NLA Weekly (3-9 มี.ค. 2561) : สนช. ผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. ตามที่ปรับแก้

NLA Weekly (3-9 มี.ค. 2561) : สนช. ผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. ตามที่ปรับแก้

เมื่อ 11 มี.ค. 2561
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การผ่านร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. ตามที่กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้ และกระแสที่ สนช.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ในเรื่องการสมัคร ส.ว. 2 ประเภทที่อาจจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
 
5 มีนาคม 2561
 
ประกาศข้อบังคับประมวลจริยธรรม 'สนช.-กรรมาธิการ' บังคับใช้ 6 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป
 
วันที่ 5 มีนาคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. 2561 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป โดยประกอบด้วย 2 หมวด ได้แก่ หมวด 1 จริยธรรม และหมวด 2 การส่งเสริมและควบคุมให้เป็นไปตามจริยธรรม 
 
ที่มา: ไทยโพสต์
 
6 มีนาคม 2561 
 
"มีชัย" ชี้แยกคัด ส.ว. สองแบบส่อขัด ก.ม. แนะชงศาล รธน. ตีความ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกสองฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ของ สนช. หลังจากที่คณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายได้ปรับแก้ ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 ว่า 
 
ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ห่วงเรื่องการสมัคร ส.ว. 2 ประเภท แม้ปรับให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่อดกังวลไม่ได้ว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หวังว่าเมื่อ สนช. ให้ความเห็นชอบแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะหากปล่อยไปวันหน้ามีคนยกขึ้นมามันจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่กระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้ง ยังคงอยู่ในกรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
 
8 มีนาคม 2561
 
สนช.มีมติตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง.
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของพลตำรวจตรี รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 17 คน พร้อมกำหนดระยะเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการภายใน 45 วัน
 
 
สนช. ผ่านร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. ตามที่กรรมาธิการร่วมสามฝ่าย ปรับแก้
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีมติเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายปรับแก้ไข ซึ่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ได้รับมติเป็นคะแนนเสียงไม่เห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จำนวน 248 คน  จึงถือว่า สนช. มีมติเห็นชอบ 
 
โดยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้รับคะแนนเสียงเห็นด้วย 211 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง  7 เสียง โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ 1) การขยายเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็น 08.00 - 17.00 น. จากร่างเดิม 07.00 - 17.00 น. 2) หลังประกาศการเลือกตั้งหากมีหลักฐานว่ามีการทุจริต กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้เพิกถอนสิทธิลงสมัครของบุคคลนั้นได้ 3) ค่าใช้จ่ายการหาเสียงของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด โดยจะไม่นำเอาค่าใช้จ่ายรายบุคคลมาคำนวณ และ 4) การห้ามจัดมหรสพระหว่างการหาเสียง และการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้บริหารท้องถิ่นบางตำแหน่ง  
 
ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าร่างด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้คะแนนเสียงเห็นด้วย 202 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก มาจาก 10 กลุ่มอาชีพ โดยแบ่งผู้สมัครสองประเภท คือ ผู้สมัครแบบอิสระและผู้สมัครแบบองค์กรเสนอชื่อ โดยให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มคัดเลือกกันเอง
 
 
9 มีนาคม 2561 
 
'วิษณุ' เชื่อยื่นศาลรธน.ตีความ 'กม.ลูกส.ว.' ไม่กระทบโรดแมพ
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพระราชบัญญัติว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.  หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเชื่อว่าจะไม่เป็นการดึงเวลา เพราะประเด็นการสมัคร ส.ว.ที่เป็นห่วงอยู่นั้น เป็นประเด็นข้อกฎหมายคงใช้เวลาไม่นาน และได้มีการเผื่อเวลาไว้แล้ว แต่หากยื่นไปแล้วศาลตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญก็อาจจะกระทบ แต่อย่าไปสมมติเช่นนั้น ถึงอย่างไรเชื่อว่าหากมีการยื่นตีความก็จะยื่นแค่มาตราที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน หากมีปัญหาศาลก็จะส่งกลับมาให้แก้ไขเฉพาะมาตรานั้น มั่นใจว่าไม่มีอะไรกระทบโรดแม็พตามที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยบอกว่าจะส่งหรือไม่ส่งศาลตีความ ก็อยู่ในโรดแม็พใหญ่คือเดือนกุมภาพันธ์ 2562