เลือกตั้งช้าไป ใครสั่ง ...

เลือกตั้งช้าไป ใครสั่ง ...

เมื่อ 11 เม.ย. 2561
แม้ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่่ 25 มกราคม 2561 โดยกำหนดด้วยว่า ให้ขยายเวลาเริ่มบังคับใช้ไปอีก 90 วัน หลังจากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นผลทำให้กำหนดการเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปอีก 90 วัน จากกำหนดเดิมที่จะเกิดในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 
 
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ยังประกาศใช้ไม่ได้เสียที แม้ร่างจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว แต่ก็ยังเจอกับข้อท้วงติงจากผู้มีอำนาจถึงเนื้อหาว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างต้องถูกชะลอออกไปสองครั้ง
 
กรธ. ท้วงกฎหมายเลือกตั้ง ยื่นเลือกตั้ง 1 เดือน
 
วันที่ 25 มกราคม 2561 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านออกมาแล้ว แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ทักท้วงว่า มี 4 ประเด็น ในฉบับนี้ที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ 1) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองจัดสรรให้ไม่เท่ากัน 2) ห้ามการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ 3) การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการ หรือผู้สูงอายุได้ และ 4) การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
 
เมื่อ กรธ. ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญเองกับมือทักท้วงเช่นนี้ จึงส่งผลให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่ายที่ประกอบไปด้วยสมาชิก สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และประธาน กกต. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวให้ได้ข้อยุติ ขั้นตอนนี้ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องขยายออกไปอีกประมาณหนึ่งเดือน เพื่อถกเถียงในสี่ประเด็นนี้ก่อนนำร่างกลับมาสู่การพิจารณาของ สนช. อีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2561 ซึ่ง สนช. ได้เห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมายด้วยมติเอกฉันท์อีกเช่นเดิม และส่งร่างกฎหมายนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ประยุทธ์ส่งร่างคืน สนช. ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
 
แม้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเตรียมทูลเกล้าฯ แต่ มีชัย ฤชุพันธ์ ยังคงท้วงติงไปยัง สนช. ว่ามีอีกสองประเด็นที่อาจขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ 1) ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการ หรือผู้สูงอายุได้ และ 2) การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีชัยเสนอให้ส่งร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
 
ในตอนแรก สนช. ยืนยันว่าจะไม่ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่อยากให้กระทบโรดแมปเลือกตั้งที่ คสช. ประกาศไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตามต่อมามีสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไปทบทวนร่างกฎหมายนี้ให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง รวมทั้งการสอบถามไปยัง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ว่าทำไมถึงส่งไม่ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยที่มา ส.ว. 
 
ด้าน กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ก็ออกมารับลูกต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ โดยการล่ารายชื่อสมาชิก สนช. 27 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความในสองประเด็นตามที่ มีชัย ทักท้วงมา โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าปล่อยไปจนประกาศบังคับใช้กฎหมาย แล้วมีผู้ไปยื่นตีความภายหลัง จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ จนกระทั่ง 2 เมษายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คืนให้ สนช. โดยระบุสั้นๆ ว่า "เห็นควรให้สมาชิก สนช.ดำเนินการ เพราะเป็น เรื่องของสมาชิก สนช. ที่เข้าชื่อกัน" และวันต่อมา 3 เมษายน สนช. จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กระทั่ง 11 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องของ สนช. ตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 
 
 
แม้ขั้นตอนวิธีการกว่าจะได้มาซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดูจะมีองค์กรทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และ สนช. เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เหตุที่การประกาศใช้กฎหมายล่าช้าไปทั้งสองครั้ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีที่มาจากการทักท้วงของ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นทั้งคนร่างรัฐธรรมนูญเอง ร่างกฎหมายฉบับนี้เอง และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ คสช. เองด้วย และเมื่อเสียงทักท้วงจากมีชัยยังดังไม่พอสำหรับประธาน สนช. จึงต้องเป็นเสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เองที่สั่งให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายก่อน ซึ่งกรอบเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีกฎหมายใดกำหนด อาจสั้นหรือยาวก็ได้ขึ้นอยู่กับศาลและบรรยากาศทางการเมือง
 
สุดท้ายเมื่อกำหนดการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีกถึงสองจังหวะจากขั้นตอนเหล่านี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งมีชัย และพล.อ.ประยุทธ์ สองบุคคลสำคัญของ คสช. เองมีส่วนโดยตรงกับการเลื่อนการเลือกตั้ง