NLA Weekly (4 - 10 พ.ย.60): กรธ.-ครม.-สนช. ปกป้อง 'พัชรวาท วงษ์สุวรรณ' กรณีนั่งเป็น กมธ.ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ด้าน อภิสิทธิ์ ชี้ ขัดหลักธรรมาภิบาล

NLA Weekly (4 - 10 พ.ย.60): กรธ.-ครม.-สนช. ปกป้อง 'พัชรวาท วงษ์สุวรรณ' กรณีนั่งเป็น กมธ.ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ด้าน อภิสิทธิ์ ชี้ ขัดหลักธรรมาภิบาล

เมื่อ 12 พ.ย. 2560
สำหรับความเคลื่อนไหวประจำสัปดาห์นี้ ประเด็นที่น่าสนใจคงหลีกหนีไม่พ้น กรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การให้ 'พัชรวาท วงษ์สุวรรณ' นั่งเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายลูก ว่าด้วย ป.ป.ช. เพราะเกรงว่าจะขัดธรรมาภิบาล เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีผู้กล่าวหาเป็นคดีอยู่ใน ป.ป.ช. แต่ทว่า รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธ์ และ ประธานสนช. พรเพชร วิชิตชลชัย ต่างก็ออกมาปกป้องและมองว่าการนั่งเป็น กมธ. ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ คาดว่า กฎหมายลูกจาก กรธ. จะถูกส่งให้สนช. ทั้งหมดภายใน 28 พฤศจิกายนนี้ ขณะสนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย
 
6 พฤศจิกายน 2560
 
กกต.เชื่อ คสช.ปลดล็อกทัน กม.กำหนด เชื่อพรรคฯ ดำเนินการทัน จ่อถกประกาศระเบียบ
 
ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีเรียกร้องให้ กกต.ประกาศใช้ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากยังไม่มีแนวโน้มว่า คสช.จะประกาศปลดล็อกพรรคการเมืองเมื่อใด ทั้งนี้ ในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.) จะหารือว่าในทางปฏิบัติจะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร  แต่ถึงอย่างนั้น ระเบียบต่างๆ ทางสำนักงานได้ดำเนินการยกร่างไปเสร็จแล้วกว่าร้อยละ 70 และจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย ยืนยันสามารถดำเนินการให้เแล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 60 นับนับแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้
       
ด้าน ประวิช รัตนเพียร กกต.กล่าวว่า ขณะนี้มีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายพรรคการเมืองที่ คสช.ก็รับทราบ และ กกต.ก็ได้เตรียมการในเรื่องระเบียบต่างๆ ทั้งนี้ หาก คสช.ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 กกต.ก็พร้อมที่จะประกาศใช้ระเบียบฯ ต่างๆ โดยส่วนของพรรคการเมืองก็เชื่อว่ากำลังศึกษากฎหมายดังกล่าวอยู่จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร โดยเฉพาะความเป็นห่วงเรื่องการดำเนินการต่างๆ ไม่ทัน 180 วันที่กฎหมายกำหนด เพราะ คสช.เองก็พูดชัดเจนถึงเรื่องกำหนดเวลา ดังนั้น คสช.คงจะมีวิจารณญาณที่เข้าใจว่าควรดำเนินการปลดล็อกเมื่อไหร่ 
 
 
“ขัดหลักธรรมาภิบาลชัดเจน” อภิสิทธิ์จวก ดึงสนช.คดีติดตัว นั่งกมธ.ร่างกม.ป.ป.ช.
 
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการต้องถาม ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตั้งคณะกรรมาธิการฯเพื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ว่า ตอนนี้เหมือนสนช.ไม่มีบรรทัดฐานเกี่ยวกับการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องขององค์กรอิสระ แต่เวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของคุณสมบัติต้องห้าม หรือโครงสร้างอะไรก็ตามที่อาจทำให้ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในพ.ร.ป.ป.ป.ช. ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะการออกแบบระบบการเมืองโดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ป.ป.ช. มีอำนาจสูงมากและเป็นศูนย์กลางของการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบ ป.ป.ช.ทำหน้าที่เหมือนเป็นกลไกต้นน้ำส่งเรื่องต่างๆไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ช.จึงมีความหมายมาก ดังนั้นถ้าป.ป.ช.ไม่มีความเป็นอิสระ หรือฝักใฝ่ ไม่เป็นกลาง จะเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงมาก
 
“ผมเคยติงว่าสมัยก่อนหากป.ป.ช.ทำอะไรมิชอบ เราสามารถไปร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงได้ แต่ตอนนี้เราจะไปฟ้องโดยตรงไม่ได้แล้ว จะต้องไปร้องต่อประธานสภาฯ ซึ่งตอนนี้ก็คือ ประธานสนช. ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานสภาฯมากเกินไป ตรงนี้อันตรายมาก ยิ่งในยุคเลือกตั้งประธานสภาฯส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนของรัฐบาล เราจึงต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายป.ป.ช.เพราะรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจป.ป.ช.สูงมาก และเป็นองค์กรหลักในการตรวจสอบถ่วงดุล จากที่เป็นข่าวจะเห็นว่ามีคณะกรรมาธิการฯ หลายท่านที่เป็นคนสนิทของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผมว่าคนสนิทหรือไม่ ตรงนี้ไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่ว่าสนช.4-5 คนนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่มีคณะกรรมาธิการฯ ยังมีคดีเกี่ยวข้องอยู่ ยิ่งชัดเจนว่าเป็นการทำงานที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ” อภิสิทธิ์ กล่าว
 
 
"มีชัย"ป้อง"พัชรวาท"นั่งกมธ.ได้เหตุสนช.เลือก-ยังไม่ชี้มูล
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมภายหลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่งตั้งบุคคลที่มีมีคดีอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชรติ (ป.ป.ช.) มาร่วมเป็นกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ของ สนช.ว่า เมื่อสนช.ตั้งมาแล้วก็ต้องทำงาน เขาอาจมีความตั้งใจดี มีประสบการณ์จะช่วยทำให้การร่างกฎหมายมีความรอบคอบ แต่ละคนที่ทำหน้าที่ก็ต้องระวัง กมธ. มีตั้ง 35 คนไม่ใช่คนเดียว
 
“กรณีของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ที่วิจารณ์กัน ผมพูดอะไรมากไม่ได้ในฐานะคนนอกก็ต้องคอยติดตาม ถ้ารู้สึกว่าผิดฝาผิดตัวก็ต้องพูด กรธ.ก็ดูอยู่ หากไม่แก้จนตกหล่นผิดไปจากที่ตั้งเป้าไว้ก็ไม่ว่ากัน แต่หากเปลี่ยนหลักการก็คงต้องโต้แย้ง” มีชัย กล่าว 
 
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่กมธ.เสนอให้นำเงินจากกองทุนกลางเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานในการป้องกันการปราบปรามการทุจริต แก่หน่วยงานต่างๆมาใช้เพื่อการให้รางวัลพร้อมกับเตรียมส่งข้อสังเกตมายังกรธ.นั้น มีชัย กล่าวว่า ได้ทราบข้อสังเกตเบื้องต้นและยอมรับว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งหากยอมให้มีการแก้ไขก็จะทำให้ผิดไปจากหลักการจัดทำร่างกฎหมายลูกของ กรธ.
 
 
ยังไม่ชี้มูล ! "พัชรวาท–บุญเรือง”นั่งกมธ.กม.ป.ป.ช.ได้
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์กรณีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์  เป็นหนึ่งกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันและปราบปราบการทุจริต ทั้งที่อยู่ในกระบวนการไต่สวนของคสช.กรณีร่ำรวยผิดปกติ ว่า ขอไม่ตอบเนื่องจากไม่ได้เป็นสาระอะไรในสังคม การมีส่วนได้เสียในเรื่องใดแล้วห้ามไปทำเรื่องนั้นไม่ได้มีความหมายกว้างขนาดนั้น แต่ทั้งสองคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งมีหน้าที่พิจารณากฎหมาย เพราะถึงอย่างไรทั้งสองคนก็โหวตกฎหมายนี้อยู่ดี และกมธ.มี 30 กว่าคน จึงคิดไม่ออกว่ามีส่วนได้เสียหรือข้อขัดแย้งกันอย่างไร อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลความผิดยังถือว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เมื่อยังไม่มีคำสั่งชี้มูล จึงถือว่ายังไม่มีความผิด และอาจจะมีกมธ.บางคนที่ป.ป.ช.กำลังสอบอยู่ก็เป็นได้แต่เราไม่รู้เพราะป.ป.ช.ไม่แถลงว่าได้สอบใครบ้าง
 
ที่มา: คมชัดลึก
 
'สนช.' อุ้ม 'พัชรวาท-บุญเรือง' นั่งกมธ.ป.ป.ช.
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมการนั่งเป็นกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีผู้กล่าวหาเป็นคดีอยู่ใน ป.ป.ช. ว่า ตามขั้นตอนของการตั้งคณะกมธ.วิสามัญฯ นั้นจะดำเนินการโดยการให้คณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะเสนอชื่อบุคคลมาให้วิปสนช.ก่อนส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณา และกมธ.หนึ่งคนจะเป็นกมธ.พิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ไม่เกินคนละ 2 คณะ และเมื่อมีการเสนอชื่อผ่านมายังที่ประชุมสนช.แล้ว ประธานสนช.ไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เพราะทำได้แค่เพียงการพิจารณาให้ที่ประชุมไม่ได้ดำเนินการผิดข้อบังคับการประชุมสนช. แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่คณะกมธ.วิสามัญฯต้องพิจารณาต่อไป
 
เมื่อถามว่า การให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาและมีคดีอยู่ในป.ป.ช.มาพิจารณากฎหมายของป.ป.ช.เหมาะสมและเป็นการดำเนินการที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าคดีของสมาชิกสนช.ทั้ง 2 คนนี้อยู่ในขั้นตอนไหนของป.ป.ช. แต่กมธ.ที่พิจารณากฎหมายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องของบุคคลใด และหลักของการประชุมกมธ. ถ้าบุคคลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าประชุมในเรื่องนั้น จึงต้องไปดูในประเด็นข้อกฎหมายว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือไม่
 
เมื่อถามว่า ตราบเท่าที่สมาชิกสนช.ทั้ง 2 คนยังไม่ถูกชี้มูลความผิด ก็ยังสามารถเข้าประชุมกมธ.ได้ใช่หรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า ยังไม่มีประเด็นที่ถามมาก่อน และถ้าว่ากันตามข้อบังคับการประชุมสนช.ก็ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกมธ.ป.ป.ช.ก็มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารกิจ ประธานป.ป.ช และนางสุภา ปิยะจิตติ ป.ป.ช.เข้ามาทำหน้าที่ ตนก็ได้ถามท่านและทำความเข้าใจ และทั้งสองคนก็บอกว่าถ้ามีประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งจะไม่เข้าประชุมในเรื่องนั้น
 
เมื่อถามว่า ในด้านของความเหมาะสมว่าหากให้ทำหน้าที่ต่อไป อาจจะมีความเสี่ยงว่าจะมีการออกกฎหมายที่เกิดประโยชน์ได้เสียต่อคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช.หรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายขอให้ไว้ใจกมธ.และไว้ใจที่ประชุมสนช. ส่วนตัวคิดว่าคณะกมธ.ทั้ง 35 คนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และกรณีที่สื่อมวลชนหรือสังคมที่จับตามองอยู่ว่ากมธ.ท่านใดจะโน้มเอียงไปในทางที่ถูกต้องนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและจะเป็นการเตือนไปยังกมธ.
 
 
7 พฤศจิกายน 2560
 
บิ๊กตู่ทุบโต๊ะไม่ปลดล็อก อ้างสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อกทางการเมืองให้สามารถทำกิจกรรมได้ ว่า จากการประชุม คสช.ได้พิจารณาและประเมินสถานการณ์ มีการจัดทำเอกสารแจกสื่อโดยตนได้เน้นให้พิจารณาประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ทาง คสช.วันนี้ก็ได้ประเมินสถานการณ์ให้เห็น ซึ่งยังมีปัญหาหลายประการด้วยกัน  เรื่องนี้ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะการเดินหน้าตามโรดแมปสำคัญที่สุด ทั้งนี้ คำว่าโรดแมปคือ กฎหมายต่างๆ ต้องสมบูรณ์ เรียบร้อยโดยเฉพาะกฎหมายลูกต้องเกิดความชัดเจนขึ้น ตนไปบังคับไม่ได้ เป็นเรื่องของ กรธ. , สนช.ที่จะพิจารณากันไป จะเห็นชอบหรือไม่
 
"ส่วนที่เกรงกันว่าถ้าปลดล็อกการเมืองช้า พรรคการเมืองจะเตรียมการจัดตั้งพรรคไม่ทันภายในเวลาที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดนั้น ผมบอกแล้วว่า ปัญหาอยู่ที่กฎหมายลูก เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องทำ ผมคงไม่ปล่อยให้ทำไม่ทัน ผมมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการขยายระยะเวลาอะไรต่างๆ ให้เขาทำให้ทัน ผมมีอำนาจอยู่ตรงนี้ อย่าลืม" นายกฯ กล่าว
 
 
ที่มา: แนวหน้า
 
8 พฤศจิกายน 2560
 
นายกฯ สั่งทบทวนปฏิรูปตำรวจประเด็นแยกงานสอบสวนออกจาก สตช.
 
มานิจ สุขสมจิตร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการที่นำโดยพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ว่าล่าสุด นายกรัฐมนตรี มีหนังสือสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย และ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจอย่างใกล้ชิด และ ให้รองนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้แยกงานด้านสอบสวนออกมาให้ชัดเจน โดยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีความรู้ทางกฎหมาย และการพิจารณาอรรถคดีสามารถมาทำหน้าที่สอบสวนได้ ซึ่งข้อสั่งการนี้เข้าใจว่าจะหมายถึงการให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนคดี โดยอาจต้องแยกหน่วยงานการสอบสวนออกมาเป็นอีกกองบัญชาการหนึ่ง แต่ในรายละเอียดความต้องการของนายกรัฐมนตรีจริงๆ ต้องหารือกับรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งในวันที่ 13 พฤศจิกายน นี้ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะนัดหารือประเด็นนี้ว่าจะกำหนดแนวทางอย่างไร
 
อย่างไรก็ตาม ข้อสั่งการนี้สวนทางกับหลักการของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่สรุปไว้เบื้องต้นว่า จะรวมงานสืบสวนสอบสวนไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากที่ประชุมเห็นพ้องตามนายกรัฐมนตรีก็ต้องแก้ไขใหม่
 
สำหรับเรื่องของแนวทางการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจนั้น เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจเดิม เพื่อให้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายมีความชัดเจน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้หลักเกณฑ์วิธีการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องพิจารณาโดยมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติงานของตำรวจ หรือ กระบวนการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ หลักอาวุโส เพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยอิสระ โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(กตร.)จะแต่งตั้งได้เฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ จะพิจารณาในสายบัญชาการของตนเอง โดยแบ่งเป็น 12 สาย คือ กองบัญชาการภาค 1-9 ตำรวจตระเวรชายแดน(ตชด.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) และจเรตำรวจ
 
 
ส่งถึงมือสนช. 28 พ.ย. นี้ กฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อหารือถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในชั้น สนช.ทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คณะเดียวเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ และให้ตั้งอนุกรรมาธิการฯพิจารณารายละเอียดโดยเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.และว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีประเด็นที่เกี่ยวโยงและเชื่อมโยงกัน หากแก้ไขในรายละเอียดของร่าง พ.ร.ป.ฉบับใดอาจขัดหรือแย้งกับเนื้อหาของอีกฉบับได้และการพิจารณาร่างกฎหมายสามารถตั้งคณะเดียวกันได้กรณีที่เป็นกฎหมายพ่วง
 
สำหรับร่าง พ.ร.ป.ส.ว.นั้นเสร็จแล้ว แต่เมื่อทำร่าง พ.ร.ป.ส.ส.พบว่ามีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน จึงต้องแก้ไขให้เชื่อมโยงกัน ทั้งกลไกการจัดการเลือกตั้ง ข้อห้าม บทลงโทษของคนที่ทำผิดต้องสอดคล้องกัน แม้ ส.ว.จะใช้วิธีเลือก ส่วน ส.ส.ใช้เลือกตั้ง แต่กลโกงที่เกิดขึ้นอาจใกล้เคียงและทับซ้อนกัน ดังนั้น หากจะเขียนข้อต้องห้ามคล้ายๆกัน จึงคิดว่าอาจจะส่งร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับให้ สนช.พร้อมกันคือในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ซึ่งเมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายนี้มีผลบังคับใช้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมการสู่การเลือกตั้ง
 
ที่มา: TNN 
 
สมชัย ยก 7 เรื่องร่างกม.ลูกส.ส.ล้าหลัง-ทำเลือกตั้งวุ่น ลั่นหากมีปัญหา กรธ.-สนช.รับผิดชอบ
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า การร่างกฎหมายใหม่สักฉบับควรเพิ่มเติมในมุมที่ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ ป้องกันทุจริต ให้ความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มาก แต่มุมมองในการร่างกฎหมายของกรธ.ชุดนี้กลับมีด้านที่ล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถป้องกันทุจริต และทำให้ประชาชนเกิดความยากลำบากในการใช้สิทธิ์ ยกตัวอย่างสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในร่างกฎหมายใหม่ ที่ทำให้การเลือกตั้งล้าหลัง 
 
ประการแรก ให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเป็นคนละเบอร์ แทนที่จะใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศให้ประชาชนจดจำได้ง่าย และส่งเสริมระบบพรรคให้เข้มแข็ง ประการที่สอง การกำหนดให้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องใช้บัตร และกำหนดเงื่อนไขปิดกั้นการใช้วิธีการอื่นที่ทันสมัยและสะดวกต่อประชาชน ประการที่สาม การกำหนดวิธีการรับสมัครให้ใช้วิธีการสมัครด้วยตนเองและให้ย้ายสถานที่รับสมัครได้หากเกิดความวุ่นวาย ทั้งๆที่เคยมีประสบการณ์การถูกปิดล้อมจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ 
 
ประการที่สี่ การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเป็น 1,000 คน ต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ทำให้จำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศลดลง ประชาชนต้องเดินทางไกลขึ้น และจำนวนผู้รอในแถวเพื่อขอใช้สิทธิ์จะยาวขึ้นกว่าเดิม ประการที่ห้า การลดจำนวนกรรมการประจำหน่วยให้เหลือไม่น้อยกว่า 5 คน จากเดิมใม่น้อยกว่า 9 คน การดูแลจัดการจะยากขึ้น การทุจริตซื้อกรรมการยกหน่วยง่ายขึ้น ประการที่หกการให้บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์หน้าหน่วย ไม่ต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน เพิ่มความยุ่งยากในการจัดพิมพ์ เนื่องจากบัญชีในหน่วยยังต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ทำให้ต้องพิมพ์สองรอบ และ เปิดช่องให้ทุจริตส่งผีเข้าบ้านเลขที่ปลอมได้โดยง่าย และประการที่เจ็ด การห้ามทำโพลที่มีผลต่อการตัดสินใจการใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นการปิดกั้นสื่อและสถาบันการศึกษาในการใช้หลักวิชาการเพื่อส่งเสริมการเลือกตั้ง
 
 
กกต. เตรียมออกระเบียบพรรคการเมืองไม่รอปลดล็อค วิจารณ์กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ล่าหลัง
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร เผย กกต. พร้อมออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ธันวาคมนี้ แม้ คสช. ยังไม่ปลดล๊อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม พร้อมวิจารณ์กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้การเลือกตั้งวุ่น ชี้หากเกิดข้อผิดพลาดไม่ใช่ปัญหาจาก กกต.
 
ที่มา: ประชาไท
 
9 พฤศจิกายน 2560
 
'บิ๊กตู่'ม.44ต่ออายุ'นที ขลิบทอง' นั่งผอ.กองทุนหมู่บ้านอีก1ปี
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 50/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 59/2559  ให้ นที ขลิบทอง ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต่อไป จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 และให้ผู้มีหน้าที่และอํานาจดําเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป และในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
 
ที่มา: แนวหน้า
 
วิษณุเผยรัฐบาลเล็งผ่อนคลายคำสั่ง คสช.ให้จัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่นบางแห่ง
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า เตรียมเรียกกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อหารือแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงจะหารือถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่ที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อที่จะให้บางท้องถิ่นเตรียมการรองรับการเลือกตั้งทั่วไปได้ โดยการเลือกตั้งในบางท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร พัทยา และ เทศบาลต่างๆ ในบางพื้นที่ ที่อาจต้องผ่อนคลายคำสั่ง คสช.ให้สามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นการหาเสียงได้ แต่ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่จะต้องได้ กกต. ชุดใหม่ก่อน
 
แต่จะไม่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 หรือคำสั่งอื่นใด เพื่อคืนตำแหน่งให้กับนักการเมืองท้องถิ่น หรือข้าราชการที่ถูกคำสั่งตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับการทุจริตก่อนหน้านี้ เนื่องจาก ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะต้องตรวจสอบ ผลการสืบสวนสอบสวนจาก 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สตง. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ก่อน
 
 
สนช.มีมติประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ใช้เป็นกฎหมาย
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 192 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง สำหรับเหตุผลที่ต้องตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของราชวิทยาลัยในการวิจัย การจัดการศึกษาและการผลิตบุคลากรในระดับสูงเพื่อสร้างองค์ความรู้ การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุขและการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน จะต้องดำเนินงานด้วยความรวดเร็วเพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศ สมควรแยกสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ออกจากการเป็นส่วนงานของราชวิทยาลัย เพื่อให้การบริหารงานของราชวิทยาลัยมีความคล่องตัวและสามารถดำเนินงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่จะดำเนินงานตามภารกิจได้โดยเร็วและมีความเป็นอิสระในการบริหารงานและการบริหารงบประมาณ นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของราชวิทยาลัย สมควรกำหนดให้ราชวิทยาลัยอาจมีประธานราชวิทยาลัย เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาต่อสภาราชวิทยาลัยในกิจการทั้งปวงตามวัตถุประสงค์ของราชวิทยาลัย รวมทั้งสมควรแก้ไขชื่อตำแหน่งประธานสภาราชวิทยาลัยและรองประธานสภาราชวิทยาลัย เป็นคำว่า นายกสภาราชวิทยาลัย และ อุปนายกสภาราชวิทยาลัย เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
 
 
10 พฤศจิกายน 2560
 
“วิษณุ” เรียกกรธ.-มท.ถก แจงไม่ปลดล็อกท้องถิ่นพร้อมกัน หวั่นวุ่นวาย
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปลดล็อกให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ในสัปดาห์หน้าตนได้นัดทางกระทรวงมหาดไทย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่เหมือนเดิม จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ คสช.จะพิจารณาว่าจะปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับใดก่อน และระดับใดควรเลือกทีหลัง ทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. กทม. และเมืองพัทยา โดยมีทั้งการเลือกสภาท้องถิ่นและสมาชิก ซึ่งคิดว่าไม่ปลดล็อกพร้อมกันทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย