สัปดาห์นี้เรื่องที่สำคัญคือ หัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. ให้ขยายเวลาการทำกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นเรื่องของงานธุรการออกไป การตั้งพรรคการเมืองใหม่สามารถเริ่มต้นได้แต่ต้องขออนุญาตและอยู่ในเงื่อนไขที่ คสช.กำหนด ส่วนพรรคการเมืองใหม่ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้ จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.
ขณะที่ในสภานับว่าเป็นการประชุมที่แปลกตากว่าครั้งใด นับตั้งแต่ สนช.ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อมีการอภิปรายร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้เวลาสองวันในการอภิปราย โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ การเพิ่มอำนาจในการดักฟังให้ ป.ป.ช. ทำให้สมาชิก สนช.อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มประเด็นเข้ามา ทั้งนี้ประธานสนช. นัดลงมติร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ ในวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคมนี้
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน สนช. จะพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่สองและสาม รวมทั้ง การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง และ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
18 ธันวาคม 2560
ประธาน สนช. ระบุ รอคำชี้แจงจากศาลฎีกาถึงการลงมติเลือก กกต. ย้ำไม่กระทบเลือกตั้ง แต่หากแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง กระทบเลือกตั้งแน่
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เปิดเผยว่าหลังจากทำหนังสือขอคำยืนยันกระบวนการลงมติเลือกกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดใหม่ในสัดส่วนศาลฎีกา 2 คน ขั้นตอนจากนี้ คือ รอคำชี้แจงจากศาลฎีกา ก่อนนำเข้าที่ประชุม สนช. ว่าสมาชิกจะมีความเห็นอย่างไร เบื้องต้นทราบว่าการลงมติของศาลฎีกาได้ดำเนินการตามกระบวนการที่เคยทำมาในอดีต คือการลงคะแนนแบบไม่เปิดเผย แต่กฎหมายใหม่ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย ทั้งนี้ หาก สนช. ไม่เห็นชอบว่าที่ กกต. คนใด จะต้องเริ่มสรรหา กกต.ใหม่ในส่วนที่ขาด จนกว่าจะครบ และยืนยันว่าไม่กระทบกรอบเวลาในการสรรหา 90 วัน และหากยังไม่มีกกต. ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ ไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง เพราะ กกต. ชุดปัจจุบัน จะต้องทำหน้าที่รักษาการ จนกว่าจะมี กกต. ชุดใหม่
19 ธันวาคม 2560
ศาลฏีกายันสรรหาว่าที่กกต.ถูกต้อง
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ว่าได้รับหนังสือตอบกลับจากศาลฎีกาแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านในเนื้อหา โดยเขายืนยันว่ากระบวนการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 2 คนได้ทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ว่าจะพิจารณาอย่างไร และจะนำรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อไหร่
"บิ๊กป๊อก" ชงลด อบต.เหลือหมู่บ้านละ 1 คน ทุ่นงบ 4.7 พันล้าน รอ ครม.ไฟเขียว
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับว่า กระทรวงมหาดไทยได้ส่งความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้จะลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หากกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จ จะส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเห็นของกระทรวงมหาดไทยเสนอไป มีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล จากเดิมกำหนดหมู่บ้านละ 2 คน ทางมหาดไทยเสนอให้เหลือหมู่บ้านละ 1 คน เพื่อประหยัดงบประมาณปีละ 4.7 พันล้าน แต่ก็อยู่ที่การพิจารณาของ ครม.ว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร
20 ธันวาคม 2560
"วิษณุ" คาดครม.ผ่านกม.เลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกินก.พ. 61 ชี้ประเด็นกกต.ไม่จำเป็นแก้ไข 40 ประเด็น
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการให้แก้ไข 40 ประเด็นว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ได้เจอศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. และได้หารือเรื่องดังกล่าว โดยศุภชัย ระบุว่าคงไม่ได้แก้ไขถึง 40 ประเด็น แต่คนที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นคิดจะแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทันคิดถึงปัญหาอื่นๆ ที่ กกต.ต้องระทมขมขื่น ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมาก่อนหน้านี้ โดย วิษณุ คาดว่ากฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นคงจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ กฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาของครม.
21 ธันวาคม 2560
สนช.ถกเดือด ร่างกม.ป.ป.ช. ดาหน้าค้านเพิ่มอำนาจป.ป.ช. ดักฟังข้อมูล ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขัดรธน.หากเดินหน้ายื่นศาลรธน.ตีความแน่
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีการเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช) วาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณเสร็จแล้ว จำนวน 193 มาตรา มีสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหน่วยงานต้นสังกัด ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ขณะที่ผู้ทำงานอยู่แล้วให้ยื่นภายในเวลาที่กำหนด การกำหนดให้คู่สมรสที่ไม่จดทะเบียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. โดยให้ ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ การกำหนดระยะเวลาไต่สวนพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี การเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ทุกชนิด ในคดีทุจริตและร่ำรวยผิดปกติของนักการเมือง ข้าราชการและประชาชน และการต่ออายุการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี
สมาชิกสนช.หลายคน เช่น วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมชาย แสวงการ ตวง อันทะไชย และสุรางคนางค์ วายุภาพ อภิปรายท้วง เรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆได้ โดยเป็นห่วงว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 จึงขอความชัดเจนจากกมธ.และ ขอให้กมธ.ตัดมาตรา 37/1 ของร่างพ.ร.ป. ป.ป.ช. ทิ้ง โดยสมาชิก สนช. บางคนเห็นว่า หากยังเดินหน้าต่อไปจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ อภิปรายว่าเรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์นั้น ยืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย
การอภิปรายในมาตราดังกล่าวสมาชิกสนช.หลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา 37/1 โดยใช้เวลาการอภิปรายนานหลายชั่วโมง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาทีเพื่อให้กรรมาธิการฯ ทั้งเสียงข้างมาก ข้างน้อยและสมาชิกไปหารือนอกรอบ หลังการหารือเสร็จนพรเพชร ได้เปิดประชุมและแจ้งว่า กรรมาธิการฯเสียงข้างมากยังคงยืนยันไม่ถอน มาตรา 37/1 ที่ถูกท้วงติง แต่เนื่องจากยังมีประเด็นที่สนช.อภิปรายไม่ครบถ้วนจึงขอเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 22 ธันวาคม
สนช.ตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวน17 คน สำหรับบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีทั้งสิ้นจำนวน 14 คน ประกอบด้วย 1.สายสุดา เศรษฐบุตร 2.วุฒิ มีช่วย 3.ฤทัย หงส์สิริ 4.สุกัญญา นาชัยเวียง 5.กิตดนัย ธรมธัช 6.อำพน เจริญชีวินทร์ 7.ไชยวัฒน์ ธำรงศรีสุข 8.ประสาน บางประสิทธิ์ 9.โสภณ บุญกูล 10.จักริน วงศ์กุลฤดี 11.ศิริวรรณ จุลโพธิ์ 12.ประวิทย์ เอื้อนิรันดร์ 13.จิรศักดิ์ จิรวดี และ 14.ธีรรัฐ อร่ามทวีทอง
"วิษณุ"เผยแผนปฏิรูป-ยุทธศาสตร์เสร็จหมดแล้ว เตรียมส่งสภาพัฒน์ 24 ธ.ค.นี้
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปว่าเป็นการประชุมสอบถามความคืบหน้าจากคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งแผนปฏิรูปจะต้องทำเสร็จและส่งให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2560 และแผนยุทธศาสตร์จะทำเสร็จและส่งให้สภาพัฒน์ ภายในวันที่ 24 มกราคม 2561 ซึ่งขณะนี้แผนทำเสร็จหมดแล้ว
22 ธันวาคม 2560
ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ขยายกรอบเวลาในการดำเนินการทางธุรการของพรรคการเมือง
สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขกับสมาชิกพรรคการเมืองเก่าให้ต้องดำเนินการแจ้งแสดงตัวเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค และขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินงานธุรการโดยต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน และกำหนดเงื่อนไขปลดล็อคพรรคการเมือง เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้
สนช.ปล่อยผี ป.ป.ช.อยู่ยาว นัดลงมติเห็นชอบ 25 ธ.ค.
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) มีประเด็นที่มีอภิปรายถกเถียงกันอย่างเข้มข้น คือ มาตรา 178 ว่าด้วยการให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง และยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. บางประการตามที่ร่างพ.ร.ป.กำหนดมาบังคับใช้
เจษฎ์ โทณะวณิก ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งต่อไป กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการในองค์กรอิสระ ดังนั้น กรรมการองค์กรอิสระที่จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ก็ควรจะต้องมีคุณสมบัติต้องตรงตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวชี้แจงว่า เราไม่ได้พิจารณาว่าบทเฉพาะกาลนี้จะเป็นไปเพื่อรองรับใคร แต่เป็นไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อห่วงใยต่างๆที่ว่าต่อไปเรื่องนี้จะมีปัญหาโดยจะมีผู้ไปยื่นเรื่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไปว่าอะไรไม่ได้ เพราะวันนี้เราดูตามรัฐธรรมนูญ และสิ่งสำคัญในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมและมีศักยภาพ ยืนยันว่าคณะกมธ.ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว และคิดว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปน่าจะสามารถช่วยประเทศชาติได้ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่าน โดยเราได้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสนช.ไม่ได้มีการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 178 โดยยังคงให้เป็นไปตามเนื้อหาที่คณะกมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างมากแก้ไข ภายหลังจากสมาชิกสนช.อภิปรายเสร็จสิ้นครบทั้ง 193 มาตรา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าการลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 และการให้ความเห็นชอบในวาระ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม
กมธ.วิสามัญรับฟังความเห็นประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมรับฟังความเห็นจาก กกต. และ นายไพบูลย์ ย้ำ หากแก้กฎหมายใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยในการประชุมซึ่งเชิญ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป เข้าให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
โดยไพบูลย์ เสนอต่อที่ประชุมฯ ว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง 3 ประเด็นสำคัญ ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองใหม่ในการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค ควรงดเว้นการทำไพรมารี่โหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจากพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่มีเวลาในการสมัครสมาชิกพรรคน้อยกว่าพรรคการเมืองเดิม รวมทั้งเสนอให้ คสช. ปลดล็อคพรรคการเมืองและอยู่ดูแลความสงบเรียบร้อยจนเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกตั้ง และรับรองผล เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ทุกพรรคสามารถส่งผู้สมัครลงยังเขตต่าง ๆ ได้โดยไม่เกิดปัญหา
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกรรมาธิการแจ้งว่า หัวหน้า คสช ได้ลงนามในคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อหาทางออกกรณีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ในระหว่างนี้ กรรมาธิการจะรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ เพื่อรอดูขอบข่ายของการใช้คำสั่งดังกล่าว ก่อนจะเชิญตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ มาร่วมหารืออีกครั้ง แต่หากให้ สนช. แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองเอง จะต้องใช้ระยะนาน คืออย่างน้อย 3 เดือน