NLA Weekly (28 ต.ค. – 3 พ.ย.60) คสช.ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง มีชัยขออย่างกังวล อาจปรับบทเฉพาะกาลในกฎหมายเลือกตั้ง

NLA Weekly (28 ต.ค. – 3 พ.ย.60) คสช.ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง มีชัยขออย่างกังวล อาจปรับบทเฉพาะกาลในกฎหมายเลือกตั้ง

เมื่อ 5 พ.ย. 2560
สัปดาห์ที่ผ่านมา สนช.มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสองฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการทหาร และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนในสัปดาห์หน้า วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 สนช.จะพิจารณาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวาระที่สาม
 
ขณะที่คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 จำนวนสองฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาการจัดการแรงงานข้ามชาติ คือ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 48/2560  เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง และ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2560 เรื่อง การพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว
 
30 ตุลาคม 2560
 
'ประวิตร' ระบุยังไม่มีแนวคิดปลดล็อคพรรคการเมือง
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า คสช. ยังไม่มีแนวคิดปลดล็อคพรรคการเมือง แม้กลุ่มการเมืองจะออกมาทวงสัญญา  เพราะยังไม่ได้ประชุมหารือ และเพิ่งจะเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และยังมีกลุ่มก่อความวุ่นวายอยู่ อย่างไรก็ตามจะต้องรอการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี
 
ที่มา: ประชาไท
 
31 ตุลาคม 2560
 
ประยุทธ์ โยนปลดล็อคพรรคการเมือง เป็นเรื่องของ คสช.
 
ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องตรวจสอบและยืนยันรายชื่อสมาชิกพรรคว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ พร้อมกับการเลือกผู้บริหารพรรค เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ก่อนจะกำหนดนโยบายพรรค และประกาศอุดมการณ์พรรคให้ประชาชนทราบ รวมไปถึงต้องตัดสินว่าจะส่งใครลงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 มกราคม 2561 จนทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อคให้สามารถจัดกิจกรรมและประชุมได้นั้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และได้ตอบคำถามกรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช. เร่งปลดล็อคการเมือง เพียงสั้นๆ ว่า "เป็นเรื่องของ คสช."
 
ที่มา: ประชาไท
 
มีชัย รับปลดล็อคพรรคการเมืองช้า อาจกระทบระยะเวลาหาเสียง แต่ขออย่ากังวล
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่ คสช.ยังไม่ยกเลิกมาตรา 44 เรื่องห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง หรือ ปลดล็อคทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองกังวลว่า จะเตรียมการไม่ทันสำหรับการเลือกตั้ง มีชัยกล่าวว่า “กรธ.จะพิจารณาปรับเพิ่มกลไกไว้ในบทเฉพาะกาล ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่ออำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ทัน แต่อาจจะมีผลกระทบกับพรรคการเมืองในช่วงสุดท้าย ที่เป็นช่วงการหาเสียง ที่อาจจะเหลือเวลาสั้นลง” อย่างไรก็ตาม มีชัย ยอมรับว่า สำหรับพรรคการเมืองใหม่ อาจได้รับผลกระทบมากกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ดังนั้น พรรคที่จะตั้งใหม่ ควรที่จะวางแผน และเตรียมความพร้อม เมื่อปลดล็อคให้ประชุมได้ ก็จะได้ดำเนินการได้ทันที เชื่อว่า คสช.คงไม่ปล่อยไปจนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ เพราะตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องการให้มีพรรคการเมืองใหม่ เพื่อที่จะได้มีตัวเลือกมากขึ้น
 
ที่มา: ประชาไท
 
1 พฤศจิกายน 2560
 
คกก.ปฏิรูปตำรวจ ได้ข้อสรุปให้สิทธิ ผบ.ตร. คนเดิม เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ ต่อ ก.ตร. ให้นายกฯให้ความเห็นชอบ
 
พลเอกบุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุม มีข้อสรุป เรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มี ผบ.ตร. เป็นประธานและให้ ผบ.ตร.คนเดิม เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งผบ.ตร.คนใหม่ และนำรายชื่อเข้าสู่ ก.ตร. ซึ่งอาจเสนอเพียงรายชื่อเดียวหรือจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อก็ได้ จากนั้น ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียงรายชื่อเดียว และเสนอให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นชอบ ก็จะส่งรายชื่อกลับมายัง ก.ตร. แต่หาก ก.ตร.พิจารณาแล้ว โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ยืนยันว่าเป็นรายชื่อเดิมแล้วส่งกลับให้นายกฯ พิจารณาอีกครั้ง หากนายกฯ ไม่เห็นชอบกับรายชื่อดังกล่าวอีก ก.ตร.ก็ต้องยอมรับความเห็นของนายกฯ และเสนอรายชื่อบุคคลอื่นแทน
 
 
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เตรียมยกร่างแผนกำหนดกลไกและทิศทาง ชำระกฎหมายที่ล้าหลัง
 
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะมีการกำหนดกลไกและทิศทางกฎหมาย โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชำระกฎหมายที่ล้าหลัง อาทิ พ.ร.บ.เดินเรือ ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2457 เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชน และมีการพูดถึงว่าจะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้นในชั้นฝ่ายบริหาร และมีข้อเสนอเพิ่มเติม ว่าควรมีอนุกรรมการที่จะคอยดูช่วยเหลือกระทรวงต่างๆ ในการจัดทำกฎหมาย แทนที่จะให้ทางกระทรวงมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง โดยคณะกรรมการดังกล่าวที่จะจัดตั้งขึ้นมานั้นจะมาจากกรรมการพัฒนากฎหมาย กรรมการกพร. เป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา แล้วจึงให้รัฐบาลออกระเบียบให้สำนักนายกรัฐมนตรีผู้รองรับอีกครั้งหนึ่ง มีสถานะเป็นกรรมการตามแผนปฏิรูปกฎหมาย โดยจะมีการร่างกฎหมายลูกของมาตรา 77 ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพัฒนาทางกฎหมายที่กฤษฎีกาดำเนินการอยู่ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนากฎหมายของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายต่อไป
 
 
ใช้ ม.44 เด้งอธิบดีกรมการจัดหางาน
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยเพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 48/2560  เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง  โดยหัวหน้าคสช.เห็นสมควรแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่งเป็นกรณีพิเศษ อันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารราชการกระทรวงแรงงานและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมยิ่งขึ้น  ดังนั้นหัวหน้าคสช.จึงอาศัยอํานาจตา มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)  2557 ให้ วรานนท์ ปีติวรรณ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมการจัดหางาน และให้ดํารงตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้ อนุรักษ์ ทศรัตน์ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมการจัดหางาน
 
 
2 พฤศจิกายน 2560
 
สนช.ไฟเขียวรับหลักการ ร่าง ก.ม.เพิ่มเงินวิทยฐานะทหารปฏิบัติงานด้านการสอน
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 203 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหารประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่นำชั้นยศทางทหารมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานทางวิชาการของข้าราชการทหารผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และเพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร ประเภทวิทยฐานะ เพื่อให้ข้าราชการทหารผู้ปฏิบัติงานด้านการสอนมีสิทธิได้รับเงินวิทยฐานะ ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นไปโดยสอดคล้องกับภาระหน้าที่   
 
ที่มา: ประชาไท
 
สนช. รับร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. 'มีชัย' หวังสอบทุจริตเร็ว มีประสิทธิภาพ ไร้ข้อครหา
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพ.ร.ป. ป.ป.ช. ด้วยคะแนน 200 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ชี้แจงความจำเป็นต้องจัดทำร่างพ.ร.ป. ป.ป.ช. ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดเรื่องคุณสมบัติ และกำหนดให้การตรวจสอบการทุจริตเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไร้ข้อครหา จึงต้องบัญญัติกฎหมายประกอบให้สอดคล้อง โดยมุ่งเน้นให้การทำงานของป.ป.ช.เกิดประสิทธิภาพ รวดเร็ว เที่ยงธรรม ไว้ใจได้ จึงปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานจากเดิมใช้ระบบตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถทำงานทุกวันได้ ต้องรอประชุมเป็นคณะ และทราบว่ามีการอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการไต่สวนให้มีความเชี่ยวชาญ จึงเห็นว่าสามารถใช้เจ้าหน้าที่ทำการไต่สวนได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน 
 
ที่มา: ประชาไท
 
'บิ๊กตู่'งัด ม.44 ตั้งปลัดมท. แก้ปัญหาพิสูจน์สัญชาติล่าช้า
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2560 เรื่อง การพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว เนื่องด้วยระบบการตรวจสอบบุคคลบางประเภท ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ยังไม่สามารถตรวจสอบและยืนยันอัตลักษณ์ได้ถูกต้อง ทำให้มีแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทํางานในราชอาณาจักรไทยเป็นจํานวนมาก ทั้งที่เข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงวิธีการและระบบที่แตกต่างกันทำให้ยุ่งยากและล่าช้า ดังนั้นหัวหน้าคสช. จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวใน 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล คือ จ.กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตราด ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง ระยอง สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี
 
โดยคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการกงสุล อธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมายผู้บัญชาการสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ผู้อํานวยการสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการ อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาแนวทางการดําเนินการ เพื่อให้มีระบบการพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว โดยให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.2561