สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีประกาศการแต่งตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน จำนวนทั้งสิ้น 70 ราย แต่ทว่า บางรายชื่อก็ปฏิเสธการเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าว นอกจากนี้ สนช. ยังมีมติรับกฎหมายลูกว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไว้พิจารณา พร้อมกันนี้ยังมีการประกาศใช้กฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 โดยสาระสำคัญคือ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์เท่านั้น
25 กันยายน 2560
หัวหน้า คสช.ตั้ง 'พรชัย' นั่งรักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 43/2560 เรื่องการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้ พรชัย จำรูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้มีอาวุโสสูงสุดในตำแหน่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) เป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 24 ก.ย.2560 หรือจนกว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้า หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
26 กันยายน 2560
นายกฯชี้ยุทธศาสตร์ชาติเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2560 โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ว่า เป็นการมาพูดคุยและแนะนำตัวกัน จากนั้นค่อยมาว่ากันเรื่องกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ว่าแต่ละอย่างว่ากันอย่างไร และจะทำงานกันต่อไปอย่างไร โดยจะต้องมีการสานต่อกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และคณะกรรมการปฏิรูปที่มีอยู่เดิมแล้ว เพื่อจะเดินยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการบริหารราชการของรัฐบาลต่อ ๆ ไปว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปเป็นเรื่องของแต่ละรัฐบาลจะหาวิธีการ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยมีกลไกอยู่แล้วเป็นการปรับเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
ดีเดย์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรการติดตามจับผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวฯ
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 สาระสำคัญในพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดว่าผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว คือบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงานตัว หรือให้คําปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนี อีกทั้งกำหนดให้มีการให้เงินสินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่พนักงานหรือตำรวจจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่หลบหนีได้ ทั้งนี้ให้นำเงินค่าปรับตามคำพิพากษาในคดีอาญามาใช้เป็นเงินสินนำจับดังกล่าว โดยคํานึงถึงความยากง่ายในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยผู้นั้น สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสินบนนำจับนี้ กำหนดโดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม(ก.บ.ศ.)
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประธาน-กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ชุดใหม่
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน ดังต่อไปนี้คือ 1.พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ เป็นประธานคตง. 2.ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ 3.พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ 4.จินดา มหัทธนวัฒน์ 5. วีระยุทธ ปั้นน่วม 6.สรรเสริญ พลเจียก 7.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
28 กันยายน 2560
สนช.รับหลักการร่างพ.ร.ป.ศาลรธน. รีเซ็ตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ 198 คะแนนรับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวาระแรก ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสนอ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 22 คน พิจารณาภายใน 50 วัน
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า “ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการให้มีกลไกการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องความคงอยู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน กรธ.ได้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกองค์กร คือ การให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะมีเพียงเฉพาะกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เท่านั้นที่กรธ.บัญญัติให้แตกต่างออกไปด้วยการให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อกสม.ให้มีกระบวนการสรรหาให้สอดคล้องกับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม หากในชั้นคณะกรรมาธิการของสนช.จะมีการแก้ไขหรือมีความเห็นอย่างไรก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสนช.”
ประกาศใช้ กม.ลูกคดีอาญานักการเมือง จำเลยยื่นอุทธรณ์ต้องมาศาล มิให้นับเวลาหนีในอายุความ
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ไม่ให้นับเวลาที่จำเลยหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ไต่สวนพยานลับหลังได้กรณีที่จำเลยหนี ออกหมายจับแต่จับไม่ได้หรือนัดแล้วไม่มา กรณีของการอุทธรณ์ระบุว่าคำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์
ประกาศตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ โดย แบ่งเป็น คณะกรรมการทั้งหมด 6 ฝ่าย คือ 1.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงขอบเขตสถาบันพระมหากษัตริย์ การทหาร อธิปไตย การต่างประเทศ ภัยพิบัติ อาชญากรรม การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติยาเสพติด การค้ามนุษย์และภัยอื่น ๆ ที่คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ 10 คน 2.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ขอบเขต การค้า การลงทุน การผลิต การบริการ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาพื้นที่พิเศษ โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ การอํานวยความสะดวกในทางธุรกิจ 12 คน 3. คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ขอบเขตคุณธรรม จริยธรรม การศึกษา สุขภาวะ การพัฒนาสถาบันครอบครัว คุณภาพชีวิต การกีฬา นันทนาการ 13 คน 4. คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมขอบเขตผู้สูงวัย ความยากจน คนด้อยโอกาส บริการสาธารณสุข ประชารัฐ ตลาดชาวบ้านเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจพอเพียง ความเข้มแข็งของชุมชน 13 คน 5. คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขอบเขตทรัพยากรน้ำพลังงาน โลกร้อน การปลูกป่า ขยะมูลฝอย การกัดเซาะชายฝั่งทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหามลภาวะ ระบบนิเวศ ผังเมือง 9 คน และ 6. ณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐขอบเขตโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนากระบวนการยุติธรรม (ตํารวจอัยการ ศาล ทนายความ ราชทัณฑ์) การอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน อีก 13 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน
ตอนท้ายของประกาศยังได้ระบุว่า ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการคณะใดยังไม่ครบตามจํานวน สามารถแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในภายหลังได้ รวมทั้งอาจแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ และจัดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติตามประกาศนี้มีวาระการดํารงตําแหน่ง 5 ปี โดยให้ได้รับค่าตอบแทนค่าใช้จ่าย และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) กําหนด
พ.ร.บ. อีอีซี ผ่านมติเอกฉันท์ สนช.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 175 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ร่วมประชุมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ สนช.
สำหรับสาระสำคัญ เป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตไปพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและให้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในคณะกรรมการฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการและเป็นจุดบริการรวมศูนย์ หรือ One-Stop Service
และเสนอพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเขตพัฒนาภาคตะวันออกเป็น ‘เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ’ ให้คณะกรรมการฯ เห็นชอบ
ร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้
สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว ซึ่งประกอบกิจการและอยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับสิทธิฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง 50 ปี และต่อสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี โดยไม่ต้องรับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
นอกจากนี้ยังกำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนและประชาชน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วย
29 กันยายน 2560
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศแก้ไข กก.ยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่ม"นาวิน"ตัด"สมชัย"
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ โดยในส่วนของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง มีการเพิ่มชื่อ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ เป็นกรรมการ ขณะที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้ตัดชื่อ สมชัย จิตสุชน ออก เนื่องจากสมชัย ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ระบุชื่อศักดา ธนิตกุล เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนธฤต จรุงวัฒน์ จากเดิมเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้เป็นกรรมการตำแหน่งเดียว