NLA Weekly (17 – 23 ก.พ.2561): สนช. ไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่กกต.ชุดใหม่

NLA Weekly (17 – 23 ก.พ.2561): สนช. ไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่กกต.ชุดใหม่

เมื่อ 25 ก.พ. 2561
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องเด่นที่สุดคงเป็นเรื่อง สนช.มีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ทำหน้าที่ กกต. ทั้ง 7 คน เรียกได้ว่า 'คว่ำยกชุด' เนื่องจากยังเห็นว่ารายชื่อที่เสนอมายังมีคุณสมบัติไม่เป็นที่ประจักษ์ในการทำงาน ส่วนงานการแต่งตั้งอื่นๆ นั้น สนช. ได้เห็นชอบ 14 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และกรรมการสรรหา กสทช. ได้มีมติเลือก 14 รายชื่อกรรมการ กสทช. ให้สนช. เลือกให้เหลือ 7 คน
 
ส่วนการพิจารณากฎหมายสัปดาห์นี้ สนช.ประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไว้พิจารณา นอกจากนี้ สนช.รับการยื่นรายชื่อประชาชนเสนอร่างกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และร่างกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับประชาชนไว้พิจารณาอีกด้วย 
 
ด้านกฎหมาย ส.ส. มีความคืบหน้าว่า ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ เช่น การไม่อนุญาตให้จัดมหรสพในระหว่างการหาเสียง ให้ใช้ระบบแยกเบอร์รายเขต และให้แก้ไขกรอบเวลาการออกเสียงลงคะแนนให้เริ่มต้นที่ 8.00 น. - 17.00 น. เป็นต้น
 
19 กุมภาพันธ์ 2561
 
กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีมติเลือก นายวิทยา ผิวผ่อง เป็นประธาน กำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ก.พ.นี้
 
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... ประชุมนัดแรก โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ สมาชิก สนช.5 คน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 5 คน และประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกรณี คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 1 คน โดยที่ประชุมมีมติเลือก นายวิทยา ผิวผ่อง เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ,นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นรองประธาน,นายชาญวิทย์ วสยางกูร เป็นเลขานุการ และนายสมชาย แสวงการ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ นอกจากนี้ ที่ประชุม กมธ.ยังได้เสนอชื่อ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และพลเอกอัฎฐพร เจริญพานิช กรรมการ กรธ. เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ
 
วิทยา กล่าวว่า ภาพรวมประเด็นข้อโต้แย้งของ กรธ. และ กกต. มีบางมาตราที่สอดคล้องกัน คาดว่า กมธ.จะนัดประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด และจัดทำรายงานให้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
 
 
เลขาธิการวุฒิสภา รับการยื่นรายชื่อประชาชนเสนอร่างกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และร่างกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับประชาชน 
 
นัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือจากบุญ แซ่จุง คณะทำงานประชาชนเพื่อการอนุรักษ์และสิทธิชุมชน (คอส.) พร้อมคณะ นำเอกสารการลงลายมือชื่อจำนวน 11,486 คน เข้ายื่นประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ..ฉบับประชาชน จำนวน 10,708 คน พร้อมด้วยคำร้องขอเสนอสำเนาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ 
 
โดยข้อเสนอ คือ 1.ขอให้ทาง สนช. รับฉบับร่างกฎหมายของประชาชนที่ได้เสนอชื่อในครั้งนี้ 2.ขอให้ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้ อย่าใช้แต่สิทธิของรัฐ เพราะอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม และ 3.ขอให้ทาง สนช. ช่วยกำกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการไปทวงคืนผืนป่า โดยปรับแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้ยากไร้และประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่นายทุน
 
 
21 กุมภาพันธ์ 2561
 
ประธาน กรธ. เห็นด้วยมติ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.จัดมหรสพระหว่างการหาเสียง 
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้ลงมติปรับแก้เนื้อหาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้กลับมาตามร่างเดิมของ กรธ. โดยไม่อนุญาตให้จัดมหรสพในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ว่า เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียกัน ซึ่งการจัดมหรสพไม่ได้ช่วยให้ประชาชนสนใจการเลือกตั้ง เพราะเหมือนกับการดูละครแล้วมีตัวหนังสือวิ่งอยู่ข้างล่าง แต่คนดูก็ไม่ได้สนใจตัววิ่งข้างล่างเพราะสนใจแต่ละคร
 
 
กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเห็นพ้องแก้งบหาเสียงตามสัดส่วนผู้สมัคร
 
สมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏร หรือ กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงงบประมาณในการหาเสียงของพรรคการเมือง และเห็นว่าไม่ควรเท่ากันทุกพรรค จึงเห็นพ้องให้แก้ไขโดยคำนึงถึงจำนวนการส่งผู้สมัครของแต่ละพรรค และอาจจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ พรรคขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อความเท่าเทียม เพราะหากคำนวณตามจำนวนคน ก็เกรงว่าพรรคใหญ่จะได้เปรียบ แต่หากเท่ากัน พรรคเล็กก็จะได้เปรียบ และอาจจะมีการตั้งพรรคเล็กเป็นนอมินี เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณหาเสียงได้มาก โดยการกำหนดวงเงินยังคงไว้ตามร่างเดิมที่ให้ กกต.หารือกับพรรคการเมือง
 
 
วิป สนช.นัดประชุมพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ รวมทั้งให้ความเห็นชอบ กกต.ชุดใหม่ 7 คน
 
นพ.เจตน์  ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การประชุม สนช. ในสัปดาห์นี้ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.พ.2561 ที่ประชุมจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... และให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน ส่วนวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. นี้ จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... 
 
นพ.เจตน์ เพิ่มเติมว่า วิป สนช. ยังมีการพิจารณากฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเฉพาะเรื่องสารพาราคอต และร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเข้าไปดูแลกรณีสถาบันการเงินต่างๆ ประสบปัญหาวิกฤติ  ทั้งนี้ คาดว่าร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สนช. ในวันที่ 9-10 มี.ค.นี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นพิจารณา นั้น จะครบกำหนดกรอบเวลา 15 วัน ในวันที่ 1 มี.ค. และบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช. ได้ในวันที่ 8 มี.ค.`
 
 
22 กุมภาพันธ์ 2561
 
มติ สนช. ไม่เห็นชอบให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ 7 คน เข้าทำหน้าที่ กกต.
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมลับพิจารณารายงานประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จำนวน 7 คน ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ รศ.ดร.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ นายประชา เตรัตน์ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ นายปกรณ์ มหรรณพ ท้ายที่สุดที่ประชุม สนช. มีมติไม่เห็นชอบให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน 
 
 
กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เห็นพ้องเข้าคูหาเลือกตั้ง 8.00-17.00 น.
 
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... หรือ คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นร่างมาตรา 62 วรรคสอง ที่กำหนดให้ “ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่งต้องเป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองโดยกำหนดให้เท่ากันตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด” ภายหลังที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวโดยมอบหมายผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงถ้อยคำ ขณะที่ร่างมาตรา 86 ที่กำหนดให้ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 07.00 น.ถึงเวลา 17.00 น. ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติแก้ไขเป็น ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00 น.ถึงเวลา 17.00 น. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ กกต.ได้รับความสะดวก มีเวลาเตรียมการเลือกตั้งได้มากขึ้น
 
 
ประธาน สนช.เผย ไม่รู้สาเหตุ สนช. มีมติไม่เห็นชอบว่าที่ กกต.ชุดใหม่ 
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงภายหลังที่ประชุม สนช.มีมติไม่เห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน ว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ สนช.ไม่เห็นชอบ ซึ่งการลงคะแนนเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะ กกต. ชุดปัจจุบัน ยังคงรักษาการสามารถทำหน้าที่ต่อได้ ทั้งนี้ไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการลงมติดังกล่าว
 
 
ประธาน กรธ. ชี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทยอยู่อันดับ 96 ดีขึ้นกว่าเดิม
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผยคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ประจำปี 2560โดยประเทศไทยได้ 37 คะแนน อยู่อันดับ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า 2 คะแนน และขยับขึ้นจากอันดับที่ 101  ว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตฝังรากลึกมานาน ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงต้องการมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดของประชาชน 
 
อย่างไรก็ตาม หากดูความเห็นจากสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นได้ว่า ประชาชนคิดได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้นและไปไกลกว่าที่คาดหวังไว้ และนึกถึงความเป็นธรรมมากกว่าความยุติธรรม เห็นได้จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้จอดรถขวางทางเข้าออกบ้าน สะท้อนให้เห็นว่าวิธีคิดของคนในสื่อสังคมออนไลน์ได้เปลี่ยนไป ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้การปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นได้เร็ว โดยไม่ต้องหวังพึ่งการศึกษาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น กลไกในการขจัดการทุจริตจะถูกขับเคลื่อนให้ทำงานเร็วขึ้น เพราะประชาชนเห็นแล้วว่าความล่าช้านั้นเป็นปัญหา และหวังว่าจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะทำงานเร็วขึ้น
 
 
ประธาน กรธ. เห็นด้วย กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายแก้ไขกรอบเวลาการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ให้เริ่มต้นที่ 8.00 น. - 17.00 น. 
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้มีมติยกเลิกการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียง และเห็นชอบให้แก้ไขกรอบเวลาการออกเสียงลงคะแนน ให้เริ่มต้นที่ 8.00 น. - 17.00 น. โดยแก้ไขจากเดิมที่ สนช.ให้เริ่มต้นตั้งแต่ 7.00 - 17.00 น. โดยส่วนตัวเห็นว่าเวลาดังกล่าวนั้นมีความสมเหตุสมผลแล้ว ส่วนเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่ คือ การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือเรื่องวิธีการเลือก ส.ว.
 
 
สนช.มีมติ 192 เสียงประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.การยาสูบฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 192 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 196 คน ส่วนเหตุผลที่ตรากฎหมายนี้ เนื่องจากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่ไม่เป็นนิติบุคคล ทำให้มีข้อจำกัดบางประการ และเป็นกิจการผู้ขาดของรัฐ สมควรดำเนินการโดยนิติบุคคลและมีคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่และมีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมและขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงและควบคลุมมาตรฐานการผลิตโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
 
 
23 กุมภาพันธ์ 2561 
 
กรรมการสรรหา กสทช. ได้ 14 รายชื่อ เสนอให้ สนช. เลือกให้เหลือ 7 คน
 
ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเลือก 14 รายชื่อ เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. ทั้ง 7 ด้าน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แก่ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และ ดร. ธนกร ศรีสุกใส ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ. มังกร โกสินทรเสนีย์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ อธิคม ฤกษบุตร และ กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ด้านกฎหมาย ได้แก่ มนูภาน ยศธแสนย์ และ ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร  ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร. ภักดี มะนะเวศ และ นายณรงค์ เขียดเดชด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และ วรรณชัย สุวรรณกาญจน์
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไว้พิจารณา
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 184 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง โดย นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเหตุผลให้มีกฎหมายฉบับนี้ว่า มาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ
 
 
กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. มีมติคงการใช้ระบบแยกเบอร์รายเขต
 
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... หรือ คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีมติให้คงร่างมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ตามร่างกฎหมายเดิมที่ สนช.เห็นชอบ ซึ่งกำหนดให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ตามมาตรา 46 กล่าวคือให้ใช้ระบบแยกเบอร์รายเขตตามร่างเดิม และมีมติให้คงร่างมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ไว้เป็นพิเศษประจำหน่วย 
 
 
มติเสียงข้างมากสนช.เห็นชอบ 14 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 14 คน ประกอบด้วย 1.สายสุดา เศรษฐบุตร 2.วุฒิ มีช่วย 3.ฤทัย หงส์สิริ 4.สุกัญญา นาชัยเวียง 5.กิตดนัย ธรมรัช 6.อำพน เจริญชีวินทร์ 7.ไชยวัฒน์ ธำรงศรีสุข 8.ประสาน บางประสิทธิ์ 9.โสภณ บุญกูล 10.จักริน วงศ์กุลฤดี 11.ศิริวรรณ จุลโพธิ์ 12.ประวิทย์ เอื้อนิรันดร์ 13.จิรศักดิ์ จิรวดี และ 14.ธีรรัฐ อร่ามทวีทอง