NLA Weekly (11 - 17 พย. 60) : สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะและพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ให้ใช้ภาษีบาปช่วยสงเคราะห์คนชรา

NLA Weekly (11 - 17 พย. 60) : สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะและพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ให้ใช้ภาษีบาปช่วยสงเคราะห์คนชรา

เมื่อ 19 พ.ย. 2560
สำหรับความเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ ในการผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) 2 ฉบับ ของ สนช. โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจคือ การนำเงินจากภาษีบาป ได้แก่ สุราและยาสูบ จำนวนร้อยละ 2 หรือไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี นำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่ยกร่างเสร็จแล้วและจะให้ สนช. พิจารณาในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้
 
 
13 พฤศจิกายน 2560
 
ประธาน สนช. เผย เตรียมหารือแก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ยืนยัน ไม่กระทบการพิจารณากฎหมายลูกช่วงปลายเดือน
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึง การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยยืนยันว่า จะไม่กระทบกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะส่งมายัง สนช. ช่วงปลายเดือนนี้  อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และจะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาแก้ไข ให้สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้  ยืนยันว่า สนช.มีความพร้อมในการพิจารณากฎหมายได้ทันเวลา
 
 
 
14 พฤศจิกายน 2560
 
คณะกรรมการสรรหา กกต. ประชุมนัดแรก พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 41 คน
 
การประชุมคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)   นัดแรกมี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม  เป็นการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร   41 คน  โดยผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติ เป็นศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี  หรือประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 20 ปี  ทั้งนี้  คณะกรรมการสรรหาจะส่งคุณสมบัติของผู้สมัคร ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ โดยจะต้องมีการยืนยันคุณสมบัติกลับมายังคณะกรรมการสรรหา ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 
 
สำหรับขั้นตอนในการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. นั้น  คณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติโดยชอบ  จำนวน 5 คน   และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก  จำนวน 2 คน  โดยต้องทำการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน คือ ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2560  ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนด ก่อนส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน
 
 
15 พฤศจิกายน 2560
 
ประธาน กรธ. เผยยกร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. ทั้งฉบับเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนทบทวนเนื้อหา
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่า ขณะนี้ กรธ. ได้ยกร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหาเพื่อความสอดคล้องและเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และข้อเสนอจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีกำหนดส่งกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับให้ สนช. พิจารณา ในวันที่ 28พฤศจิกายนนี้
 
 
16 พฤศจิกายน 2560
 
รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ระบุไม่มีสมาชิก สนช. ลาออก รับตำแหน่ง รมว. 
 
         สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)คนที่หนึ่ง กล่าวถึงกระแสข่าวการลาออกของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางราย เพื่อมีรายชื่อเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบเรื่องการลาออกของสมาชิก สนช. ส่วนเรื่องที่มีการทาบทาม นาย วุฒิศักด์ ลาภเจริญทรัพย์ หนึ่งในสมาชิก สนช. เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นคาดเดาของสื่อมวลชนเองเท่านั้น เพราะส่วนตัวก็ทราบจากสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าว แต่ยืนยันในขณะนี้ไม่มีการลาออก แต่อย่างใด 
 
 
“วิษณุ” เผย ต้องแก้กม. 6 ฉบับ ก่อนจัดเลือกตั้งท้องถิ่น โยน คสช. พิจารณาปลดล็อค
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ ซึ่งการจะให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆนี้ จะไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.), พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.),พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และพ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 โดยทั้ง 6 ฉบับนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ จากนั้นค่อยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป ดังนั้นเมื่อกฎ​หมายทั้ง 6 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อคต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากกฎหมายผ่าน ครม. และเข้า สนช. แล้ว ทาง คสช. จะพิจารณาปลดล็อคเพื่อให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า "ทาง คสช. จะเป็นผู้พิจารณาว่าเลือกตั้งประเภทใด และเลือกตั้งเมื่อใด โดยการประชุมเมื่อเช้าเราไม่ได้หารือกันเรื่องโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใช้เวทีอื่น"
 
 
สนช.ผ่านกฎหมายผู้สูงอายุ นำเงิน2%จากภาษีบาปช่วยสงเคราะห์คนชรา
 
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในวาระ2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ การนำเงินจากภาษีบาปได้แก่สุราและยาสูบ จำนวนร้อยละ 2 หรือไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี นำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยกำหนดให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ให้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุกเบกษา
 
พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อที่ประชุมสนช.ว่า เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน จะให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้น้อย ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ที่ได้ไปขึ้นทะเบียนคนจนกับรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น ใครไม่ไปขึ้นทะเบียนคนจนไม่มีสิทธิได้เงินจำนวนนี้ ส่วนจะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจะได้เงินคนละเท่าใด ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯจะไปกำหนดหลักเกณฑ์อีกครั้ง
 
โดยที่ประชุมสนช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 3 ด้วยคะแนน 181 ต่อ 0 งดออกเสียง 6 ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
 
สนช. ผ่านร่างพรบ.หนี้สาธารณะ
 
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การบริหารหนี้สาธารณะ ฉบับที่ พ.ศ. .. ในวาระ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ซึ่งมีหลักการและเหตุผลคือ การกำหนดขอบเขตนิยามคำว่า หนี้สาธารณะให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ แก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ รวมถึงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดนิยาม หนี้สาธารณะ ใหม่ว่า หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกันและหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 12 คน โดยมีรมว.คลังเป็นประธาน นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ได้มีการแก้ไขในมาตรา 36/8 โดยกำหนดว่า กรณีการลงทุนในประเทศให้นำไปลงทุนได้ดังนี้ 1.ตราสารหนี้ที่ออกหรือค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง 2.ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 3.ตราสารหนี้อื่นที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 4.ทำธุรกรรมซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืนซึ่งตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย 5.เงินฝากหรือบัตรเงินฝากของสถาบันการเงินภาครัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
 
 
17 พฤศจิกายน 2560
 
'นายกฯ'เผย 'ครม.ประยุทธ์5' คลอดไม่เกินเดือนหน้า
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความชัดเจนเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า "เรื่องครม. ขอให้จบเสียที นักการเมืองที่พูดกันมาก็ไม่มี เลิกลือกันเสียที ยังอยู่ในขั้นตอนโปรดเกล้าฯ ก็คงไม่นาน ยังไงก็ภายในเดือนธันวาคมนี้ ขอให้ใจเย็น ผมทำดีที่สุดแล้ว ผมต้องการเอาคนที่เข้ามาให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ไม่ใช่คนเก่าไม่ดี แต่คนไทยขี้เบื่อ ผมก็จะดูให้ ปรับให้ และได้คุยหารือไม่ว่ารัฐบาลประยุทธ์ 1,2,3,4 ก็ทำงานด้วยกัน จะบอกว่าทำไม่ดี มาถึงวันนี้ได้เพราะคนเหล่านั้นทำมากับผม และต้องมีคนสานต่อ คนที่เริ่มต้นไปแล้วบางคนก็ต้องพักผ่อน ผมก็หาคนที่เหมาะสมมา และนักการเมืองที่มีปัญหาต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนให้ได้ อย่าติติงกันมากนักเลย" ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยืนยันว่า โผ ค.ร.ม. ใหม่ ไม่เกินสิ้นปีนี้แน่นอน