NLA weekly 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 2560 : กรธ. ขีดเส้นตาย ลั่นส่งกฎหมายลูกทัน 1 ธ.ค. 2560 ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

NLA weekly 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 2560 : กรธ. ขีดเส้นตาย ลั่นส่งกฎหมายลูกทัน 1 ธ.ค. 2560 ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

เมื่อ 8 ต.ค. 2560
สำหรับความเคลื่อนไหวในอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่า 'วันเลือกตั้ง' ภายหลังมีกระแสข่าวว่า อาจมีการคว่ำร่างกฎหมายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ด้าน กรธ. ยังมั่นใจ ร่างกฎหมายทันตามกรอบรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือนธันวาคม แม้เหลือกฎหมายที่ยังร่างไม่เสร็จอีก 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายการเลือกตั้ง ป.ป.ช. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 
 
ส่วน สนช. ยังยืนยันเร่งพิจารณากฎหมายลูกตามกรอบเวลา พร้อมทำหน้าที่พิจารณากฎหมายให้ดีที่สุด ย้ำไม่มีเจตนาดึงเวลาให้ล่าช้าแต่หากมีข้อโต้แย้งถือเป็นสิทธิขององค์กรที่เกี่ยวข้อง คาดการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นปลายปี 2561 นอกจากนี้ สนช.ยังไม่ได้รับหลักการร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ และร่างพ.ร.บ.นโยบายการกีฬาแห่งชาติ ไว้พิจารณา
 
30 กันยายน 2560
 
รองประธาน สนช. ยัน พร้อมลาออก ถ้า พ.ร.บ.น้ำ กระทบเกษตรกรรายย่อย
 
พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงการเก็บภาษีน้ำกับกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มอุตสาหกรรม ตาม ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณา โดยหลักการของกฎหมายคือ ต้องการให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ที่เดียวกัน 
 
ส่วนเรื่องจัดเก็บภาษีน้ำนั้น ยืนยันว่า ไม่มีความต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้เกษตรกร ยกเว้น เกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่เป็นหลักพันหลักหมื่นไร่ ว่าสมควรเก็บหรือไม่ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม 
 
พร้อมกันนี้ พีระศักดิ์ ยืนยัน หากกฎหมายนี้ออกจากสนช. แล้วมีการเก็บภาษีน้ำเกษตรกร ตนและครูหยุย (วัลลภ ตังคณานุรักษ์) จะขอลาออกจากสนช. ทันที่
 
ที่มา : ไทยรัฐ
 
2 ตุลาคม 2560
 
สนช. เสียงแข็งไม่เรียกเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย
 
ที่รัฐสภา ประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ แถลงชี้แจงรายละเอียด ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายจากเกษตรกรที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ขอยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะใช้บังคับเฉพาะการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนอกเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ คลอง ห้วย ไม่เกี่ยวกับการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำในเขตชลประทาน 
 
อีกทั้ง กมธ.ยังไม่มีมติเรียกเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรตามมาตรา 39 เพราะเป็นเรื่องที่ต้องนำมาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ ให้แบ่งประเภทผู้ใช้น้ำให้ชัดเจน ไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยที่ใช้น้ำเพื่อการยังชีพ แต่จะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์การแบ่งประเภทเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่จะต้องไปออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
'มีชัย' ยันทำร่าง พ.ร.ป.เสร็จตามกรอบที่วางไว้ ชี้ถ้าเลื่อนเลือกตั้งก็เป็นเพราะเหตุผลอื่น 
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่า ขณะนี้ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จจากเดิมที่กำหนดให้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา แต่ยืนยันจะพยายามทำให้แล้วเสร็จในวันนี้ (2 ตุลาคม) เพื่อส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเสนอความเห็นกลับมา ทั้งนี้ ต้องทำร่าง พ.ร.ป.จนเสร็จตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ แต่ถ้าจะเลื่อการเลือกตั้งออกไป ก็เลื่อนเพราะเหตุอื่น ไม่ใช่เพราะ กรธ. ทำร่าง พ.ร.ป. ไม่เสร็จ ซึ่งต่อให้ กรธ.ต้องนัดประชุมทำงานกันจนสว่างคาตาเราก็ต้องทำ
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
ประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ตั้งงบกลาง 9.76 หมื่นล้านบาท 
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ให้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 2.9 ล้านล้านบาท โดยงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ในความควบคุมของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ให้ตั้งเป็นจำนวน 9.76 หมื่นล้านบาท
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
วิป สนช. เตรียมพิจารณากฎหมายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 100 บาท/เดือน
 
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก วิป สนช. แถลงผลการประชุมว่า วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จะมีวาระการประชุมสำคัญ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในวาระแรก มี 6 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ การนำเงินกองทุนจากภาษีบาป 2 เปอร์เซ็น หรือ 4,000 ล้านบาทต่อปี มาเพิ่มเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 100 บาท เช่น คนที่อายุเกิน 60 ปี จากเดิมได้เบี้ยยังชีพ 600 บาท ก็เพิ่มเป็น 700 บาท ส่วนคนที่อาบุเกิน 70 ปี จากเดิม 700 บาท เพิ่มเป็น 800 บาท โดยยึดจากบัญชีผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนเบี้ยยังชีพ จำนวน 2.15 ล้านคน
 
โดยกลุ่มคนที่จะได้รับเงินคือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และไม่ใช่ข้าราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญอย่างอื่น ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีบาป 2 เปอร์เซ็น จะถูกนำมาเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพจำนวน 2,400 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 1,600 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้เป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือนผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง การจัดกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นผู้ดูแลงบประมาณในส่วนนี้ 
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
3 ตุลาคม 2560
 
'มีชัย' ปัดคว่ำ กม.ลูก ยื้อเลือกตั้ง เผย กรธ. เริ่มถก พ.ร.ป.ส.ว. แล้ว
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายลูก ว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสร็จแล้ว ในเนื้อหาได้เพิ่มให้มีอำนาจไต่ส่วน แทนการทำงานแบบอนุกรรมการ ให้จัดหลักสูตรอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเหมือนตำรวจ แล้วเมื่อมีอำนาจมากขึ้น ก็กำหนดให้โทษของ ป.ป.ช. มากขึ้นเป็น 2 เท่า ทั้งนี้ บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถส่งความเห็นกลับมาได้ ตรงไหนแก้ได้จะแก้ให้ ตรงไหนไม่ปรับแก้จะชี้แจง ส่วนวันที่ 3 ตุลาคม จะเริ่มพิจารณากฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้น จึงต่อด้วยร่างกฎหมายลูก ส.ส. 
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
สนช.โบ้ยบิดร่าง พ.ร.บ.น้ำ หวังประโยชน์การเมือง
 
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่ถูกวิจารณ์เรียกเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร ว่า ขณะนี้มีการบิดเบือนว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเสร็จภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเสร็จไม่ทันสามารถขยายเวลาและต่ออายุได้ตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยังต้องใช้เวลาพิจารณาเพราะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
กกต. มีมติ ส่งศาลรธน. วินิจฉัย 2 ปม กฎหมายลูกขัดรธน.
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเห็นชอบร่างคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยกกต. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจะยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัย ตามมาตรา 210 (1) ของรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 26 ที่ตัดอำนาจ กกต. คนเดียวสามารถระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งได้ หากพบว่ามีการกระทำทุจริต และมาตรา 27 ที่ตัดอำนาจ กกต. ไม่ให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง เนื่องจาก เห็นว่ามีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปรับปรุงข้อความในคำร้อง เมื่อแล้วเสร็จก็จะเสนอต่อประธาน กกต. และกกต. ลงนามก่อนที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยทันที่ แต่อย่างช้าจะไม่เกินอังคารที่ 10 ตุลาคม
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
4 ตุลาคม 2560
 
สนช.ยันผ่าน ก.ม.ลูกตามโรดแม็ป เผยกรธ.ส่ง พ.ร.ป. ส.ส.-ส.ว.ให้ถก พ.ย.นี้
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวว่า สนช. ยืนยันจะเดินหน้าตามโรดแม็ป ที่ผ่านมาก็พิจารณากฎหมายลูกเสร็จก่อนกำหนดทุกครั้ง ตอนนี้เหลือการพิจารณากฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้น การทำงานของ สนช.รับผิดชอบมาโดยตลอด ทั้งยังมีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษากฎหมายลูกล่วงหน้า เพื่อหลอมรวมความเห็นของทุกฝ่าย ลดการแปรญัตติ และลดเหตุการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย จึงเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
โฆษก กรธ. ยืนยัน ทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ทันกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ 
 
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในส่วนของ กรธ. จะแล้วเสร็จทั้ง 10 ฉบับทันตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน 
 
โดยขณะนี้มีกฎหมายที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ศาลฎีกานักการเมือง พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายที่ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน  และพ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งนี้ ในส่วนที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ
 
ส่วน พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรธ. ได้พิจารณาร่างเบื้องต้นแล้ว และจะส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพื่อให้ ป.ป.ช. พิจารณารายละเอียดและส่งความเห็นกลับมาก่อน ที่ กรธ. จะได้พิจารณาอีกครั้ง และ พ.ร.ป.ได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะนี้ กรธ.กำลังพิจารณาในรายละเอียด และคาดว่าจะส่งให้ สนช. ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และ สนช. จะพิจารณารับหลักการในวันนี้ 23 พฤศจิกายนนี้
 
ส่วน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งจะคาดว่าจะส่งให้ สนช. ในวันที่ 28 พฤศจิกายน และคาดว่า สนช. จะพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่  30 พฤศจิกายน ดังนั้นย้ำว่า การจัดทำ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในชั้นของกรธ.จะแล้วเสร็จ ก่อนระยะเวลาที่กำหนดคือวันที่ 1 ธันวาคม 2560 อย่างแน่นอน
 
 
5 ตุลาคม 2560
 
ประธาน สนช. ยืนยัน สนช.เร่งพิจารณากฎหมายลูกตามกรอบเวลา
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยืนยัน สนช.เร่งพิจารณากฎหมายลูกตามกรอบเวลา พร้อมทำหน้าที่พิจารณากฎหมายให้ดีที่สุด ย้ำไม่มีเจตนาดึงเวลาให้ล่าช้าแต่หากมีข้อโต้แย้งถือเป็นสิทธิขององค์กรที่เกี่ยวข้อง คาดการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นปลายปี 2561
 
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา
 
โดยสาระสำคัญของกฎหมายคือ เพิ่มบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของเงินกองทุน โดยให้รวมถึงเงินบำรุงกองทุนที่ได้รับจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบโดยให้เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวเป็นผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุน และให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำส่งเข้ากองทุน และในปีงบประมาณที่มีเงินบำรุงกองทุนส่งเข้ากองทุนเกิน 4 พันล้านบาท ให้กรมกิจการผู้สูงอายุนำเงินบำรุงกองทุนส่วนที่เกินนั้นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจัดสรรเงินบำรุงกองทุน และเงินที่มีผู้บริจาคเข้ากองทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย สำหรับจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์ดังกล่าว พร้อมกำหนดกรณีการได้รับการยกเว้น ลดหย่อน หรือคืนเงินบำรุงกองทุน และกรณีที่ต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษและการเปรียบเทียบคดีหากมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ส่งเงินบำรุงกองทุน และแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย 
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นโยบายการกีฬาแห่งชาติ
 
ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้านสมาชิก สนช.แนะ ควรกำหนดสัดส่วนของกรรมการโดยตำแหน่ง ใน คกช.ให้เหมาะสม ขณะ รมต.ท่องเที่ยวและกีฬาย้ำ กำหนดหลักเกณฑ์ คกช.ชัดเจน เพราะถือเป็นส่วนสำคัญ
 
 
6 ตุลาคม 2560
 
คณะกรรมการสรรหา กกต. เริ่มประชุมนัดแรก
 
ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งโดยมีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เข้าร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรอิสระ ประกอบด้วยเจริญศักดิ์  โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ประเสริฐ  โกศัลวิตร บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่งตั้ง ไพโรจน์  กัมพูสิริ บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง ธีรภัทร  สันติเมทนีดล บุคคลซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่งตั้ง ขาดเพียงตัวแทนจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้นำฝ่ายค้านซึ่งขณะนี้ยังไม่มี
 
สำหรับการประชุมของคณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีการหารือถึงกรอบการทำงานและหลักเกณฑ์ในการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดกรอบและแนวทางในการสรรหากรรมการการเลือกตั้งในเบื้องต้น โดยกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม - 10 พฤศจิกายน 2560 
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะทำหน้าที่สรรหา กกต. จำนวน 5 คน จาก 7 คน ส่วน กกต. อีก 2 คนจะมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยทั้งกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีกรอบเวลาในการสรรหา กกต.ไม่เกิน 90 วัน หรือภายใน 12 ธันวาคมนี้ และจะต้องส่งรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. ให้ สนช. ให้ความเห็นชอบ จากนั้น สนช.จะพิจารณาตรวจสอบประวัติ และพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ภายใน 45 วัน หาก สนช. ไม่เห็นชอบบุคคลใดต้องกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่
 
 
ประธาน กรธ.ระบุ การยื่นตีความเซ็ตซีโร่ กกต.อีกครั้ง ไม่กระทบกระบวนการสรรหาฯ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้สิทธิ์ส่วนตัวยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นการให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด (เซ็ตซีโร่ กกต.) ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีปัญหาต่อกระบวนการสรรหาที่กำลังดำเนินการอยู่ ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยก็จะไม่กระทบต่อกระบวนการสรรหาที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งที่อาจจะตัดสินใจชะลอกระบวนการ เพื่อรอความชัดเจนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่หากมีการสรรหาจนได้ กกต. ชุดใหม่ 7 คนแล้ว ภายหลังมีคำวินิจฉัยออกมา คณะกรรมการสรรหาฯ ก็ต้องทำตามคำวินิจฉัย