สัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้ ม.44 ออกคำสั่ง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1)ห้าม 12 สายการบินบินนอกประเทศ 2)ให้กระทรวงพลังงานสร้างสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่อนุรักษ์ 3)อนุโลม สปสช.จัดซื้อยา ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 4) ยกเลิกคนไทยกรอกใบ ตม. ส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ (กสม.) ตามที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเสนอ
11 กันยายน 2560
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ระบุยังไม่ได้ข้อสรุปจัดเก็บภาษีใช้น้ำหรือไม่
พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการพิจารณาพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า จากการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯได้เสนอเพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สำนักงาน กนช.) เป็นองค์กรกลางเพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำทั้งหมดซึ่งพบว่ามีด้วยกัน 42 หน่วยงาน เข้าด้วยกัน ส่วนในระดับพื้นที่ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในทุกมิติโดยให้เสนอต่อ กนช. ขณะที่ประเด็นการจักเก็บภาษีใช้น้ำนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องรอรับฟังอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายและจากรัฐบาลก่อน โดยพลเอก อกนิษฐ์ คาดว่าจะพิจารณาร่างพ.ร.บ..ทรัพยากรนำ้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ พร้อมยืนยันว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะไม่สร้างปัญหา และมีหลักประกันว่าประชาชนจะเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม
12 กันยายน 2560
รัฐบาลใช้ ม.44 สั่ง 12 สายการบินหยุดบินนอกประเทศ
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (12 ก.ย.) ว่า ในการประชุมร่วมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ ครม. ได้มีมติ เห็นชอบใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ให้อำนาจสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สั่งห้ามบริษัท องค์กรที่ไม่ได้รับใบอนุญาตการเดินอากาศนั้น ให้ระงับการเดินอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560-31 มกราคม 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำ และการจะตรวจสอบมาตรฐานการบินของ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่จะเดินทางมาตรวจในวันที่ 20-27 กันยายนนี้
งัด "ม.44" อำนวยความสะดวกกระทรวงพลังงาน สร้างสายส่งรับไฟฟ้าในพื้นที่อนุรักษ์ได้
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมคสช.เห็นชอบออกคำสั่งมาตรา 44 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอกรณีจำเป็นต้องสร้างสายส่งพลังงาน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่อุทยาน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อรองรับการจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากทั้งในและต่างประเทศ ให้ทันตามเวลาที่กำหนดใน 13 โครงการ โดยให้สามารถเข้าไปสร้างสายส่งในพื้นที่ดังกล่าวได้และดำเนินการขออนุญาตควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม หากไม่ดำเนินการสร้างสายส่ง เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆแล้วเสร็จอาจไม่มีไฟฟ้าส่งเข้ามาใช้ในพื้นที่ๆกำหนดได้ และบางกรณีอาจถูกปรับด้วยเช่นเดียวกัน
ประธาน กรธ. เผย การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของพรรคการเมือง
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มิได้บัญญัติข้อห้ามการตั้งรัฐบาลแห่งชาติไว้ การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้นขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะตกลงกันอย่างไร ซึ่งถ้าทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าจะให้สภาผู้แทนราษฎรไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงของพรรคการเมือง เพียงแต่การเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ต้องมาจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ซึ่งหากทำตามทุกขั้นตอนก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้เห็นว่าคำว่ารัฐบาลแห่งชาติต้องตีความให้ชัดเจนว่ามีความหมายว่าอย่างไร ดังนั้นขณะนี้จึงเร็วเกินไปที่จะพูดถึง อย่าพึ่งไปกังวล
ครม.ไฟเขียว ใช้ม.44 อนุโลม สปสช.จัดซื้อยา ถึงสิ้นเดือน ก.ย.
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคสช.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถบริหารจัดการยาเวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามโครงการพิเศษ หรือการจัดซื้อจัดหายาพิเศษ เช่น น้ำยาล้างไต ยาโรคเอดส์ ยากำพร้า ที่ทางการแพทย์ไม่ซื้อยามาสะสมไว้ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากให้สามารถดำเนินการช่วงระยะเวลาที่เหลือของเดือน ก.ย. ตั้งแต่ 12-30 ก.ย. จากนั้นให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ โรงพยาบาลเป็นผู้จัดซื้อเอง สืบเนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ติติงและขู่จะดำเนินการทางกฎหมายหากสปสช.ยังดำเนินการต่อ เพราะสปสช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดหาได้ตามระเบียบและกฎหมาย คสช.จึงอนุญาตตามที่ร้องขอมา.
13 กันยายน 2560
ม.44 ยกเลิกคนไทยกรอกใบ ตม.
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 สำหรับแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มใบ ตม.6 สำหรับการเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร ขณะที่บุคคลต่างด้าวยังต้องกรอกเหมือนเดิมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางที่เป็นคนไทย ซึ่งพบว่ามีปัญหาความล่าช้าในการผ่านเข้าเมือง โดยมีสาเหตุหนึ่งเพราะต้องกรอกใบแบบฟอร์มตม.6 ดังกล่าว
ประธาน สนช. เผย กรอบสรรหา กกต.ชุดใหม่ คาดได้รายชื่อ กกต.ใหม่ 12 ธ.ค.นี้
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 กันยายน 2560 ว่า รวมเวลาการพิจารณากฎหมายลูกฉบับนี้ทั้งหมด 149 วัน ซึ่งสนช.ยืนยันว่า ในส่วนของสนช.พิจารณากฎหมายลูกดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือเป็นกระบวนการส่งกลับไปให้ กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา แล้วส่งกลับมาให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งต่อไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ทั้งนี้ กฎหมายลูกดังกล่าวกำหนดให้ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง แต่ยังให้คงปฏิบัติงานต่อไปจนกว่าจะมีการเเต่งตั้งกกต.ใหม่ขึ้น ส่วนการแต่งตั้ง กกต.ใหม่ 7 คนนั้น จะมีที่มา 2 ทาง คือ 5 คน มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา และ อีก 2 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้คัดเลือก โดยระยะเวลาดำเนินการต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน กล่าวคือ ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 จากนั้นทั้ง 2 ส่วนจะต้องส่งรายชื่อให้กับประธาน สนช. เพื่อบรรจุวาระให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล หากไม่เห็นชอบบุคคลใด ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่เป็นรายบุคคล
พรเพชร ยังกล่าวถึงร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนจะกระทบการเลือกตั้งที่วางไว้ปลายปี 2561 หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องคำนึงเงื่อนไขต่างๆ ด้วย
คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ มีมติเห็นชอบหลักการกระจายอำนาจไปสู่ระดับกองบัญชาการภาค
สมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงความคืบหน้าถึงการพิจารณาแนวทางปฏิรูปการกระจายอำนาจของตำรวจ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกระจายอำนาจไปสู่ระดับกองบัญชาการภาค โดยกระจายอำนาจเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารงบประมาณ และการบริหารงานภายในของตำรวจ อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้หารือถึงสถานะของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่อาจลดให้มีเพียงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เท่านั้น เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายได้กระจายไปสู่ระดับกองบัญชาการภาค ซึ่งเท่ากับก.ต.ช.มีอำนาจลดลง พร้อมกล่าวย้ำว่าการปฏิรูปตำรวจ แม้จะไม่สามารถป้องกันให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับตำรวจได้ทั้งหมด แต่ต้องให้ถูกแทรกแซงน้อยที่สุด จึงพิจารณาต่อไปว่านายกรัฐมนตรีควรที่จะเข้ามาร่วมเป็นกรรมการใน ก.ตร. หรืออยู่ในฝ่ายบริหารที่คอยรับเรื่องจาก ก.ตร. หรือไม่
สมคิด กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปตำรวจว่ามีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนอย่างต่อเนื่องรวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วย โดยในเดือนกันยายนนี้จะติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึง สื่อมวลชน อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อนำความคิดเห็นมาประกอบกับการปฏิรูปตำรวจต่อไป
14 กันยายน 2560
สนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ตามที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเสนอ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. .... ตามรายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. .... (กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชม 182 คน และหลังจากนี้จะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ภายหลังที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาข้อโต้แย้งของ กสม.ทั้ง 6 ประเด็นข้างต้นแล้ว เห็นว่าข้อโต้แย้งที่ส่งมาตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีเพียงประเด็นเกี่ยวกับกรรมการสรรหา ที่แก้ไขข้อความในมาตรา 11 วรรค 5 ให้คณะกรรมการสรรหา ต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย จากเดิมที่กำหนดให้การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหา เมื่อครบกำหนดการสรรหาแล้วหากยังได้กรรมการสรรหาไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ให้กรรมการสรรหาเท่าที่สรรหาได้ทำหน้าที่ได้ทันที ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเมื่อครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ยังไม่มีหรือยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาครบตามจำนวน ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ เริ่มกระบวนการสรรหาเพิ่มภายใน 30 วัน และ หากพ้นจาก 30 วันไปแล้ว ยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาในส่วนที่ขาด ให้คณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่ ทำหน้าที่ไปพลางได้
ประธาน กรธ.ยอมรับหนักใจกรอบเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูกค่อนข้างจำกัด
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างกฎหมายลูกอีก 4 ฉบับที่เหลือ และยอมรับว่าทำงานกันอย่างหนักเพราะมีกรอบเวลาที่จำกัด โดยเฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งเนื้อหายากและต้องรับฟังความเห็นหลายด้านเพื่อให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็ว่าวางกรอบเวลาไว้ว่าต้องเเล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในเดือนตุลาคม และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม กรธ.จะส่งร่างกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายให้ สนช.ได้
มีชัย ยังกล่าวถึง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กกต. ได้เริ่มมีการศึกษากฎหมายลูกดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรธ.ยินดีให้คำแนะนำในเรื่องกฎหมาย ขณะที่ กกต.ที่รักษาการอยู่ขณะนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไปได้ โดยให้ทยอยเตียมการไว้รอ กกต. ชุดใหม่ และวางกลไกคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับกกต. ชุดใหม่ ส่วนการสรรหาเชื่อว่าไม่มีปัญหา แต่หากมีปัญหาขึ้นก็จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหากกต.เป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้เชื่อว่าการสรรหา กกต. จะเกิดขึ้นก่อนที่มีการเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปี 2561 หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าทุกฝ่ายได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วให้เป็นไปตามกรอบเวลา