NLA weekly (10 - 17 มี.ค.2561): สนช.เตรียมยื่นศาล รธน. วินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.

NLA weekly (10 - 17 มี.ค.2561): สนช.เตรียมยื่นศาล รธน. วินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.

เมื่อ 17 มี.ค. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องสำคัญคือ สนช. มีมติส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามข้อเสนอของประธาน กรธ. นอกจากนี้ยังมีการพิจารณากฎหมายอีกสองฉบับคือ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา และเห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เป็นกฎหมาย ขณะที่สัปดาห์หน้า สนช. จะรับหลักการร่างกฎหมายสองฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน
 
13 มีนาคม 2561
 
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนและสัญญาบัตร หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
 
มานิจ สุขสมจิตร กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการว่า ได้พิจารณาประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า งานตำรวจมีความเสี่ยงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ ทั้งนี้ผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่าข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุน ดังนั้นตำรวจชั้นประทวน จึงควรได้รับเงินเพิ่ม 4,300 - 5,000 บาท ต่อเดือน และตำรวจชั้นสัญญาบัตรควรเพิ่มเงิน 18,500-21,500 บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาท บวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300 - 5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630 - 16,330 บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะได้รับเงินเดือนแรกบรรจุ 15,290 บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500 - 21,500 บาท ทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790 - 36,790 บาท นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังเห็นชอบตามข้อเสนอให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญา หรือ “ค่าทำสำนวน” เพิ่มขึ้น 
 
 
ประธาน กรธ. เตรียมส่งความเห็นร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. และ ส.ว. ไปยัง สนช. ภายในวันพรุ่งนี้ ชี้ อาจมีบางมาตราขัดรัฐธรรมนูญ ระบุควรตีความให้ชัดเจน 
 
มีชัย  ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการจัดทำความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ตามที่ที่ประชุมใหญ่ สนช.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว แต่ กรธ. เห็นว่า กฎหมายบางมาตรา หากมีผลบังคับใช้แล้วและมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาและส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ แต่หากมีการตีความให้ได้ข้อยุติตั้งแต่ต้นก็จะไม่ก่อเกิดความเสียหาย ดังนั้น กรธ.จึงจำเป็นต้องจัดทำความเห็นไปยัง สนช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการ หากส่งความเห็นไปยัง สนช.แล้ว ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรดแม็ป เพราะนับเวลาเผื่อขั้นตอนนี้ไว้แล้ว แต่หากให้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว กรธ.ก็หมดวาระลง และการแก้ไขกฎหมายก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น ดังนั้น กรธ. เห็นว่าควรมีผู้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
 
14 มีนาคม 2561
 
คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ชงข้อสรุปการถ่ายโอนภารกิจตำรวจไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งมอบรายงานและข้อเสนอไปยัง ครม. ก่อนหมดวาระการทำงาน 31 มี.ค.นี้
 
มานิจ สุขสมจิตร กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยผลการประชุม เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจและภารกิจของตำรวจ ว่า ข้อสรุปการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจโดยตรงไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประเภทที่ 1 ต้องถ่ายโอนภารกิจภายใน 3 ปี ได้แก่ ภารกิจด้านการจราจรไปยังกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / ภารกิจการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและสรรพสามิต ไปยังกรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต / ภารกิจการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภารกิจการคุ้มครองผู้บริโภคไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม 
 
ประเภทที่ 2 ต้องถ่ายโอนภารกิจภายใน 5 ปี ได้แก่ ภารกิจของตำรวจทางหลวงและตำรวจน้ำ ไปยังกรมเจ้าท่าและกระทรวงคมนาคม ประเภทที่ 3 ภารกิจที่ต้องเตรียมความพร้อม โดยไม่กำหนดช่วงเวลาถ่ายโอนภารกิจ ได้แก่ ภารกิจด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาและตำรวจท่องเที่ยว ไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประเภทที่ 4 ภารกิจที่สมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติร่วมกับตำรวจ ได้แก่ ภารกิจของตำรวจรถไฟ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจของตำรวจนั้น เพื่อให้ตำรวจกลับมาทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมซึ่งเป็นภารกิจโดยตรง ซึ่งขั้นตอนการรับโอนจะเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
มานิจ กล่าวถึงปัญหาการถ่ายโอนภารกิจของตำรวจว่า ส่วนใหญ่หน่วยงานที่รับโอนยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ อัตรากำลัง ความพร้อมของบุคลากรที่ต้องมีทักษะการสืบสวนสอบสวน การจัดเตรียมอุปกรณ์ อาคารสถานที่และระยะเวลาดำเนินการ ส่วนบุคลากรเดิมที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนอาจต้องย้ายไปสังกัดกับหน่วยงานใหม่ ซึ่งการถ่ายโอนงานนั้นจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ต้องกำหนดให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะส่งรายงานข้อสรุปดังกล่าวผ่านไปยังคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านพิจารณา ก่อนส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากรัฐบาลเห็นชอบให้ดำเนินการและต้องมีการแก้ไขกฎหมายก็ต้องส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ซึ่ง คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จะหมดวาระการทำงานในวันที่ 31 มี.ค.นี้
 
 
15 มีนาคม 2561
 
มติ สนช. 186 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 186 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 189 คน โดยวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการกำหนดมาตรการและกลไกในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของสถาบันการเงินเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ แต่เนื่องจากระบบการเงินของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการและกลไกเพิ่มเติม เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับ การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินของสถาบันการเงินและรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม โดยมีหน่วยงานรองรับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินอันอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ โดยเพิ่มส่วนการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้สอดคล้องกัน
 
 
สนช.มีมติ 179 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง กล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ. กล่าวว่า ภายหลัง กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วมีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตรา อาทิเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท.มีมติให้กันบุคคลไว้เป็นพยานแล้วห้ามมิให้ดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยกับบุคคลซึ่งถูกกันไว้เป็นพยานนั้น และบุคคลนั้นอาจได้รับความช่วยเหลือได้ตามสมควรจนคดีถึงที่สุด เว้นแต่บุคคลนั้นฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขการกันไว้เป็นพยาน 
 
 
สนช.เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. ฉบับเดียว คาดรวบรวมรายชื่อ สมาชิก สนช. พร้อมจัดทำเอกสารแล้วเสร็จ ภายใน 16 มี.ค.นี้
 
สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวภายหลังจากที่ สนช.ได้หนังสือความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีข้อกังวลเนื้อหาตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่บางมาตราอาจขัดกับหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า สนช. ได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว และในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ของร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เห็นกันว่าควรจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน เฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการยกร่างว่าจะยื่นในประเด็นใดบ้าง โดย สนช.เห็นว่าจะยื่นเฉพาะในประเด็นที่น่าสงสัยว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าในวันศุกร์ที่ 16 มีนาคมนี้ จะสามารถจัดทำเอกสารและรวบรวมรายชื่อ สมาชิก สนช. ที่ร่วมเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จ 
 
ซึ่งหากยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลจะต้องใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งได้ ซึ่ง สนช. ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาดังกล่าว ประกอบกับร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.ได้ขยายเวลาการบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกไป 90 วัน แล้ว ขณะนี้ จึงยืนยันว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.เท่านั้น
 
 
16 มีนาคม 2561
 
ประธาน สนช.ยืนยันส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฉบับเดียว 
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวสรุปมติของ สนช. ภายหลังจากได้รับความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีข้อกังวลว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) อาจมีบางมาตราขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ  ว่า สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ยืนยันว่า เนื้อหาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหากมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในอนาคต และเพื่อให้เกิดความชัดเจนรอบด้านตามเจตนารมณ์ของ กรธ. สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ควรมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.เท่านั้น โดยยื่นให้ศาลวินิจฉัยเนื้อหาในบทเฉพาะกาล ที่มีการแบ่งประเภทผู้สมัคร ส.ว.ที่มีทั้งแบบอิสระและแบบองค์กรคัดเลือก ซึ่งอาจขัดแย้งต่อระบบการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งขณะนี้ ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. จำนวน 30 คน ที่ขอเข้าชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยมีกิตติ วะสีนนท์ เป็นตัวแทนผู้เข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธาน สนช. และจะดำเนินการส่งหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมนี้ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยประมาณ 1 เดือน
 
 
ส่วนเหตุผลที่ สนช. ไม่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.นั้น พรเพชร กล่าวว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่มั่นใจว่า ประเด็นที่ กรธ.ทักท้วง ทั้งเรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการอนุญาตบุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนน ที่ สนช.ระบุเพิ่มเติมว่า ให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น เนื่องจากไม่ได้เปิดเผยผลการลงคะแนนดังกล่าวต่อคนทั่วไป จึงยืนยันว่ายังเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้