NLA Weekly (20 - 26 มกราคม 2561): สนช.ผ่านกฎหมาย สส./ สว. ยืดเยื้อเลือกตั้งไปปี 62

NLA Weekly (20 - 26 มกราคม 2561): สนช.ผ่านกฎหมาย สส./ สว. ยืดเยื้อเลือกตั้งไปปี 62

เมื่อ 28 ม.ค. 2561
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นได้กำหนดให้ บังคับใช้เป็นกฎหมาย ภายหลังพ้น 90 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้การเลือกตั้งแต่เดิมทีจะเกิดขึ้นภายในดือน พฤศจิกายน 2561 ถูกเลื่อนไปอีก 3 เดือนและจะเลือกตั้งได้ในปี 2562
 
22 มกราคม 2561
 
สนช.ปรับแก้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง 30มาตรา ขยายเวลาเลือกตั้ง 7 โมงถึง 5 โมงเย็น เปิดทางจัดมหรสพหาเสียง
 
ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า คณะกมธ.วิสามัญฯได้ปรับแก้ไขทั้งหมด 30 มาตรา อาทิ การกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มีสิทธิสมัครรับราชการรัฐสภาภายในเวลา 2 ปี เช่นเดียวกับถูกตัดสิทธิไม่ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองและผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเวลา 2 ปี ขณะที่ การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถดำเนินการได้ แต่ให้ยุติในเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน เหมือนการหาเสียงด้วยวิธีอื่นๆ จากเดิมที่กำหนดให้ยุติหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนวันเลือกตั้ง 3วัน
 
 
 
25 มกราคม 2561
 
สนช.มีมติเอกฉันท์ เห็นชอบกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
วันที่ 25 มกราคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงคะแนนเสียง มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 196 ต่อ 12 งดออกเสียง 14 ในมาตรา 2 ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  ที่ กมธ. วิสามัญฯ เสนอให้บังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังพ้น 90 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ฝ่ายการเมืองมีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง
 
 
 
26 มกราคม 2561 
 
สนช.มีมติ 213 เสียง ผ่านวาระ 3 ประกาศใช้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมาย
 
วันที่ 26 มกราคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 เห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ...ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 213 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น สนช.จะส่งร่างกฎหมายลูกดังกล่าวไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
สำหรับสาระสำคัญในพ.ร.บ.นั้น ในเรื่องการจำกัดสิทธิของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันควร มติที่ประชุม สนช.เห็นด้วยกับการตัดสิทธิในการได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และการได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่นแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นระยะเวลา 2 ปี เว้นแต่มีเหตุอันสมควร ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเพิ่มเติม แต่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิสมัครรับราชการในสังกัดรัฐสภาแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้ ส่วนในวันเลือกตั้งได้ขยายเวลาการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิม 08.00-16.00 น. เป็นตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น.
 
 
สนช. มีมติวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส. ว. เป็นกฎหมาย
 
วันที่ 26 มกราคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 197 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 7 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)  พิจารณาว่ามีความเห็นแย้งหรือไม่ภายใน 10 วัน โดยไม่มีการปรับแก้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง  ส.ว. ออกไป 90 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่อย่างใด
 
ในร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีการแก้ไขในหลายประเด็น เช่น การปรับลดกลุ่มสังคมเหลือเพียง 10 กลุ่ม จากเดิมที่กำหนด 20 กลุ่ม ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มน้อยลงจะทำให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าการบล็อกโหวตทำได้ยากขึ้น   รวมถึงได้มีการแก้ไขให้รับสมัครได้ทั้งแบบอิสระ และ แบบตัวแทนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือองค์กรที่ไม่เคยดำเนินกิจการทางการเมือง  ขณะที่การเลือก ส.ว. ในช่วงปกติตามรัฐธรรมนูญ2560 มีการปรับแก้ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในแต่ละประเภท ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัดและระดับประเทศ   ส่วนที่มาของ ส. ว. ในระยะ 5ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก ยังคงเป็นไปตามบทเฉพาะกาล  กำหนดให้มี 250 คน มาจากการแต่งตั้งและสรรหารอบสุดท้าย โดย คสช. ซึ่งในจำนวนนี้มีฝ่ายความมั่นคง 6 คน   ทั้งนี้ ส.ว. ทั้ง 250 คน มีวาระดำรงคำแหน่ง 5ปี และ มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย