NLA Weekly (31 มีนาคม - 6 เมษายน 2561): สนช. เห็นชอบ ร่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้งบเป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท

NLA Weekly (31 มีนาคม - 6 เมษายน 2561): สนช. เห็นชอบ ร่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้งบเป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท

เมื่อ 8 เม.ย. 2561
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ สนช.ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยร่างกฎหมายกำหนดระยะแรกให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท และได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ไว้พิจารณา
 
ด้านความเคลื่อนไหวของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ประธาน สนช. ได้ลงนามและส่งร่างกฎหมาย พร้อมแนบคำร้องของสมาชิกสนช. 27 คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา
 
3 เมษายน 2561
 
ประธาน สนช.เผย ลงนาม ส่งร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 เมษายน 2561  ได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จาก พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยวันที่ 3 เมษายน 2561 ได้ลงนามและส่งร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมแนบคำร้องของสมาชิกสนช. 27 คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว 
 
สำหรับเนื้อหาที่นายกรัฐมนตรีส่งมา ระบุว่า เห็นควรให้สมาชิก สนช.ดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของสมาชิกที่มีการเข้าชื่อกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยขอความอนุเคราะห์ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแต่ไม่อยากใช้คำว่าให้เร่งรัด
 
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ประสานให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กับ สนช.ไปชี้แจงแล้ว
 
 
4 เมษายน 2561
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักการของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่สอดคล้องกันให้เป็นกระบวนการเดียวกัน รองรับกันและแก้ไขสิ่งที่ปัญหาที่ค้างคามานาน เช่น การยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก่อนประกาศใช้เป็นข้อบังคับ รวมทั้งเพื่อให้คู่ความมีความสะดวกที่จะนำคดีมาฟ้องร้อง ตลอดจนแก้เพื่อทำให้ผู้เป็นตุลาการในศาลปกครองได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของการรับบำเหน็จบำนาญยิ่งขึ้น  
 
ขณะที่ ผู้แทนศาลปกครอง กล่าวชี้แจงถึงการยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิตอล และระบบเดิมว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้และสร้างนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป้าหมายของศาลปกครองที่นำมาใช้ก็เพื่อความสะดวก รวดเร็วและประหยัด โดยผลดีที่เล็งเห็นมี 4 ประการ คือ  1.คู่กรณีและประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบและพัฒนาระบบของศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยบูรณาการงานพิจารณาคดี 2.เพิ่มความสะดวกให้กับคู่กรณีในการยื่นฟ้อง รับส่งเอกสาร โดยเพิ่มช่องทางผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการพึ่งพากระดาษ 3.ลดภาระค่าใช้จ่ายของคู่กรณีและประชาชน และ 4.ลดขั้นตอนระยะเวลาในการเข้าใช้บริการที่ศาล  
 
 
สนช.มีมติ 181 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา 
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ปี 2543 เพื่อกำหนดความคุ้มครองข้าราชการตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เนื่องจากนับตั้งแต่มีการเปิดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบก็มีผู้นำคดีไปฟ้องร้องกล่าวหาผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิพากษาเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า มีการใช้ช่องทางเดิมที่มีอยู่ฟ้องร้องได้
 
และยังแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำที่อ้างถึงกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ
 
รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการได้มาซึ่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการไม่เกินสองคน ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง
 
 
5 เมษายน 2561
 
สนช. เห็นชอบ ร่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
 
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เป็นประธานกมธ.ฯ เสนอ ด้วยเสียงเห็นชอบข้างมาก 147 เสียงต่อเสียงไม่เห็นชอบ 1 เสียง
 
สำหรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ร่างกฎหมายกำหนดระยะแรกให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท ร่วมกับงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เงินที่รัฐบาลจัดสรรรายปี, เงินรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
 
ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ บทเฉพาะกาลกำหนดให้เริ่มดำเนินการตามรายละเอียดของกฎหมายหลังประกาศใช้แล้ว 60 วันด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทั้งนี้กำหนดให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ภาระ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมถึงงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนตามระเบียบของ สสส. ไปเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฯ ซึ่งยังให้อำนาจนายกฯ มีคำสั่งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานในสำนักงานฯ ชั่วคราวได้คราวละไม่เกิน 4 ปี
 
 
6 เมษายน 2561
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายกรัฐมนตรี  เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายกรัฐมนตรี  เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบแผนปฏิรูปจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและผ่านการพิจารณาความสอดล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 เมษายน 2561 เป็นต้นไป