NLA weekly 2 - 8 ก.ย. 2560: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ร่างกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน ม. 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

NLA weekly 2 - 8 ก.ย. 2560: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ร่างกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน ม. 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อ 10 ก.ย. 2560
สัปดาห์ที่ผ่าน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้ม.44 ออกคำสั่งให้นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง รองนายกฯ และปลัดเทศบาลหยุดทำหน้าที่ ขณะที่สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถานบริการ เป็นกฎหมาย ขณะที่ในสัปดาห์หน้า มีคิวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ในวาระที่สาม 
 
4 กันยายน 2560
 
กมธ.3 ฝ่ายถกร่างพ.ร.ป.กสม.แขวนปมตัวแทนเอ็นจีโอร่วมสรรหา
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย) พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อโต้แย้งของประธานกสม. 6 ประเด็น สำหรับประเด็นที่กสม.โต้แย้งว่า มาตรา 11 วรรคห้า ที่กำหนดให้ในระหว่างที่ไม่มีกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนให้กรรมการสรรหาเท่าที่เหลืออยู่สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้นั้นไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกสม.เห็นว่ามาตรา 246 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ต้องการให้มีตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นกรรมการสรรหา ขณะที่ตัวแทนจากกรธ.ชี้แจงว่า การเขียนยกเว้นไว้ เพื่อให้กรรมการสรรหาที่เหลืออยู่สามารถดำเนินการสรรหาได้ทันที หากรอให้ครบจะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ 
 
ที่มา : เดลินิวส์
 
5 กันยายน 2560
 
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ร่างกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน ม. 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีที่ สมาชิก สนช. 36 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 56 ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันให้สามารถอยู่ต่อได้จนครบวาระ มีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  โดยคณะตุลาการมีมติเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สำหรับการส่งคำร้องของ สนช. 36 คน มีขึ้นหลังจากที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบวาระ 3 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่สมาชิก สนช. ผู้ยื่นคำร้อง อาทิ เจตน์ ศิรธรานนท์ เห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่บัญญัติเรื่องการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการในองค์กรอิสระแตกต่างจากร่างกฎหมายองค์กรอิสระอื่น เนื่องจากให้ประธานและคณะกรรมการอยู่ต่อได้จนกว่าจะครบวาระ ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องเซตซีโร่
 
 
36 สนช.เคลียร์รับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
 
เจตน์ ศิรธรานนท์ ในฐานะ 1 ใน 36 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 56 อาจขัดรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่างดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เจตนารมณ์ของสนช.ต้องการให้เกิดความชัดเจน เพราะเห็นว่าอาจมีประเด็นสุ่มเสี่ยงที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายต่อไปเป็นไปตามความเหมาะสมว่ากรรมการองค์กรอิสระชุดใดทำไมต้องเซตซีโร่ อย่างกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่มากขึ้น ดังนั้นคุณสมบัติจะต้องพิเศษ ขณะที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เพราะมีความเกี่ยวโยงกับสนธิสัญญาหรือหลักการปารีส จึงต้องเซตซีโร่  
 
 
6 กันยายน 2560
 
"ดีอี"ยันร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ยันไม่มี"ซิงเกิล เกตเวย์"  
 
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ว่า หลังจากกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) หารือผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมกับปรับเนื้อหาร่างกฎหมายแล้ว ได้ส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จากนั้นจะนำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้น กระทรวงดิจิตัลฯกำลังทำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในช่วงนี้ไปก่อน ด้วยการให้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน 
 
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า เนื้อหาหลักๆของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของทุกคนในสังคม เพราะในโลกดิจิตอลไม่มีใครที่จะว่างจากภัยโจมตีทางไซเบอร์ได้เลย โดยทุกประเทศต้องทำระบบรองรับและแก้ปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งการตรวจสอบภัยที่มาโจมตีทางไซเบอร์ การทำระบบปกป้องการโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร เป็นต้น จึงต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อมาช่วยปรามไม่ให้ทำ อีกทั้งต้องมีระบบการสืบสวนการโจมตีทางไซเบอร์ และการเยียวยากู้ระบบข้อมูลของหน่วยงานที่ถูกโจมตี อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่มีอะไรที่มาควบคุมเหมือนเป็นซิงเกิล เกตเวย์อย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน จึงขอรับประกันว่าทุกคนไม่ต้องกังวล ไม่มีอะไรที่มาควบคุม  ในทางตรงกันข้าม เรากำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลความเป็นส่วนตัวด้วย.  
 
 
กมธ.3ฝ่ายยอม"ประธานกสม."ให้เอ็นจีโอร่วมกก.สรรหา
 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา(กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย) ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อโต้แย้งของกสม.ในประเด็นเกี่ยวกับกรรมการสรรหากสม.ที่ร่าง พ.ร.ป.ที่สนช.ให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้น ใน มาตรา 11 วรรคสี่  ที่กำหนดหากพ้นกำหนดเวลาเลือกกรรมการสรรหาที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังไม่มีกรรมการสรรหาที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ให้กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ซึ่งวัส ติงสมิตร ประธานกสม. ได้ชี้แจงเหตุผลและยืนยันว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย ปรากฏว่าที่ประชุมได้มีการถกเถียงและเห็นคล้อยตามข้อโต้แย้งของประธานกสม.ว่ามีเหตุผลฟังได้ จึงได้มีแก้ไขว่า ในการสรรหากสม.จะต้องมีตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วยอย่างน้อย 1 คน จากเดิมให้กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่สรรหาได้เลย
    
 
7 กันยายน 2560
 
สนช.มีมติ ประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.สถานบริการ บังคับใช้เป็นกฎหมาย
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติประกาศให้ร่างพ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 185 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 189 คน สำหรับเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากได้มีการตราพ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยเป็นการเฉพาะ ประกอบกับได้มีการตราพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เพื่อควบคุมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพเป็นการเฉพาะด้วยแล้ว สมควรแก้ไข เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "สถานบริการ" ประเภท สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการไม่ให้รวมถึงสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
 
 
ประธาน กรธ. มั่นใจจัดทำร่างกฎหมายลูกเสร็จทันตามกรอบเวล
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.ป.ว่า ขณะนี้ กรธ. เหลือเวลาในการจัดทำร่างกฎหมายลูกฉบับที่เหลือค่อนข้างจำกัด โดยอยู่ระหว่างการเร่งจัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. .... ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างซับซ้อน อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ทาง กรธ. ก็สามารถส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่า กรธ.จะยังทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าร่างกฎหมายพ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เพื่อรองรับว่า หากต้องมีการปรับแก้ไขร่างพ.ร.ป. กรธ.ก็จะดำเนินการแก้ไขให้ โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่
 
 
8 กันยายน 2560
 
ม.44 สั่งนายกฯบางบัวทอง รองปลัดเทศบาลหยุดทำหน้าที่
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 39/2560 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 10 หัวหน้าคสช.จึงมีคําสั่งดังนี้ 1.ให้อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในเทศบาลเมืองบางบัวทองเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน  2.ให้วีระชัย ขันรุ่ง รองนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในเทศบาลเมืองบางบัวทองเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 3.ให้กัลยา มงคลสกุลกิจ รองปลัดเทศบาลเมืองบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหรือสถานที่ราชการอื่นในจังหวัดตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีกําหนด แต่ต้องไม่ใช่เทศบาลเมืองบางบัวทอง และให้ผวจ.นนทบุรีหรือผู้ที่ผวจ.มอบหมายเป็นผู้บังคับบัญชามีอํานาจมอบหมายการปฏิบัติงานตามความเหมาะสม นอกจากนี้ไม่ให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินประจําตําแหน่งและสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราว อีกทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบหรือสอบข้อเท็จจริงบุคคลเหล่านี้ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
 
 
ประธาน สนช.พร้อมพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปทันทีที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 คณะ ว่าหลังจากนี้แต่ละคณะจะกลับไปพิจารณาเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในแต่ละด้าน โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อนเสนอร่างกฎหมายแต่ละฉบับมายัง สนช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามา ทั้งนี้คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดกรอบการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยแต่ละคณะสามารถเสนอร่างกฎหมายกี่ฉบับก็ได้ ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาและจะหยิบยกร่างกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาก่อนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับความสำคัญและความสมบูรณ์ของเนื้อหากฎหมายด้วย