27 พฤศจิกายน 2560
กรธ. เตรียมส่งร่าง กม. ส.ส. และ ส.ว. ให้สนช.รับหลักการ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พิจาณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ยืนยันว่า ไม่กังวลในชั้นการพิจารณาของ สนช. เพราะทำงานควบคู่กันมาตลอด ซึ่งหาก สนช. มีข้อเสนอเข้ามาก็ต้องพิจารณากันต่อไป และขออออกความเห็น เกี่ยวกับข้อสังเกตของบางฝ่ายที่มองว่า ส.ว. ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก นับจากมีรัฐสภาชุดแรก ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดรัฐบาลทหาร แต่ได้ระบุว่า ในการเลือกตั้งหากได้เสียงข้างมากไม่ว่าพรรคใดก็ตามก็มีโอกาสตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้ว ซึ่งหากเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อหรือนายกรัฐมนตรีคนนอกตามบทเฉพาะกาล พร้อมย้ำว่า กระบวนการทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้ว
สนช. เตรียมพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ได้เสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดสมาชิกประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ในเวลา 10.00 น. ณ อาคารรัฐสภา โดยมีวาระสำคัญพิจารณาเรื่องด่วน ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าชุมชน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเสร็จแล้ว รวมทั้งรับทราบผลการดำเนินการและผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย รับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของ กมธ.วิสามัญศึกษาและเตรียมความพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนยานพาหนะของประเทศไทย เรื่อง การศึกษาและเตรียมความพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนยานพาหนะของประเทศไทย, รับทราบผลการพิจารณาพร้อมข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) ที่ มหรรณพ เดชวิทักษ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ และรับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อสังเกตของ กมธ.การสาธารณสุขพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
28 พฤศจิกายน 2560
กรธ. ส่งร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายให้ สนช. แล้ว
ตัวแทนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.). ให้กับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในการประชุมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็น 2 ฉบับสุดท้ายที่ กรธ. ร่างขึ้น และพิจารณาเสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 240 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ส.ส. และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ส.ว. ว่า จะนำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และย้ำว่าการพิจารณากฎหมายลูกเป็นไปตามกรอบเวลา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ กรธ. ส่งร่างให้ สนช. ดังนั้น แม้ว่ามีเวลาน้อยก็ไม่สามารถขยายเวลาได้ และแม้ว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันในร่างกฎหมายของตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในร่างกฎหมายที่จะต้องใช้เวลาในการพิจารณา ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะนำมาขยายเวลาได้เช่นกัน
29 พฤศจิกายน 2560
ร่าง กม. ด้วย ส.ส. และ ส.ว. เข้าที่ประชุม รอรับหลักการ
เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 10 ฉบับ ต่อ สภานิติบัญญํติ (สนช.) ครบแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ทั้ง 2 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. ... ในวาระรับหลักการ จากนั้นเมื่อมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ทั้ง 2 ร่างจะใช้กรรมาธิการวิสามัญแยกชุดกัน เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ และพิจารณาได้เสร็จทันภายในกรอบเวลา 60 วัน พร้อมยืนยันว่า เมื่อร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ ก็จะมีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้
30 พฤศจิกายน 2560
มติเสียงข้างมากรับหลักการ ร่างกม.เลือกสว.
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 177 เสียง ต่อ 1 เสียง รับหลักการวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้ม่ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยมี สนช. 10 คนงดออกเสียง สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ การได้มาซึ่ง สว. ทั้ง 250 คนในวาระเริ่มแรก โดยคัดเลือกจากบุคคลที่มีอาชีพหลากหลายจาก 20 กลุ่มอาชีพ กกล้าณรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. กล่าวว่า อาจจะเกิดปัญหาในขั้นตอนการเลือกไขว้ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ว่าจะมีการลำดับดีหรือไม่ ส่วนมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยอมรับว่ายังมีความเป็นห่วงในการเลือก สว. แต่เราต้องปฏิรูปเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ในประเทศชาติ และต้องไม่ลุกขึ้นปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ
1 ธันวาคม 2560
มติเอกฉันท์ สนช. รับหลักการร่าง กม. ปราบโกง
สนช. มีมติเอกฉันท์ 160 คะแนน รับหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกตราขึ้นตามข้อกำหนดของ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 63 ให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรู้ถึงภัยของการทุจริตและประพฤติมิชอบในรัฐ และเอกชน โดยมีสาระสำคัญ คือ การตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบการการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผู้แทนของสำนัก ป.ป.ท. ผู้แทนจากเอกชน 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวเพื่อต่อต้านการทุจริต และแก้ไขอำนาจเพิ่มเติม มาตรา 63 มาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ความคุ้มครองพยานโดยห้ามดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัย
มติเอกฉันท์ สนช. รับหลักการกม.เลือกตั้ง
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ 189 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญคือ การนำคะแนนที่ประชาชนไม่เลือกผู้ใดมานั้บแล้วประกาศให้ประชาชนทราบ เขตใดมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ผู้สมัครทั้งเขตนั้นก็จะไม่ได้รับเลือกตั้งทั้งเขต ต้องกลับไปสร้างคุณงามความดี 4 ปี แล้วค่อยกลับมาลงสมัครเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งสนช. ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีข้อสังเกตบางประการ อาทิ มาตรา 15 ที่ให้ กกต.สามารถมีมติไม่น้อย 2 ใน 3 เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ หากมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จนเป็นเหตุไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า ควรมีมาตรการในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของ กกต.เกี่ยวกับการกำหนดการเลือกตั้งตามมาตตรา 15 เช่นเดียวกับมาตรา 75 ซึ่งกำหนดห้ามเกี่ยวกับการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าควรกำหนดความผิดให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องด้วย