NLA Weekly (27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2561) : ประกาศใช้มาตรฐานจริยธรรม ห้ามคบหาสมาคมกับ ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย

NLA Weekly (27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2561) : ประกาศใช้มาตรฐานจริยธรรม ห้ามคบหาสมาคมกับ ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย

เมื่อ 4 ก.พ. 2561
เหตุการณ์รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศใช้มาตรฐานทางจริยธรรมฯ โดยมาตรฐานดังกล่าวให้ใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ดังกล่าวมีจุดที่น่าสนใจ อาทิ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย ส่วนการดำเนินการกับบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ  ให้คณะกรรมการป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ
 
ด้าน สนช. เห็นชอบกฎหมายสามฉบับ แบ่งเป็นเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย (วาระสาม) สองฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะในท้องที่ตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ให้แก่นางบุญมีดอนเมืองและนางสวาท ดอนกระสินธุ์ และ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินคงคลัง ส่วนอีกหนึ่งฉบับ สนช. มีมติรับหลักการ (วาระหนึ่ง) คือ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
 
30 มกราคม 2561
 
สนช.เผยเตรียมส่งร่างกฎหมายลูกส.ส.และส.ว.ให้กกต.และกรธ. พิจารณา
 
เจตน์ ศิรธรานนท์ และ ยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ภายหลังที่ประชุม สนช.พิจารณาผ่านวาระ 3 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ กำลังพิจารณาก่อนจะส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยทั้งสองหน่วยงานมีเวลาในการพิจารณา 10 วัน หลังจากวันที่ได้รับเรื่องว่าจะส่งข้อโต้แย้งหรือไม่ ส่วนความคืบหน้าของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเบื้องต้น แต่ในส่วนของ กกต. และกระทรวงมหาดไทยนั้นยังมีความเห็นต่าง ทั้งนี้หาก กกต.และกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นลงตัวเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งเรื่องต่อไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะที่การพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่ผ่านการสรรหาเป็น กกต.ทั้ง 7 คน คาดว่าจะมีการพิจารณาครั้งสุดท้ายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ 
 
 
กกต.ตั้ง 10 คำถามกม.เลือกตั้งท้องถิ่น รับฟังความเห็นอปท. ขีดเส้น 7 ก.พ.
 
ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด และ กทม. เพื่อให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่...) พ.ศ. … ที่ สำนักงาน กกต.ยกร่างขึ้น โดยให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมความคิดเห็นส่งให้ สำนักงาน กกต.ภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ 
 
สำหรับแบบฟอร์มการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน กกต.ได้กำหนดคำถามออกเป็น 10 ประเด็น คือ 
 
1.มีความเห็นอย่างไรต่อการกำหนดให้วาระของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นวาระเดียวกับสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
2.มีความเห็นอย่างไร หากกำหนดให้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดน้อยกว่าสิบคน ให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้บริหารท้องถิ่นอย่างเดียว 
3.มีความเห็นอย่างไรหากกำหนดจำนวนผู้ช่วยหาเสียงไม่เกิน 2 คน ต่อหมู่บ้าน/ชุมชน และได้รับค่าตอบแทนไม่เกินจำนวนที่กำหนด 
4.มีความเห็นอย่างไรหากกรณีผู้บริหารฯลาออกก่อนครบวาระ ห้ามมิให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร อนุมัติโครงการระหว่าง 90 วัน ก่อนวันลาออก เว้นแต่เป็นโครงการลักษณะบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ
5.มีความเห็นอย่างไรต่อการกำหนดให้ผู้สมัครปิดโปสเตอร์หาเสียงได้เฉพาะในจุดที่ กกต.กำหนด 
6.มีความเห็นอย่างไรหากนำเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งเป็นทางเลือกแก้ผู้มีสิทธิ โดยไม่บังคับใช้ทุกหน่วย 
7.องค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความพร้อมในการนำเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งไปใช้หรือไม่ 
8. มีความเห็นอย่างไรต่อการกำหนดให้ผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นจะได้รับเลือกต่อเมื่อได้คะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้มีสิทธิในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด หรือ โหวตโน 
9.มีความเห็นอย่างไรต่อการกำหนดให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 07.00 น.-17.00 น. 
10.มีความเห็นอย่างไรที่ผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นสามารถโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆได้
 
 
ราชกิจจาฯ เผย มาตรฐานจริยธรรม องค์กรอิสระ-นักการเมือง ห้ามรับทรัพย์กระทบหน้าที่
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 โดยมาตรฐานดังกล่าวให้ใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมที่น่าสนใจ อาทิ ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ต้องรักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย ส่วนการดำเนินการกับบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
 
31 มกราคม 2561
 
“สมชัย” แฉแผนตุกติกล็อบบี้ตั้ง กมธ.ร่วมยืดเลือกตั้งเพิ่ม 3+1 เดือน
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาจาก สนช. คาดว่าอยู่ระหว่างการตรวจทานความสมบูรณ์ถูกต้องของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคาดว่าส่งให้ กกต.ได้ภายในสัปดาห์นี้ และหาก กกต.เห็นว่ามีประเด็นเนื้อหาใดที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐจะต้องทำความเห็นแย้งกลับไปภายใน 10 วัน 
 
สมชัย กล่าวว่า จากการพิจารณาเนื้อหาเบื้องต้นของร่าง พ.ร.ป.ส.ส. มีสี่ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ เรื่อง การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วัน การจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง การขยายเวลาเลือกตั้งเป็น 07.00 - 17.00 น. และการให้มีมหรสพในการหาเสียง โดย กกต.ได้ให้ความเห็นเบื้องต้นว่า ในสามประเด็นแรกน่าจะไม่ขัดเจตนารมณ์ มีเพียงประเด็นมหรสพประเด็นเดียว ที่อาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรมได้ โดยให้สำนักงาน กกต. ไปทำการศึกษาว่าจะมีข้อกฎหมายใดที่นำมาสนับสนุนในเชิงเหตุผลได้ และนำมาเสนอให้ กกต.พิจารณาในการประชุมวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมกับ พ.ร.ป.ส.ว. ซึ่งหากมีข้อสรุปว่ามีประเด็นใดที่เป็นปัญหาจะทำความเห็นแย้งกลับไป และจะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมสามฝ่าย ซึ่งจะทำให้การประกาศใช้กฎหมายล่าช้าไปอีกประมาณ 1 เดือน
 
สมชัยกล่าวด้วยว่า แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าจะมีประเด็นใดที่ต้องมีความเห็นแย้ง แม้แต่เรื่องจัดมหรสพได้ก็ตาม เนื่องจากเป็นการกำหนดวิธีการหาเสียงที่ สนช.ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ดีและออกแบบด้วยความเป็นธรรมแล้ว และตนเคยทักท้วงก่อนที่จะลงมติว่า จะทำให้บรรยากาศการหาเสียงเป็นเรื่องบันเทิง ไม่สนใจนโยบาย รวมทั้งอาจมีความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็ก กระบวนการกำกับตรวจสอบของ กกต.ทำได้ยาก แต่เมื่อ สนช.ลงมติส่วนใหญ่เห็นด้วยแล้ว ตนก็คงไม่ขัดเนื่องจาก สนช.เป็นผู้ออกกฎหมายซึ่งคงพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
 
 
“วิษณุ” รับส่งศาลตีความกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. โรดแมปอาจขยับ เหตุไม่มีกำหนดเวลา
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่าย ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ส.ว.จะไม่ทำให้โรดแมปต้องขยับออกและทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เพราะอยู่ในโรดแมปที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว สำหรับกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. เมื่อเข้า สนช.ต้องพิจารณาภายใน 60 วัน หากมีการแก้ไขแล้วต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจะต้องใช้เวลาอีก 30 วัน คือ ในเดือน ก.พ. 2561 กฎหมายจะเสร็จยาวกว่าเดือน ก.พ.ไม่ได้ ถ้าไม่มีอะไรกระทบให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
 
นอกจากนี้ วิษณุ กล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเหตุหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์ หากมันจะเกิดต้องว่าตามกระบวนการ เรื่องนี้มันเป็นไปได้ เหมือนกฎหมาย ป.ป.ช.ที่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ ผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หลังพ้นขั้นคณะกรรมาธิการร่วมไปแล้วคือ นายกฯ และสมาชิก สนช.เท่านั้น สำหรับระยะเวลา วิษณุกล่าวว่า จะขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ จะเร็วกหรือช้ากว่า 1 เดือนก็ได้ อยู่ที่ความยากง่ายและจำนวนของประเด็น ระยะเวลาเอาแน่ไม่ได้ เนื่องจากศาลไม่มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณา 
 
 
1 กุมภาพันธ์ 2561
 
“พรเพชร” มั่นใจ กม.ลูกไร้ปัญหา เตือน สนช.คว่ำ-ยื่นตีความเลือกตั้งลากยาว
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว อย่างไรก็ตาม คิดว่าหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันสามฝ่ายไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะเป็นกรอบเวลาปกติ จะไม่ทำให้การเลือกตั้งเลยเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่หากจะกระทบก็เมื่อตั้งกรรมการร่วม แล้วส่งเรื่องกลับเข้ามาสภาเพื่อให้ สนช.พิจารณา หากมีการคว่ำเกิดขึ้นก็จะเป็นปัญหา หรือถ้ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจะกระทบต่อวันเลือกตั้งเช่นกัน 
 
เมื่อถามว่าหากเกิดอุบัติเหตุมีการคว่ำร่างกฎหมายลูกขึ้นมา สนช.จะรับผิดชอบอย่างไร พรเพชรกล่าวว่า ร่างกฎหมายผ่านวาระสามไปแล้ว ถ้า กรธ.ไม่ได้โต้แย้ง หรือโต้แย้งนิดหน่อยจะไปคว่ำเขาได้อย่างไร แต่ถ้ามีเปลี่ยนแปลงมาจากร่างที่ผ่าน สนช.ไปแล้วก็เป็นประเด็นปัญหา 
 
พรเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช.จะเข้าไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ในกรณีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้ว โดยคาดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์น่าจะมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญออกมา
 
 
สนช.มีมติประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.โอนที่ราชพัสดุฯ เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะในท้องที่ตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ให้แก่นางบุญมีดอนเมืองและนางสวาท ดอนกระสินธุ์ พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 198 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการ
 
สำหรับเหตุความจำเป็นที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากโรงเรียนดอนยูงราษฎร์ประดิษฐ์วิทยาคาร ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายและที่ราชพัสดุแปลงเดิมมีสภาพคับแคบไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ทำความตกลงขอแลกเปลี่ยนที่ราชพัสดุแปลงนี้กับที่ดินของบุญมี ดอนเมือง และที่ดินของสวาท ดอนกระสินธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่เดียวกันและเมื่อรวมกับที่ดินที่ราษฎรได้บริจาคเงินซื้อให้อีกจำนวนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 80 ตารางวา ที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบันจึงมีเนื้อที่รวมประมาณ 6 ไร่ การแลกเปลี่ยนที่ดินทำให้โรงเรียนมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นและมีทำเลที่ตั้งเหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ในการขยายโรงเรียน 
 
 
สนช.มีมติประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.เงินคงคลัง เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 209 เสียง ประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินคงคลัง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเงินคงคลัง ปี 2491 โดยปรับแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลังสามารถสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 2 เพื่อชำระคืนเงินต้นของตั๋วเงินคลังที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการบริหารการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ในส่วนของสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ ได้ฝากกำชับให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุ ให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
 
 
มีชัย ไม่โต้แย้ง สนช.กรณีขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมาย ส.ส. 90 วัน กังวลพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตไม่ทัน
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า หาก สนช. เห็นว่าเวลาดังกล่าวเพียงพอก็พร้อมยอมรับ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าหากไม่ขยายกรอบเวลาออกไปก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะอาจมีเพียง 1-2 พรรคเท่านั้นที่สามารถทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัครได้ทัน และอาจส่งได้ไม่ครบทุกเขต อีกทั้งขณะนี้ยังไม่สามารถเรียกประชุมใหญ่ได้ เนื่องจากติดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังไม่ปลดล็อคให้พรรคดำเนินกิจกรรมได้ และไม่ยังทราบแน่ชัดว่าแต่ละพรรคมีจำนวนสมาชิกพรรคเท่าใด ซึ่งก่อนหน้านี้ กรธ.เคยคัดค้านการทำไพรมารีโหวต เพราะกังวลว่าอาจทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอุปสรรคในข้อกฎหมาย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูกอย่างแน่นอน
 
ส่วนเหตุผลที่ สนช. ระบุว่า กรอบเวลาที่กำหนดให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150 วัน หลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการด้านทางธุรกรรมทางการเมือง และส่งผลให้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งขั้นต้น หรือทำไพรมารีโหวตไม่ทัน จึงจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป มีชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรอบเวลาในการจัดทำไพรมารีโหวตนั้นยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังต้องรอ กกต.ออกประกาศขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตก่อน ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ ซึ่งการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. ออกไป 90 วัน ส่วนตัวเห็นว่าพรรคการเมืองได้รับเวลาที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งแต่ละพรรคต้องหาสมาชิกพรรคที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ได้ก่อน จึงจะสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลของกฎหมายที่กำหนดให้ดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวตในเขตนั้น
 
 
 
2 กุมภาพันธ์ 2561
 
กกต.รับร่าง พ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว.แล้ว ชงเข้าที่ประชุม 6 ก.พ. แจงตั้งงบเลือกตั้งสูงตาม กม.
 
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ได้รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่สำนักงานฯ กำลังเร่งประมวลเนื้อหาของร่างทั้ง 2 ฉบับว่ามีประเด็นใดไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบ้าง คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาได้ในวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงบประมาณที่จะใช้ในการเลือกตั้ง จำนวน 5,800 ล้านบาท จากเดิม 3,000 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 2,800 ล้านบาทนั้น ขอชี้แจงว่างบประมาณที่ กกต.ตั้งไว้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นจะต้องนำมาใช้ในเรื่องของการหาเสียง หน่วยเลือกตั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง การป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง เป็นต้น และค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งก็จะมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยดำเนินการตรวจสอบ จึงยืนยันว่าตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นไปตามกฎหมายแน่นอน
 
 
“วิษณุ” จี้ สนช.พิจารณา กม.ขัดกันระหว่างผลประโยชน์รอบคอบ หวั่นตีความคลุมเครือ
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายในโครงการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” (นยปส.) รุ่น 9 หัวข้อ “นโยบายระดับประเทศและการปฏิรูปประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” ว่า แผ่นปฏิรูปประเทศทั้งหมดจะสามารถประกาศใช้ได้เดือน มี.ค. นี้ และเมื่อแผนปฏิรูปประกาศใช้ หน่วยงานราชการจะต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามแล้วมีการตักเตือนหากเตือนแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม คณะกรรมการปฏิรูปสามารถร้องไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ส่ง ป.ป.ช. ตรวจสอบ โดยมีฐานความผิดถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 
 
ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น หลังจากประกาศใช้แล้ว หน่วยงานราชการใดไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า 20 ปีนั้น ยาวเกินไป รัฐบาลจะครอบครองทั้งหมดเลยหรืออย่างไร แล้วรัฐบาลเอาอะไรมาคิดแทนคนทั้งหมดนั้น ตนขออธิบายว่า ถึงอย่างไรก็จะต้องมีการเริ่มต้น แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติสามารถแก้ไขได้ เมื่อเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย
 
ขณะเดียวกัน ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งหลายคนเร่งรัดอยากให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาโดยเร็ว แต่ตนอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะถือเป็นกฎหมายที่มีผลต่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้าราชการเท่านั้น แม้เจตนาของกฎหมายเป็นเรื่องดี แต่อาจมีปัญหาเมื่อต้องตีความ เช่นที่บัญญัติว่า ‘มิให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ทรัพย์สินของทางราชการ’ หมายถึงใช้ของหลวงในทางส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดการตีความว่า ข้าราชการเสียบปลั๊กชาร์ตโทรศัพท์ ถือว่าใช้ของหลวง ผิดหรือไม่ โดยมีการตีความแล้วว่าผิด ดังนั้น จึงได้กำชับ สนช.ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจมีการจ้องเอาผิดข้าราชการ แต่จะน่ากลัวหากมีความคลุมเครือในการเขียนกฎหมาย
 
 
สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 167 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ขณะสมาชิก สนช. เห็นด้วยข้อเสนอแก้ไขให้กระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมดเป็นการชั่วคราว สำหรับการแก้ไขมีเพียงประเด็นเดียวคือ ให้กระทรวงการคลังสามารถถือครองหุ้นของธนาคารเกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคาร