สัปดาห์นี้ สนช. เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.นโยบายการกีฬาแห่งชาติฯ เป็นกฎหมาย นอกจากนี้คาดว่าวันที่ 25 และ 26 มกราคม 2561 จะมีการพิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามลำดับ
ขณะที่สัปดาห์หน้า สนช. มีนัดพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตนฯ ในวาระที่หนึ่ง และร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ ในวาระที่สองและสาม นอกจากนี้จะมีการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
9 มกราคม 2561
ที่ประชุม สนช. พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 25-26 ม.ค.นี้
เจตน์ ศิรธรานนท์ และยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงข่าวว่า วิป สนช. ได้กำหนดวาระการประชุม สนช. ในเดือนมกราคม โดยวันพฤหัสบดีที่ 18 และวันศุกร์ที่ 19 จะเป็นการพิจารณากฎหมายที่เสนอใหม่และกฎหมายที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 25 จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... และวันศุกร์ที่ 26 จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....
กมธ.กม.ส.ส. เคาะคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อตามร่างเดิม แต่ปรับถ้อยคำชัดเจนมากขึ้น เหตุหวั่นขัดรธน.
เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เปิดเผยว่า ข้อท้วงติงที่มีการเสนอให้แก้ไขเกี่ยวกับเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 129 นั้น กมธ.ได้พิจารณาโดยยืนยันให้ยึดตามร่างเดิม โดยเฉพาะเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมา เพื่อไม่ให้มีผลขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพียงแต่มีการปรับถ้อยคำในมาตราดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น แต่เนื้อหาหลักๆ ยังคงเดิม
10 มกราคม 2561
กมธ.แก้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ให้จัดมหรสพได้ ยกเหตุจูงใจให้คนฟังหาเสียง ตื่นตัวทางการเมือง
ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวว่า อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหารายมาตรา โดยภาพรวม กมธ.ไม่ได้ปรับแก้เนื้อหาตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาตามวาระที่ 1 มากนัก โดยประเด็นที่ กมธ.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ มาตรา 35 ที่ กมธ.เพิ่มเติมเนื้อหาให้มีการจำกัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการเป็นเวลา 2 ปี แก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ บุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิการไปสมัครรับราชการเป็นเวลา 2 ปี อีกประเด็นที่ กมธ.แก้ไข คือ มาตรา 75 เรื่องข้อห้ามการหาเสียง ที่มีการตัดถ้อยความที่ กรธ.เสนอห้ามให้มีการแสดงมหรสพ งานรื่นเริง มาประกอบการหาเสียง ซึ่งกมธ.ได้แก้ไขหลักการของกรธ.ให้สามารถมีการแสดงมหรสพและงานรื่นเริง เพื่อใช้ประกอบการหาเสียงได้
เสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า เหตุผลที่ กมธ.เห็นว่า ควรให้มีมหรสพ อาทิ การแสดงดนตรีรื่นเริง ลิเก เพื่อเป็นกลยุทธจูงใจให้ประชาชนมารับฟังการหาเสียงมากขึ้น ส่งเสริมให้คนตื่นตัวทางประชาธิปไตย หากเปิดเวทีหาเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการจูงใจเรื่องมหรสพจะมีประชาชนมาฟังนโยบายหาเสียงน้อย มีแต่เฉพาะคนที่สนใจการเมืองมาฟังเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนการแสดงมหรสพจะถูกนำไปคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย ส่วนข้อกังวลที่เป็นช่องทางให้ขนคนมาดูมหรสพเพื่อซื้อเสียงนั้น ขณะนี้เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก มีโทรศัพท์สามารถถ่ายคลิปการทุจริตซื้อเสียงได้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำผิด
"วิษณุ"จ่อเแก้กม.ท้องถิ่นเข้าครม. 6 ฉบับพร้อมกัน เปิดทางเลือกตั้งท้องถิ่น
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งความเห็นให้แก้ไขเพิ่มเติม 30 - 40 ประเด็น ว่า กกต. จะแจ้งผลการประชุม ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้รับทราบ จากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรวบรวมความเห็นแล้วเสนอเรื่องมาที่ตนพิจารณาเพื่อสั่งการว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหรือจะให้ทำอย่างไรต่อไป โดยแนวทางที่จะเสนอให้ครม.ปรับแก้กฎหมายนั้นจะเสนอเข้าไปพร้อมกันทั้ง 6 ฉบับ ไม่เช่นนั้นจะมองไม่เห็นภาพรวม ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ทั้งในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกาและของกกต. ครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เท่านั้น
"วิษณุ"แจงกำหนดเงื่อนไข ม.44 กันขอใช้เรื่อยเปื่อย ย้ำเปลี่ยนเป็นพ.ร.บ.
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการกำหนดเงื่อนไข 4 ข้อการใช้มาตรา 44 ว่า ได้ชี้แจงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากมีหน่วยงานต่าง ๆ หลายกระทรวง เสนอเพื่อขอให้ใช้คำสั่งมาตรา 44 จำนวนมาก หากไม่วางหลักเกณฑ์ไว้ จะทำให้ออกมาเยอะแยะมากเกินไป ดังนั้น เมื่อเราต้องการเก็บเอาไว้ออกในเรื่องสำคัญจริง ๆ จึงต้องมากำหนดและวางหลักเกณฑ์ว่าเรื่องไหนบ้างที่จะใช้มาตรา 44 และจะได้แจ้งให้ทุกกระทรวงได้รับทราบ ซึ่งจริง ๆ แล้วหลักเกณฑ์นี้ใช้กันมานานแล้ว
นอกจากนี้วิษณุ กล่าวถึงแนวคิดที่จะเปลี่ยนคำสั่งคสช.เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่ายังคงมีอยู่ ซึ่งหลายกระทรวงทำมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เข้าสภาเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ คสช.เคยให้นโยบายไปแล้วว่า สุดท้ายแล้วต้องเปลี่ยนไปเป็น พ.ร.บ. หรือพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ส่วนการยกเลิกนั้น จะเป็นการยกเลิกโดยอัตโนมัติ หรือต้องออกกฎหมายยกเลิก แต่ถ้าคสช.ยังอยู่ สามารถออกคำสั่งมายกเลิกคำสั่งตัวเองได้ แต่เมื่อคสช.พ้นไป ต้องยกเลิกโดยพระราชบัญญัติ ยกเว้นว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งในทางบริหาร เช่น การย้ายคน แบบนี้ ครม. มีมติได้ แต่ถ้าคำสั่งนั้นมีผลเป็นกฎหมายต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ
ทั้งนี้เป็นไปได้เหมือนกันที่อาจจะออกพระราชบัญญัติกลางฉบับหนึ่งเพื่อยกเลิกคำสั่งคสช. ทีเดียวไปเลย ส่วนนี้เราได้มีการสำรวจไว้หมดแล้ว ทำบัญชีไว้หมดแล้วว่าอะไรที่เลิกอัตโนมัติ อะไรที่ออกคำสั่งคสช.มาเลิก อะไรที่อาศัยมติครม.เลิกได้ และอะไรที่ต้องออกพระราชบัญญัติมาเลิก ทุกครั้งที่มีการออกมาตรา 44 จะมีการคิดเผื่อล่วงหน้าไว้เสมอว่าสุดท้ายมันจะไปจบลงที่ตรงไหน ซึ่งมีจำนวนไม่เยอะ ประมาณสัก 50 คำสั่งได้
11 มกราคม 2561
สนช.มีมติ 206 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.นโยบายการกีฬาแห่งชาติฯ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 6 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 212 คน
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว ตราขึ้นเนื่องจากการกีฬาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถของประชาชนในการพัฒนาประเทศ แต่ประเทศไทยยังขาดกลไกการพัฒนานโยบายพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาของประเทศให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลง สมควรมีคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายและแผนนั้น อันจะเป็นผลให้การบริหารจัดการด้านการกีฬาเป็นระบบและมีเครือข่ายในการพัฒนาการกีฬาอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. 7 ด้าน แล้วจำนวน 21 ราย
หลังมีการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) รวม 7 ด้าน ด้านละ 1 คน ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา
นับจนถึงวานนี้ 10 มกราคม 2561 มีผู้มาสมัครแล้วรวมจำนวน 21 คน ประกอบด้วย
ด้านกิจการกระจายเสียง จำนวน 1 คน คือ รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์
ด้านกิจการโทรทัศน์ 4 คน อาทิ พล.ต.วิเศษศักดิ์ สุนทรเกส ผอ.ฝ่ายนโยบายและแผน ททบ.5, สุระ เกนทะนะศิล รอง กก.ผอ.อ.ส.ม.ท.
ด้านกิจการโทรคมนาคม มีผู้สมัครแล้ว 1 คน คือ กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีต กก.ผจก.กสท.โทรคมนาคม
ด้านวิศวกรรม 4 คน อาทิ วันชัย ผโลทัยถเกิง กก.บจก.อุตสาหกรรมการบิน
ด้านกฎหมาย 5 คน อาทิ ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อาจารย์ประจำพิเศษสาขานิติศาสตร์ มสธ., ประพันธ์ คูณมี อนุกรรมการพิจารณา อ.ส.ม.ท.ด้านกิจการกระจายเสียง
ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 1 คน คือ อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม คณะกรรมการกฤษฎีกา
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ มีผู้สมัครแล้ว 5 คน อาทิ วุฒิพร เดี่ยวพานิช นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภค, รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
12 มกราคม 2561
ปธ.สนช. เผย ปธ.กรธ. แนะ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. กรณียกเว้นลักษณะต้องห้ามกรรมการ ป.ป.ช.
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. สามวาระแล้ว ว่า ได้ส่งร่างกฎหมายลูกดังกล่าวไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว หากมีข้อโต้แย้งจาก 2 หน่วยงานนี้ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายต่อไป
ขณะเดียวกันมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยมายัง สนช. เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ในร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ได้มีการยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้าม คือ เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระมาก่อนยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ โดย ประธาน กรธ. เห็นว่า ควรให้ส่งประเด็นดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสามารถกำหนดยกเว้นลักษณะต้องห้ามดังกล่าวได้หรือไม่ ขณะที่ในส่วนของ ป.ป.ช.ยังไม่ส่งข้อโต้แย้งใดๆ รวมทั้งรอสมาชิก สนช. แต่ละคนด้วยว่าจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าวหรือไม่ หากไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ สนช. จะส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. ไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ประธาน สนช. ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่สุดแล้วหาก สนช. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตุลาการฯ มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเหมือนกัน จึงขอชี้แจงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะยังสามารถทำหน้าที่ได้ ส่วนตุลาการฯ 5 ท่าน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้คือการรักษาการสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้เช่นกัน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เช่นเดียวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขณะนี้ยังอยู่รักษาการต่อไป