร้างกระบวนการระดมความคิดเห็นที่มีตัวแทนภาคประชาชนจาก 4 ภาคของประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งพบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีทุกกลุ่มและมีความหลากหลาย และส่วนมากให้ความสำคัญกับนิยามขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะฝ่ายกลั่นกรองกฎหมายนั้นอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมนั้นตั้งขึ้นภายใต้เงื่อนไขได้บ้าง ซึ่งมีการถกเถียงกันเรื่ององค์กรแบบใดบ้างที่เป็นหรือไม่เป็น แล้ว พ.ร.บ.ฯ นี้จะเอื้อประโยชน์ต่อองค์กรใด
 
เดช พุ่มคชา กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีวัตถุประสงค์มุ่งส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ อันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กำหนดแนวทางการส่งเสริมภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง มีการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการดูแลสังคม ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ ภูมิภาค การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีจิตสาธารณะในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และชุมชน การสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความหลากหลายด้านพื้นที่ ประเด็น กลุ่มเป้าหมาย และสังกัด เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคม การจัดทำหรือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน
 
สุนี ไชยรส อนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกฎหมายที่จำเป็น ซึ่งผลจากการรับฟัง คือ ภาพรวมเห็นเครือข่ายประชาชนหลายกลุ่มมารวมตัวกัน เช่น เครือข่ายผู้หญิงเครือข่ายด้านศาสนา สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ ซึ่งเครือข่าย องค์กร หรือกลุ่มเหล่านี้เวลาทำงานจริงๆ นั้นจะทำแบบแยกส่วนแต่เมื่อเรามีการร่างกฎหมายขึ้นมา เราได้เห็น ได้ยินชัดว่าพวกเขาต้องการอะไร ดังนั้นหลังจากรับฟังวันนี้คณะอนุกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนากฎหมาย จะเสนอให้ คสป.กลั่นกรอง ก่อนจะเสนอนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
สนช.ไม่แตกแถว ผ่านงบรายจ่ายปี 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้าน ไม่แตะงบ กห.-มท.
 
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำนวน 65 มาตรา วาระ 2-3 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 พิจารณาเสร็จแล้ว โดยบรรยากาศการพิจารณาเรียงมาตรา วาระ 2 เป็นไปอย่างราบรื่น มีสมาชิกอภิปรายเพียง 3-4 คน อาทิ วัลลภ ตังคณานุรักษ์, เจตน์ ศิรธรานนท์, สมชาย แสวงการ ที่ท้วงติงการปรับลดงบประมาณในส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข แผนงานบูรณาการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่งบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ไม่มีสมาชิกคนใดลุกขึ้นมาอภิปรายท้วงติงแต่อย่างใด หลังจากที่พิจารณาวาระ 2 ครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติวาระ 3 ห้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ด้วยคะแนน 200 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เพื่อส่งเรื่องไปให้รัฐบาลประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาการพิจารณาตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น. เพียง 4 ชั่วโมง
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  มีมติเห็นชอบวาระรับหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 164 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 3 เสียง  พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว 30 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน   ระยะเวลาดำเนินการภายใน 50 วัน
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.  ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. .... ว่า กรธ. ได้แก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  พร้อมมุ่งที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ต่างมีอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจน โดย กรธ. ได้ใช้หลักการเพื่อแยกอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน แต่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น   โดยได้กำหนดให้อำนาจการตรวจเงินแผ่นดินเป็นของผู้ว่าฯสตง.เพียงผู้เดียว  ส่วนคตง.มีอำนาจเพียงวางนโยบายเท่านั้น  เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ   พร้อมให้ ผู้ว่าฯสตง. ร่วมประชุมกับ คตง. ได้ตลอด  แต่ไม่ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียง  เว้นแต่การพิจารณาเรื่องที่ให้คุณให้โทษ  ผู้ว่า สตง. ก็ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น   นอกจากนี้ในกรณีพบการทุจริตประพฤติมิชอบ หากพบหลักฐานที่ชัดเจน ก็ให้ ผู้ว่า สตง. สอบสวนเบื้องต้นได้  รวมถึงหากพบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถูกกล่าวหาว่าทุจริตก็สามารถเดินหน้าตรวจสอบให้แล้วเสร็จ  ก่อนส่งสำนวนให้ กรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป  อย่างไรก็ตาม กรธ. มอบหมายให้กรมบัญชีกลางเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายของสตง. ได้ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับมาตรฐานที่ สตง.ตรวจสอบหน่วยงานอื่น  เพื่อให้เกิดการตรวจสอบความโปร่งใสซึ่งกันและกัน
 
ขณะที่ สมาชิกสนช. ส่วนใหญ่สนับสนุนหลักการตาม ที่ กรธ.เสนอ แต่มีข้อสังเกตว่า สตง. ควรกำหนดนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่น ให้เป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างชัดเจน 
 
 
1 กันยายน 2560
 
สนช.ตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.ป.กสม
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ...(กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ) ตามมาตรา 267 วรรคห้า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จำนวน 11 คน ประกอบด้วยสัดส่วนของ กรธ. 5 คนได้แก่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์, พล.ต.วิระ โรจนวาศ, นางจุรี วิจิตรวาทการ นายนรชิต สิงหเสนี และนายเธียรชัย ณ นคร
 
ส่วนสัดส่วน สนช. 5 คน ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์, พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล, นางสุวิมล ภูมิสิงหราช, นายสมชาย แสวงการ และ นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. เพื่อพิจารณากรณีที่ประธาน กสม.ได้มีข้อโต้แย้งมาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ทั้งนี้ กำหนดการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับจากวันที่แต่งตั้ง
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ วอน สนช.ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... หวั่นรัฐวิสาหกิจถูกแปรรูป
 
พงษ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา รับยื่นหนังสือจากนายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และนายสาวิทย์  แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ขอให้ สนช.ยับยั้งร่างพ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จัดทำขึ้น เนื่องจากเห็นว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีหลายมาตราที่อาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และไม่สามารถป้องกันปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ 
 
ทั้งนี้ สรส. เห็นด้วยกับการทำให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตรวจสอบได้ รับผิดชอบ และคุ้มค่า ซึ่งรัฐวิสาหกิจถือเป็นความมั่นคงของรัฐที่มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน เป็นกลไกลดความเหลื่อล้ำในสังคม ไม่ควรถูกแปรรูปโอนขายให้นายทุนเอกชนที่มุ่งแสวงหาผลกำไร อีกทั้งร่างกฎหมายดังกล่าว ยังมีเนื้อหาขัดกับหลักการสากลหลายประการ และไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหลักการและเหตุผล อาทิ การให้บรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ขัดหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และขัดกับอนุสัญญาสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งเป็นการละเมิดสิทธิของลูกจ้างหรือพนักงานของบรรษัทวิสาหกิจที่กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ลูกจ้างพนักงานของบรรษัทไม่สามารถใช้สิทธิรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้ ดังนั้น สรส. จึงขอให้ สนช.พิจารณายับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ก่อน และส่งคืนให้รัฐบาลดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้านตาม มาตรา 77 และมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อไป
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 169 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 6 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 29 คน มาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สนช. 24 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน และระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน   
 
วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหาร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับมาตรการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจและรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน และการกำหนดกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ต้องมุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสมควรจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทนกระทรวงการคลัง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมระบุว่า กระบวนการในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีความรอบคอบและทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน  
 
ขณะสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นความตั้งใจในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เกิดการดำเนินงานที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรการที่เป็นการยอมรับและเป็นกฎหมายที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น แต่ยังมีข้อกังวลในหลายประเด็น อาทิ สัดส่วน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหา คนร. เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญ การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเพราะถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตามมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ดี หากสามารถดำเนินการตามหลักการที่กำหนด การทำงานของคณะกรรมการต่างๆที่จัดตั้งขึ้นมีความถูกต้อง โปร่งใส ซื้อสัตย์ ไม่แสวงหาผลประโยชน์กับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและดำเนินงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต