NLA Weekly 3 – 9 ก.พ. 2561: สนช. มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

NLA Weekly 3 – 9 ก.พ. 2561: สนช. มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

เมื่อ 11 ก.พ. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นกฎหมาย และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ไว้พิจารณา ขณะที่สัปดาห์ที่ถึงจะมีการพิจารณาสองฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน ในวาระที่สองและสาม และร่างพ.ร.บ.การผังเมือง ในวาระที่หนึ่ง นอกจากนี้จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยที่มา ส.ว.
 
6 กุมภาพันธ์ 2561
 
ประธาน กรธ. เผย ยังไม่ได้ข้อสรุปประเด็นการส่งความเห็นแย้งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. – และการได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปประเด็นการส่งความเห็นแย้งเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ ต้องรอคณะทำงานพิจารณาว่าร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องการให้การออกเสียงของประชาชนเป็นความลับ สุจริต เที่ยงธรรม ทำให้ประชาชนได้รู้ถึงคุณค่าคะแนนเสียงของตัวเอง หากผิดไปจากนี้ก็อาจจะเกิดปัญหาได้
 
อาทิ ที่มีข้อเสนอให้สามารถช่วยผู้พิการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งโดยกาบัตรแทนได้ ซึ่งทาง กรธ.เห็นว่าไม่ถูกต้องทำให้เกิดข้อสงสัย ว่า จะเป็นความลับได้อย่างไร ซึ่งในร่างเดิมกำหนดให้เป็นการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้พิการกาบัตรได้เท่านั้น ส่วนข้อห้ามรณรงค์โหวตโนนั้น เห็นว่า เป็นการมัดมือมัดเท้าประชาชน เพราะการโหวตโนเป็นสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล นอกจากนี้การกำหนดให้ขยายเวลาการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิม 08.00 - 16.00 น. เป็นตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น. อาจจะเป็นปัญหากับการทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสถานที่ และในการขนหีบบัตรเลือกตั้งในยามวิกาลซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ ส่วนประเด็นการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้นั้นเห็นว่า ยากต่อการควบคุมทั้งด้านงบประมาณ และความปลอดภัย รวมทั้งยังเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบสำหรับคนมีทุน และเหมือนเป็นการติดสินบนประชาชนอย่างหนึ่ง
 
 
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฯ คาด ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เข้าที่ประชุมใหญ่ สนช. เม.ย.นี้
 
พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วในเบื้องต้น มีทั้งหมด 100 มาตรา โดยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มเติมไปนั้น กมธ. ได้นำความเห็นจากทุกภาคส่วนจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็น ประกอบกับนำเนื้อหาสาระของคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช.พิจารณาวาระ 2 และ 3 ได้ในเดือนเมษายนนี้
 
 
8 กุมภาพันธ์ 2561
 
ประธาน สนช. เตรียมตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สัปดาห์หน้า เชื่อคว่ำร่างกฎหมายลูกทำได้ยาก
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติที่จะส่งข้อโต้แย้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ
 
สำหรับข้อโต้แย้งของ กรธ.ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.คาดว่าจะเป็นประเด็นข้อเสนอให้สามารถช่วยผู้พิการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งโดยกาบัตรแทนได้ ส่วนการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง เห็นว่ายังอยู่ในวิสัยที่น่าจะหารือกันได้ ขณะที่ข้อโต้แย้งในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. คาดว่าประเด็นใหญ่จะเป็นประเด็นที่ กรธ.อ้างว่าไปปรับเปลี่ยนสาระสำคัญ 3 หลัก ทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ 1.การเปลี่ยนกลุ่ม ส.ว. 2.องค์ประกอบของกลุ่ม และ 3.วิธีการโหวตแบบตรงหรือแบบไขว้
 
ทั้งนี้คาดว่าจะมีการส่งร่างกฎหมายลูกดังกล่าวมาให้ สนช.ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในสัปดาห์หน้า ส่วนในชั้นกรรมาธิการร่วมจะทำให้เนื้อหาในร่างกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปจากมติของ สนช. หรือไม่นั้น มองว่า ไม่จำเป็นต้องยืนตามความเห็นเดิมของ สนช. ทั้งหมด เพราะการตั้งกรรมาธิการร่วมก็เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน เบื้องต้น สนช.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งทั้งร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่หลังการแก้ในชั้นกรรมาธิการร่วม หากเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอำนาจของ สนช. ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้
 
ขณะที่ข้อกังวลว่าอาจมีการคว่ำร่างกฎหมายในชั้นการพิจารณาของ สนช. ประธาน สนช. เชื่อว่าทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก แต่ก็เป็นสิทธิของสมาชิก และส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ความเห็นต่างเริ่มมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้วจึงคิดว่าคงไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูก และไม่เห็นด้วยที่จะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูกดังกล่าว เพื่อยึดระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป
 
 
9 กุมภาพันธ์ 2561
 
ไร้เสียงค้าน สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วาระ 2 และ 3 โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวสรุปผลการดำเนินการว่าร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว มีจำนวน 71 มาตรา มีการแก้ไข 49 มาตรา ตัดออกจำนวน 2 มาตรา เพิ่มขึ้นใหม่ 5 มาตรา มีกรรมาธิการสงวนความเห็น 2 มาตรา
 
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้การใช้ที่ดินภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ  
 
สุดท้ายที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ที่มา: ประชาไท
 
มติ สนช. 162 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การแก้ไขครั้งนี้เป็นเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ นโยบายการท่องเที่ยว คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวและคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย เพื่อให้การกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศ มีประสิทธิภาพมากขึ้น