NLA weekly (30 ธันวาคม 2560 - 5 มกราคม 2561): สนช. ยืนยัน มาตรา 44 ไม่กระทบเลือกตั้งปี 2561

NLA weekly (30 ธันวาคม 2560 - 5 มกราคม 2561): สนช. ยืนยัน มาตรา 44 ไม่กระทบเลือกตั้งปี 2561

เมื่อ 8 ม.ค. 2561
ความเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ ประธาน สนช. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปปี 2561 เพราะปัจจัยทางกฎหมายที่สนช. พิจารณายังเดินหน้าไปด้วยดี และการลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ตัดสินการเลือกตั้ง หรือ คว่ำกฎหมายลูกนั้น เกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องใช้เสียงข้างมากของ สนช. ถึง 2 ใน 3 และกว่าจะได้เสียงจำนวนดังกล่าวต้องมีกระบวนการล็อบบี้และส่งสัญญาณ 
 
30 ธันวาคม 2560
 
สนช.สรุปผลงานปี 60 ทำหน้าที่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ พิจารณากฎหมายและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนนำไปสู่การแก้ไข 
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของ สนช.  ในปี 2560 ว่า สนช. ได้ทำหน้าที่สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ  การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนนำไปสู่การแก้ปัญหา สำหรับการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ตลอดปี 2560 มีกฎหมายเสนอเข้ามายัง สนช. จำนวน 334 ฉบับ ผ่านการพิจารณาจาก สนช. แล้ว 271 ฉบับ ในจำนวนนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 263 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว 259 ฉบับ และในจำนวนที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ซึ่ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ประกอบด้วยกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) 
 
ขณะยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับที่อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้แก่ กฎหมายผู้ตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน และกฎหมายวิธีพิจาณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ที่ผ่านวาระ 3 แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น สนช.กำหนดกรอบเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จใน วันที่ 26 มกราคม 2561 อย่างไรก็ตาม  ยืนยันว่า สนช.ได้พิจารณากฎหมายตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในปี 2561 เมื่อขั้นตอนการพิจารณากฎหมายเสร็จสิ้นลง จะเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไป 
 
สำหรับการทำหน้าที่ของ สนช.ในด้านการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ได้จัดตั้งกรรมาธิการสามัญด้านต่าง ๆ เพื่อดูแลเรื่องร้องเรียนให้มีความครอบคลุม โดยมีเรื่องร้องเรียนรวม 349 เรื่อง พิจารณาและประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว 218 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหานโยบายจากรัฐบาล และการไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
 
หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ควบคุมการจุดพลุในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
 
ที่มาของคำสั่งฉบับนี้เนื่องจากเคยมีคําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 27/2559 สั่งห้ามให้จุดและปล่อย บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือ วัตถุอื่นที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานครหรือนายอำเภอในแต่ละท้องที่
 
เพื่อให้การฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ขัดต่อคำสั่งฉบับเดิม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและรักษาความมั่นคงของประเทศ จึงออกคำสั่งให้จุดพลุในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จนถึงเวลา 01.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2560 โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้อํานวยการเขตในกรุงเทพมหานคร หรือนายอําเภอแห่งท้องที่
 
โดยมีเงื่อนไขว่า สถานที่จุดพลุต้องปลอดภัย ไม่ใกล้เขตพระราชฐาน แหล่งเชื้อเพลิง โรงพยาบาล สนามบิน ขนาดของพลุที่จุดได้ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อไม่เกิน 12 นิ้ว ผู้จัดต้องมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย
 
แต่บั้งไฟ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือ วัตถุอื่นที่คล้ายคลึงกัน ยังคงต้องขออนุญาตตามคำสั่งเดิม ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
 
 
31 ธันวาคม 2560
 
สนช. เตรียมออกกฎหมายเพื่อรองรับ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 การรับฟังความคิดเห็นประชาชน
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ของ สนช. ตามที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนการประกาศใช้ว่า สนช. ได้พยายามประสานไปยังรัฐบาล ให้เสนอกฎหมายที่กำหนดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมทำรายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตรากฎหมาย แต่ยังเกิดปัญหาการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นที่ต่างกัน อาทิ บางหน่วยงานอ้างว่า นำร่างกฎหมายขึ้นเว็บไซต์ของกระทรวงก็ถือว่ารับฟังความเห็นแล้ว ทั้งที่มีผู้เข้าดูไม่ถึง 10 คน ซึ่งตนไม่เห็นด้วย ดังนั้นในปีนี้จึงมีการกำหนดกฎหมายมารองรับ มาตรา 77 ให้ชัดเจน ซึ่งทางรัฐบาลดำเนินการ รวมไปถึงกฎหมายที่ สนช. เข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาก็จะต้องทำการรับฟังความเห็นก่อนเช่นกัน 
 
 
1 มกราคม 2561 
 
รองประธาน สนช.ยันเลือกตั้งตามโรดแมปปี 2561 ไร้วี่แววคว่ำกฎหมายเลือกตั้ง
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า เวลานี้กรอบเวลาเกี่ยวกับโรดแมปยังอยู่ในกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ยังไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุที่ทำให้ผิดเวลาตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมบหรือไม่ ส่วนตัวคงยืนยันไม่ได้ แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติตามกรอบเวลารัฐธรรมนูญทุกอย่างก็ยืนยันเป็นไปตามกรอบเวลาในรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิทินการเลือกตั้งจะมีความชัดเจนเมื่อไหรก็ต้องรอให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ คือ การเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว. มีผลบังคับใช้ก่อนถึงจะสามารถนับหนึ่งได้
 
ในประเด็นที่ว่า สนช.อาจจะล้มร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาของส.ว. สุรชัยกล่าวว่า ไม่มี เพราะส่วนตัวเท่าที่ติดตามการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พบว่ากำลังเตรียมเชิญสมาชิกสนช.มาแสดงความคิดเห็น ดังนั้นต้องดูการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อนว่าที่สุดจะมีอะไรที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันกับสมาชิกสนช.หรือไม่ก่อน ทำให้ตอนนี้ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าไม่น่าจะมีอะไรถึงขั้นที่ตกลงกันไมได้
 
ที่มา : โพสต์ทูเดย์  
 
2 มกราคม 2561
 
ประธาน สนช. มั่นใจ มาตรา 44 เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งปี 2561 ไม่ได้
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นต่อการวิจารณ์ถึงโอกาสเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งของรัฐบาลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เพราะปัจจัยทางกฎหมายที่สนช. พิจารณายังเดินหน้าไปด้วยดี ส่วนที่หลายฝ่ายประเมินว่า สนช. อาจลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ตัดสินการเลือกตั้ง หรือ คว่ำกฎหมายลูกนั้น ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เพราะต้องใช้เสียงข้างมากของ สนช. ถึง 2 ใน 3 และกว่าจะได้เสียงจำนวนดังกล่าวต้องมีกระบวนการล็อบบี้และส่งสัญญาณ แต่หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นกระบวนการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วันนับจาก พ.ร.ป.ที่ใช้กำหนดวันเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายช่วงเวลาดังกล่าว การใช้อำนาจตามมาตรา 44 คงไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่ระบุไว้ รวมถึงต้องผ่านประชามติด้วย
 
 
4 มกราคม 2561 
 
วิษณุ เผยปปช.เตรียมแก้ประกาศปี42 ให้สามารถรับเกิน3พันบาท สอดรับค่าครองชีพปัจจุบัน
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ป.ป.ช.เองกำลังจะแก้ไขประกาศป.ป.ช. ที่กำหนดวงเงินห้ามรับ และให้ทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดมูลค่าเกิน 3,000 บาท เพราะเป็นวงเงินที่กำหนดอยู่ในประกาศป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งเป็นฐานเก่าที่ตั้งไว้แล้ว โดยเป็นการขยับตามค่าครองชีพในปัจจุบัน เพื่อให้สอดรับกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะแก้ไขประกาศดังกล่าวโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ