ความเคลื่อนไหวสัปดาห์ส่วนใหญ่อยู่ที่ประเด็น 'การเลือกตั้ง' เนื่องจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป ร้องแก้กฎหมายพรรคการเมือง บางมาตรา ที่ไม่อาจดำเนินการได้ทันและกระทบต่อสิทธิการรับสมัครลงเลือกตั้ง
ในประเด็นนี้มีคนขานรับอยู่หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. รับว่า หากมีการแก้ไขต้องดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญและคาดว่าจะกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เผยว่า ถ้าจะมีการแก้ไขให้เป็นหน้าที่รัฐบาลเสนอมา พร้อมเสนอสองทาง ให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาเรื่องการหาสมาชิกพรรคกับ กกต. หรือไม่ก็เพิ่มเติมในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แทน
ส่วนเรื่องอื่นๆ สัปดาห์นี้ ไม่มีการพิจารณากฎหมาย และสนช. เลือกการให้ความเห็นชอบ ผู้ได้รับการสรรหาให้เป็นกกต. ออกไป เนื่องจากยังติดใจกระบวนการสรรหา ว่าที่ กกต. ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
9 ธันวาคม 2560
คกก.ปฏิรูปการเมือง เตรียมดึง 12 คนดังทำโฟกัสกรุ๊ป
วันชัย สอนศิริ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 จะมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเก็บรับข้อเสนอนำไปประกอบการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองโดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะหรือโฟกัสกรุ๊ป จำนวน 12 คน จากภาคส่วนต่างๆ เช่น นักการเมือง, กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), นักวิชาการ, นักสันติวิธี, องค์กรปกครองท้องถิ่น, สื่อมวลชน , องค์กรภาคประชาชน ฯลฯ
ทั้งนี้มี 5 ประเด็นหลักที่จะรับฟังความเห็น คือ 1.การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม 2. การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย 3. การสร้างความปรองดอง 4.การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและ 5.การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำหรับประชาชนที่ประสงค์จะเสนอความเห็น สามารถส่งความเห็นและข้อเสนอแนะมาได้ที่
www.nesdb.go.th ทางกรรมการปฏิรูปฯ ด้านการเมืองยินดีรับฟังทุกความเห็น
10 ธันวาคม 2560
กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูก ป.ป.ช. แล้วเสร็จ ยันมีกลไกให้ปชช.ร่วมตรวจสอบ ย้ำกรณีเปิดเผยทรัพย์สิน ต้องมีขอบเขต
วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ว่า ภายในวันที่ 15 ธันวาคม กมธ.จะพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดเสร็จสิ้น และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมสนช. พิจารณา วาระสองและวาระสามซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 29 ธันวาคม
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ยังให้ความสำคัญต่อบทบาทของภาคประชาชนด้านการมีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบการทุจริต ขณะที่ระบบการทำงานของ ป.ป.ช. นั้นเพิ่มความรัดกุม โดยการกำหนดระยะเวลาของการทำแต่ละคดีให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่คั่งค้าง อีกทั้งกลไกที่เพิ่มอำนาจประชาชนร่วมตรวจสอบจะเป็นส่วนสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพต่อต้านการโกงได้
วุฒิศักดิ์ ยังกล่าวถึงข้อถกเถียงประเด็นการตรวจสอบและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและบุคคลด้วยว่า ยังคงบทบัญญัติที่ให้เปิดเผยโดยสรุปไว้ในเนื้อหา แต่เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ กมธ.ฯ ทำข้อสังเกตไปยัง ป.ป.ช. ต่อแนวทางปฏิบัติด้วยว่า ข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ เลขบัตรประจำตัวประชาชน, ที่อยู่ของบ้านพัก, เลขโฉนดที่ดิน ไม่ควรถูกเปิดเผย แต่รายละเอียดของทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ควรเปิดเผยทั้งหมด เหตุผลที่กมธ.ฯ ไม่ตัดถ้อยคำโดยสรุปออกจากกฎหมายเพราะเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้น จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอาจมีผลขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกันเกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามร่างกฎหมายจะกำหนดให้ประกาศในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ตามที่ ป.ป.ช.จะกำหนดระเบียบต่อไป
วุฒิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ร่างกฎหมายกำหนดให้ข้าราชการทุกระดับต้องแจ้งบัญชีของตนผ่านหน่วยงานและให้เก็บเป็นความลับ ขณะที่การยื่นบัญชีของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง กมธ.ฯ คงรายละเอียดไว้เดิม คือ ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งและยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งภายใน 30 วัน และพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี โดยไม่มีเนื้อหาใหม่เพิ่มเติมนอกจากนั้นแล้ว แม้กฎหมายจะกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อนรับตำแหน่งและหลังพ้นตำแหน่ง แต่ไม่มีข้อห้ามใดที่ ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแจ้งรายการทรัพย์สินที่ได้เพิ่มมาระหว่างดำรงตำแหน่ง ดังนั้นกรณีที่เป็นประเด็นวิจารณ์ในสังคม เช่น กรณีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ใส่แหวนเพชร และสวมนาฬิกาแพงนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องเขียนกฎหมายใดๆ เพิ่มเติม
12 ธันวาคม 2560
ไพบูลย์ นิติตะวัน ร้องแก้ กม.พรรคการเมือง-ประธาน สนช. ประเมินกระทบโรดแมปเลือกตั้ง 61
ที่รัฐสภา คณะผู้เตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป เข้ายื่นหนังสือต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และฝากหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสถานะของสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อน พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 บังคับใช้ยังได้สิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แม้จะไม่ชำระเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด เพราะประเด็นดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้ง ในกระบวนการหาสมาชิกพรรคการเมือง ที่ถูกบังคับให้การหาสมาชิกพรรคการเมืองต้องทำพร้อมกับการชำระค่าบำรุงพรรค
ด้าน พรเพชร กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.พรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ผ่านการเสนอของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช. แต่ส่วนตัวมองว่าหากใช้การแก้ไขเพิ่มเติม อาจใช้เวลานาน ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เพราะต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจจะมีปัญหาและผลกระทบต่อระยะเวลาที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ นอกจากนั้นอาจกระทบต่อโร้ดแม็พเลือกตั้ง ปี 2561 ได้
พรเพชร กล่าวด้วยว่าขณะนี้มีสมาชิก สนช. เสนอทางออกที่ไม่เป็นปัญหาเรื่องกรอบเวลาในพ.ร.ป.พรรคการเมืองและกระทบโร้ดแม็พเลือกตั้ง 2561 ผ่านการเขียนบทบัญญัติไว้ใน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของ กมธ.ฯ สนช. เพราะ กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้นมีความเชื่อมโยงกัน แต่กระบวนการดังกล่าวจะต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง
13 ธันวาคม 2560
สนช.ชี้พรรคการเมืองยื่นขอขยายเวลาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองเร็วกว่าแก้กฎหมาย
เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) และ สมชาย แสวงการ เลขานุการ วิป สนช. แถลงผลการประชุมว่า ได้พิจารณากรณีที่มีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง 2 กลุ่ม ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ประธาน สนช. ขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกลุ่มของพรรคพลังชนและพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้แก้ปัญหาจากบทเฉพาะกาลในมาตรา 140 และ 141 เนื่องจากเกรงว่าอาจดำเนินการเรื่องฐานข้อมูลทะเบียน
สมาชิกพรรคไม่ทันกรอบเวลา
รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมวิปเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้พรรคการเมืองสามารถยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอขยายเวลาการดำเนินการตามความจำเป็นได้อยู่แล้ว รวมแล้วไม่เกิน 3 ปี และนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถพิจารณาอนุญาตได้ แต่หากไม่ได้รับอนุญาต ต้องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา อีกทั้งยังเปิดช่องให้พรรคการเมืองร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกด้วย ดังนั้น การยื่นขอขยายเวลาจากนายทะเบียนพรรคการเมืองจะง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง
วิป สนช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับอีกข้อเรียกร้องจากกลุ่มของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่เรียกร้องให้ปรับแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองใหม่นั้น วิป สนช. เห็นว่า อาจไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเนื่องจากเป็นเรื่องของรายละเอียด จึงอาจเชิญ 2 กลุ่ม มาพูดคุย หรือแก้ไขจากแนวทางปฏิบัติของ กกต. ในการประกาศกำหนด อย่างไรก็ตาม จะมอบให้กรรมาธิการการศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธาน นำไปพิจารณาศึกษาต่อไป
14 ธันวาคม 2560
มีชัย เลี่ยงตอบการสรรหา กกต. ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขอให้รอการชี้แจงกลับมายัง สนช.
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีกระบวนการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 2 คน จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถูกวิจารณ์ว่ามีการลงคะแนนแบบไม่เปิดเผย ซึ่งอาจขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ที่ระบุว่าต้องลงคะแนนแบบเปิดเผยว่า ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ทราบว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใช้วิธีการลงคะแนนแบบใด
ทั้งนี้ วิธีการลงคะแนนสามารถเป็นได้ทั้งการลงคะแนนแบบลับ และเปิดเผย แต่ขึ้นอยู่กับว่าบัตรลงคะแนน สามารถบอกได้หรือไม่ว่าเจ้าของบัตรลงคะแนนหรือผู้เลือกว่าที่ กกต. ดังกล่าวเข้ามาเป็นใคร ดังนั้น กรณีนี้ควรสอบถามไปที่ศาลฎีกาโดยตรง ซึ่ง ขณะนี้ สนช. อยู่ระหว่างดำเนินการสอบถามไปยังศาลฎีกา คาดว่าจะทราบรายละเอียดเร็ว ๆ นี้
สนช.เลื่อนถกเห็นชอบรายชื่อกกต.ใหม่
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความเห็นร่วมกันให้เลื่อนการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลที่ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 7 คนออกไปก่อน ภายหลังมีสมาชิกสนช.ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับกระบวนสรรหากกต.จำนวน 2 คนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560
โดย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช.ได้อภิปรายว่า รายชื่อ 5 คนในส่วนของคณะกรรมการสรรหานั้นไม่มีปัญหา จะติดใจในส่วนของ 2 รายชื่อที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าการเลือกนั้นเป็นลงมติการเปิดเผยหรือไม่ พราะจากข่าวที่ออกมาเป็นการลงมติโดยไม่เปิดเผย แม้ศาลจะออกมาชี้แจงว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน ขอให้ศาลฎีกาชี้แจงขั้นตอนและตอบกลับมาก่อนว่า กระบวนการสรรหาถูกต้องหรือไม่ และควรพิจารณาตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติทั้ง 7 คนไปพร้อมกัน
คสช.เล็งเสนอแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองแทนการปลดล็อก
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการตกลงอะไร แต่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าสามารถทำได้ ซึ่งมี 2 ทาง คือ การแก้กฎหมายพรรคการเมือง หรือปลดล็อกประกาศจึงเหลือทางแก้กฎหมาย ซึ่งมีการคิดกันมานานแล้ว และ คสช.รู้ตั้งแต่ต้นว่าหากเกิดอะไรขึ้นมาก็ต้องแก้กฎหมายเพื่อผ่อนปรนขยายเวลา ทั้งนี้ ทำให้ไม่เสียสิทธิพรรคการเมืองกรณีปฏิบัติไม่ทันเวลา แต่ถึงอย่างไรพรรคการเมืองก็ส่งคนลงสมัครได้เพียงแต่ไม่ต้องรีบร้อน เพราะตอนนี้กฎหมายเลือกตั้งยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่
15 ธันวาคม 2560
'มีชัย' ชี้กม.พรรคการเมืองแก้ได้ถ้ามีเหตุ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อขยายกรอบเวลา และเซ็ตซีโรสมาชิกพรรคเพื่อความเท่าเทียม จากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ว่า กฎหมายที่ออกมาแล้วสามารถแก้ไขได้ถ้ามีเหตุ ต้องมาดูว่า จะแก้เพราะเหตุอะไร หากจะแก้เพราะต้องการขยายเวลา หรือเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรค ก็แก้ได้
ส่วนที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุหากแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องใช้เวลา 2 เดือน และจะมีผลกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้งหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าจะแก้ไขอย่างไร ต้องดูตอน สนช.แก้
วิป สนช.ไม่แก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นัด "สุเทพ-ไพบูลย์" หารือ
สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ถึงข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งได้ข้อสรุปยังไม่มีการเสนอแก้ไข พ.ร.ป.ดังกล่าว
"เนื่องจากบทเฉพาะกาลยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถยื่นเรื่องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองคือเลขาธิการกกต. เพื่อขอให้ขยายเวลาเกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมืองออกไปได้ แม้จะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 5 ม.ค.2561 ก็ตาม" สมชาย กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการจะเชิญ สุเทพ เทือกสุบรรณ ไพบูลย์ นิติตะวัน และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาชี้แจงถึงปัญหาที่มีการอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมในวันที่ 22 ธันวาคม 2560
สมชาย กล่าวว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะมีขั้นตอนค่อนข้างมาก อีกทั้งยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก ซึ่งจะทำให้ไม่ทันกรอบเวลาในวันที่ 5 มกราคม 2561
รองประธาน สนช.ยันแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเสนอมา แย้มอาจใส่ในบทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.
พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะมีทีท่าจะให้แก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือไม่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะมีทีท่าจะให้แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่
สำหรับข้อเสนอของไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ทาง สนช.จะหารือแล้วเสนอวิปอีกที หากมีข้อสรุปแล้วก็อาจจะทำความเห็นไปยังรัฐบาล เช่น หากพบว่าเกิดปัญหาอุปสรรคจริงก็อาจให้ไปใส่ในบทเฉพาะกาลยกเว้นให้ใน ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ อยู่ก็ได้