รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การเปิดให้พรรคการเมืองใหม่ยื่นขอแจ้งตั้งพรรคการเมืองและสามารถ ดำเนินการทางธุรการได้ เช่น โดยต้องหาผู้ร่วมอุดมการณ์อย่างน้อย 500 คน, หาทุนประเดิม 1 ล้านบาท, เรียกประชุมผู้ก่อการ 250 คนเพื่อกำหนดชื่อพรรคและสัญลักษณ์ เลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งในการจัดประชุมเพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช.ก่อน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560
ด้าน สนช. นัดลงมติ กฎหมาย ส.ส.-ส.ว. 8 มี.ค.นี้ หลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยกฎหมาย ส.ส. มีการแก้ไขเรื่องตัดทิ้งมหสพหาเสียง แต่ให้คงแยกเบอร์รายเขต ส่วนกฎหมาย ส.ว. ให้ใช้ระบบพิเศษของสนช. ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก มีกลุ่มอาชีพ 10 กลุ่ม หลังจากนั้นใช้ 20 กลุ่มอาชีพ และใช้ระบบเลือกไขว้ตามเดิม
26 กุมภาพันธ์ 2561
วิษณุชี้‘สมชัย’ชิงเลขาฯกกต. ไม่กระทบงานจัดเลือกตั้ง เล็งใช้ม.44 ต่ออายุกกต.ที่จะเกษียณ
วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการสรรหากกต.ชุดใหม่ อาจเกิดปัญหาสรรหาบุคคลได้ยากมากขึ้นเพราะต้องมีคุณสมบัติดีเข้าขั้นเทพว่า สื่อพูดไปเอง ตนมองว่าไม่ใช่ขั้นเทพเพราะคุณสมบัติของกกต. ก็คล้ายกับองค์กรอิสระอื่นๆ ส่วนที่กังวลว่าจะสรรหาบุคคลได้ยากนั้น อย่าเพิ่งคิดล่วงหน้าเพราะคนยังมีอีกเยอะ เชื่อว่าในที่สุดก็หาได้
เมื่อถามว่าระหว่างการสรรหากกต.ใหม่ กกต.ที่รักษาการอยู่นั้นสามารถจัดการเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ทำได้เต็มที่ ทั้งเลือกตั้งใหญ่และเลือกตั้งท้องถิ่น แต่สิ่งที่กกต.ต้องกลัวคือเปลี่ยนม้ากลางแม่น้ำ คือกำลังจะจัดการเลือกตั้งแล้วสรรหาได้กกต.ใหม่พอดี คนเก่าก็ต้องออกไปและยังต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ ขณะที่คนใหม่ยังพะวักพะวงกับการทำหน้าที่ได้
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าหากนายสมชัย ได้เป็นเลขาฯกกต.แล้วนายบุญส่ง น้อยโสภณ จะเกษียณอายุในเดือนก.ค. ทำให้กกต.เหลือเพียง 3 คนจะจัดเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าทำได้ นายสมชัยจะไปก็ได้ ไม่มีใครเหนี่ยวรั้งไว้ แต่นายบุญส่ง มีวิธีเหนี่ยวรั้งให้ทำหน้าที่ต่อไป โดยออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่จะวิธีนี้ไปตั้งบุคคลมาแทนไม่ได้
27 กุมภาพันธ์ 2561
ประธาน กกต. ห่วง กกต.เหลือ 3 คน ตัดสินใจเรื่องใหญ่ไม่ได้ ไม่ขัดข้องคสช.ใช้ม.44 ต่ออายุกกต.ที่หมดวาระ
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ลงสมัครเลขาธิการกกต.ว่า อยู่ที่กกต.จะเห็นชอบหรือไม่ คงพิจารณาจากความรู้ ความสามารถเป็นหลัก ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะเทใจให้นายสมชัยหรือไม่ เป็นเรื่องของกระบวนการสรรหา
ส่วนกรณี สมชัย ศรีสุทธิยากร ไปสมัครเลขาฯ กกต. จะทำให้จำนวน กกต. เหลือแค่ 3 คน ศุภชัย กล่าวว่า ถ้าเหลือ กกต.อยู่ 4 คน ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ถ้าเหลือ 3 คน จะมีปัญหากรณีการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ไม่สามารถทำได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคต อย่าไปสมมติ ถึงวันนั้นค่อยไปว่ากัน แต่ทุกเรื่องมีทางออกอยู่
อย่างไรก็ดี ศุภชัย กล่าวว่า ถ้าคสช.เห็นว่า การใช้มาตรา 44 เป็นทางออก กกต.ก็ไม่ขัดข้อง
สนช.เชื่อผ่านฉลุย โหวตกม.เลือกตั้งส.ส. 8 มี.ค.นี้ เผยตัดทิ้งมหสพหาเสียง แต่ให้คงแยกเบอร์รายเขต
สมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. สรุปการประชุมว่า กฎหมายในส่วนที่มีการปรับแก้คือ การตัดทิ้งการแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง ตามที่กรธ.โต้แย้ง เพราะเห็นว่า อาจเกิดการตีความเรื่องค่าใช้จ่ายหาเสียง เป็นช่องว่างเกิดการฟ้องร้องตามมามาก
นอกจากนี้ยังปรับช่วงเวลาลงคะแนนเลือกตั้งจากเวลา 07.00-17.00 น. เป็น 08.00-17.00 น. รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายของพรรคที่บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กกต.ไปหารือกับพรรคการเมือง
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าที่ประชุมสนช. และลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งคิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านสนช.ไปได้ด้วยดี และแนวทางโรดแม็ปก็จะชัดเจนขึ้น เพราะยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น
รบ.เร่งดัน พ.ร.ก.ต่างด้าว ยันคุ้มครองคนไทย สั่งลุยแฉแรงงานเถื่อนทุกรูปแบบ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายกฯสั่งการในที่ประชุมครม.ถึงเรื่องกฎหมายแรงานต่างด้าว ว่าขณะนี้กฎหมายยังคงค้างคาอยู่ เดิมเคยมีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวพบว่ามีปัญหา จึงพยายามแก้ปัญหาโดยการออก พ.ร.ก.ขึ้นมาอีก โดยมีการหารือระหว่างกระทรวงแรงงาน ที่ปรึกษานายกฯ และกฤษฎีกา จึงมีคำสั่งให้เร่งรัดดำเนินการร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบุรี ที่สำคัญต้องช่วยทำความเข้าใจในร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างเกิดความเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะประชาชนต้องเข้าใจว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แรงงานต่างด้าวมาแย่งงานคนไทย คนไทยยังคงได้รับการคุ้มครอง และได้รับประโยชน์ต่างๆ อยู่
นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญยังกล่าวถึงข้อสั่งการเพิ่มเติมของนายกฯ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า ปัญหาเรื่องประมงผิดกฎหมาย และการดูแลแรงงาน แม้ไทยจะถูกยกระดับมาเป็นเทียร์ 2 (วอตช์ลิสต์) แต่ทางรัฐบาลยังตั้งใจที่จะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ เพื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการ ความรู้สึกของคนไทย และดูแลสวัสดิการ ขวัญและกำลังใจของแรงงานต่างด้าว ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจสังคม และขอให้สื่อช่วยกันนำเสนอข้อมูลข่าวสารผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางด้านการลักลอบขนแรงงาน และใช้แรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ เปิดเผยให้ประชาชนทราบ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่เพียงในเชิงป้องกัน แต่ยังรวมถึงการลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงใดก็ตาม
28 กุมภาพันธ์ 2561
สนช.-กรธ.พบกันครึ่งทาง กฎหมายลูกส.ว.ได้ข้อยุติ ใช้ระบบพิเศษของสนช.ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก
พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกกมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ร่วมได้พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จสิ้นในทุกประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โต้แย้ง โดยจะเสนอให้ที่ประชุมสนช.ลงมติในวันที่ 8 มี.ค.ต่อไป
ส่วนประเด็นความเห็นที่กมธ.ร่วมได้ข้อยุติแล้ว ได้แก่ เรื่องให้กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และให้การแบ่งกลุ่มอาชีพผู้สมัครเป็น 20 กลุ่ม และใช้วิธีการคัดเลือกกันเองและวิธีการเลือกไขว้ตามเดิม
ส่วนเนื้อหาที่สนช.ลงมติแก้ไขในวาระ 3 ที่ให้แบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 10 กลุ่มนั้น ให้เอาไว้ส่วนในบทเฉพาะกาลซึ่งจะบังคับใช้ 5 ปีแรกเท่านั้นตามวาระแรกเริ่มของส.ว.
‘วิษณุ’เล็งมิ.ย.นี้ เรียกประชุมพรรค กำหนดวันเลือกตั้ง-ปลดล็อก เผย‘บิ๊กตู่’ย้ำชัดไม่ล้มกม.ลูก
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เสร็จเรียบร้อยแล้วว่า ร่างกฎหมายจะนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อีกครั้ง เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ หากในวันที่ 8 มี.ค. ที่ประชุมสนช.เห็นชอบ คาดว่าจะใช้เวลาตลอดเดือน มี.ค. จัดทำร่างกฎหมายเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือนมิ.ย. และมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ย. เนื่องจากบทเฉพาะกาลกำหนดให้ขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน
จากนั้นจะเข้าสู่โรดแม็ปใหญ่ โดยในเดือนมิ.ย. หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา คสช. ครม. กรธ.และสนช. จะเชิญพรรคการเมืองทั้งหมดมาประชุมหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นวันใดก็ได้ในช่วงเดือน ก.ย.2561-ก.พ.2562 และจะมีการหารือเพื่อกำหนดวันปลดล็อกให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย
1 มีนาคม 2561
เลขาฯ กฤษฎีกา เผย “กกต.” ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายท้องถิ่นมาให้พิจารณาแล้ว คาดใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณา
ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติ่มกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 6 ฉบับ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นและปรับปรุงร่างฯ ก่อนที่จะเสนอกลับมาว่า กกต.ส่งมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ตนยังไม่เห็นร่างดังกล่าว
เขากล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะต้องนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนส่งมาให้กฤษฎีกาอาจส่งมาให้ดูล่วงหน้าแบบคร่าวๆ ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน ส่วนเรื่องคำสั่งต่างๆ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องรวบรวมเป็นกฎหมายนั้น ขณะนี้ทางกฤษฎีกากำลังดำเนินการตรวจเช็ค และติดตามประมวลผลซึ่งยังไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านี้ เนื่องจากยังไม่ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุก็ยังไม่ได้ยืนยันในเรื่องนี้ แม้จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ออกมาเรื่อยๆ เพราะคำสั่งมีกว่า 100 เรื่อง จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีกฎหมายใดบ้าง รวมทั้งการดำเนินการปรับปรุงจะต้องตั้งเป็นทีมขึ้นมาทำหรือไม่
2 มีนาคม 2561
“บุญเลิศ” อดีต สปช. แนะ สนช.แปรญัตติร่าง พ.ร.บ.กองทุนการศึกษา ย้ำความจำเป็นงบ 2.5 หมื่นล้าน ช่วยคนจน
บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาขณะนี้ ซึ่งมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯเป็นประธาน ควรจะใส่ข้อความเรื่องเงินอุดหนุนโดยให้รัฐบาลจัดสรรเป็นรายปีไม่น้อยกว่าร้อยละ5ของเงินงบประมาณแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา หรือประมาณปีละ 2.5 เป็นเวลา 5 ปีเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เกิดเป็นมรรคเป็นผลอย่างแท้จริง หากไม่กำหนดให้ชัดเจนก็เชื่อแน่ว่า เงินกองทุนที่ได้รับจัดสรรจะไม่เพียงพอ ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ที่ยากจนหรือขาดแคลนทุนทรัพย์กระทำได้อย่างจำกัด สุดท้ายความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะครอบงำคนไทยต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด???
บุญเลิศกล่าวว่า ความยากจนของคนไทยทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา คนจำนวนไม่น้อยถูกเขี่ยทิ้งจากระบบการศึกษา แม้เด็กและเยาวชนอยากจะเรียนหนังสือใจจะขาด แต่พ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งเสียเนื่องจากไม่มีเงิน อีกทั้งยังเป็นหนี้จะส่งให้ลูกเรียนได้อย่างไร และนี่เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้หญิงต้องยอมขายตัวเป็นโสเภณี เรื่องนี้ไม่ใช่เวรกรมและไม่ใช่ชาติก่อนไม่ได้ทำบุญ หากแต่เป็นเพราะรัฐแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ผ่านมาไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง
“วิษณุ” เตือนยังไม่ปลดล็อก แนะพรรคใหม่ทำกิจกรรมแจ้ง คสช.ก่อน
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเปิดให้พรรคการเมืองใหม่จองชื่อจดทะเบียนพรรควันแรก ว่าพรรคการเมืองใหม่สามารถประชุมผู้ก่อตั้งพรรค 250 คนได้ เพื่อสรรหากรรมการบริหารพรรค และร่างกฎระเบียบของพรรค เมื่อร่างเสร็จจะต้องดำเนินการจดทะเบียนพรรค แต่ระหว่างนี้หากจะประชุมพรรคจะต้องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน โดยใช้ช่องทางขออนุญาตผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลก่อนจะส่งให้ คสช.พิจารณา ซึ่ง คสช.จะพิจารณาเป็นกรณีไป
นอกจากนี้ คสช.จะดูการเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ให้เกินขอบเขต เพราะยังไม่ได้ปลดล็อกให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง ส่วนที่บางพรรคประกาศสนับสนุนบุคคลต่างๆ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนายกฯแล้วนั้น เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เพียงแต่จะยังไม่สามารถเสนอนโยบายของพรรคได้ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ตนตอบไม่ถูกว่า พรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่จะสามารถเคลื่อนไหวได้มากน้อยแค่ไหน แต่ให้ถือหลักว่า ถ้าจะทำอะไรให้แจ้ง คสช.ไว้ก่อน
‘สมชัย’แนะพรรคใหม่ต้องจองชื่อภายในมี.ค. ยื่นคสช. ขอประชุมพรรค
สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงบรรยากาศการยื่นขอแจ้งตั้งพรรคการเมืองเป็นวันแรกว่า ก่อนไม่ถึงเวลา 08.30 น. มีกลุ่มการเมืองแสดงความจำนงถึง 30 ชื่อ ถือเป็นความตื่นตัวที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 30 พรรคจะเป็นพรรคการเมืองได้ทั้งหมด เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้อีกหลายอย่าง ทั้งการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน ให้สมาชิก 500 คนที่ร่วมก่อตั้งมีส่วนร่วมจัดหาทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท โดยมีส่วนร่วมอย่างน้อย 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน ถือว่าเป็นโจทย์ยากสำหรับพรรคใหม่
สมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องจัดประชุมสมาชิกพรรคเพื่ออนุมัติระเบียบของพรรค และเรื่องกรรมการบริหารต่างๆ ซึ่งต้องขออนุญาตจากคสช. โดยคสช.ให้ขอผ่านกกต. หนังสือที่จะขอจัดประชุม ต้องระบุถึงกิจกรรมที่ทำ เหตุผลความจำเป็น สถานที่ประชุม วันและเวลาที่ใช้ประชุม จำนวนคนที่คาดว่าจะเข้าร่วมประชุม และผู้รับผิดชอบจัดประชุม หนังสือดังกล่าวต้องทำตามเงื่อนไขที่คสช.กำหนดและส่งผ่านกกต. เพื่อส่งคสช. ส่วนจะได้รับอนุมัติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคสช.
สมชัย กล่าวว่า กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะบังคับใช้ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ว่าต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท มีสาขาพรรค 4 ภาค และถ้าจะส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งใด ต้องมีตัวแทนในเขตจังหวัดนั้นๆ โดยพรรคต้องมีการประชุมใหญ่ เพื่อแก้ไขระเบียบข้อบังคับของพรรคและเลือกกรรมการบริหารพรรค รวมถึงทำไพรมารี่โหวต สิ่งเหล่านี้เป็นปฏิทินที่ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และนับไปอีก 180 วัน เพื่อทำให้สำเร็จ
ประกาศใช้แล้ว! พรป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณาวาระรับหลักการในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยมีมติเอกฉันท์จากที่ประชุมสนช.
‘หลักการ’ ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีบัญญัติอยู่แล้วในหมวด 11 เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 200-214) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่รัฐธรรมนูญได้บังคับให้มี พ.ร.ป ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอีกเพื่อกำหนด ‘รายละเอียด’ และกฎเกณฑ์ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ
ร่างนี้บัญญัติรายละเอียดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ที่มาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ? และอำนาจวินิจฉัยคดีทั้งหมดที่ศาลรัฐธรรมนูญมี แต่สิ่งที่น่าสนใจในร่างกฎหมายนี้ คือ “อำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ” อันได้แก่ หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการให้คำปรึกษาเพื่อยุติข้อโต้แย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สอง ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพยื่นร้องต่อศาลได้โดยตรง และ สาม บทบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาล ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ