NLA Weekly (9 – 15 เม.ย.61): ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง สนช. ตีความร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

NLA Weekly (9 – 15 เม.ย.61): ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง สนช. ตีความร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อ 15 เม.ย. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับร้องคำร้องสองเรื่อง คือ 1) รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องให้วินิจฉัยคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ 2) รับคำร้องของสมาชิก สนช. เรื่องให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่ามีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ขณะที่สัปดาห์หน้า วันที่ 19 เมษายน 2561 สนช. มีวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน และวันที่ 20 เมษายน 2561 มีวาระพิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
 
10 เมษายน 2561
 
ประธาน กรธ. ชี้ รัฐบาลชุดใหม่ต้องเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ แต่ปรับแผนได้หากมีเหตุผลเพียงพอ
 
มีชัย  ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศใน 6 ด้าน ภายหลังมีผลบังคับใช้ ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำไปดำเนินการ ส่วนตัวเห็นว่าแผนปฏิรูปเป็นโครงที่เขียนไว้กว้างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำแผนปฏิบัติการ โครงการ และงบประมาณ รองรับให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติต่อไป และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อไปที่ต้องดำเนินการตามแผนปฏิรูปต่อ และหากไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีเหตุผลจากความไม่พร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ ติดขัดข้อกฎหมาย หรือมีวิธีที่ดีกว่า ก็สามารถปรับเปลี่ยนแผนปฏิรูปได้ เพราะบางเรื่องไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนแผน
 
 
11 เมษายน 2561
 
ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง สนช. ตีความร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องพิจารณาคดีสองเรื่อง ดังนี้ 
 
1) รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องให้วินิจฉัยคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 140 และ 141 ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร และเป็นการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล โดยศาลมีคำสั่งให้ประธาน กกต. หัวหน้า คสช. พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดทำความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลภายในวันที่ 25 เมษายน 2561
 
2) รับคำร้องของสมาชิก สนช. จำนวน 27 คน เรื่องให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35(4) และ (5) และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลมีคำสั่งให้ปรีชา วัชราภัย สมาชิก สนช. ประธานกรธ. ประธาน กมธ.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และประธาน กกต. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกียวข้องยื่นต่อศาลภายในวันที่ 25 เมษายน 2561
 
คำร้องทั้งสองคดีเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การดำเนินการของพรรคการเมืองที่กำลังเป็นอุปสรรคอยู่ในขณะนี้ และคำร้องนี้อาจกระทบต่อการเลือกตั้งที่ คสช. สัญญาว่าจะให้มีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
 
12 เมษายน 2561
 
กกต.รับจดแจ้งแล้ว 15 พรรค - แนะ จะขอ คสช.ประชุมต้องระบุข้อมูลให้ชัด
 
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณารับรองคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่า ขณะนี้ทาง กกต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของกลุ่มการเมืองที่ยื่นคำขอเข้ามา เบื้องต้นมีจำนวน 15 พรรคการเมืองที่ได้ลงนามและออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พรรคเครือข่ายประชาชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคกรีน พรรคประชานิยม พรรคพลังสยาม พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน พรรคประชาชาติ พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภาคีเครือข่ายไทย ทั้งนี้คาดว่า หลังเทศกาลสงกรานต์จะมีอีกหลายพรรคที่จะได้รับหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง
 
สำหรับ เรื่องการขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้ กกต.ได้ส่งหนังสือไปให้ คสช.พิจารณาแล้ว จำนวน 30 กลุ่ม  และได้รับอนุญาต จำนวน 9 กลุ่ม อยากเน้นย้ำให้กลุ่มการเมืองที่จะยื่นเอกสารขออนุญาต คสช. ระบุข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น วัน เวลา และสถานที่จัดประชุม โดยเฉพาะสถานที่จัดประชุม ซึ่งมีความสำคัญมาก
 
ที่มา: ประชาไท
 
13 เมษายน 2561
 
ประธาน กรธ. ยังมั่นใจโรดแมปการเลือกตั้งของรัฐบาล ยังเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมนัดพรรคการเมืองหารือตามคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ว่า การหารือเป็นเรื่องที่ดี แต่เท่าที่ทราบนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากมีอะไรที่พรรคการเมืองต้องการหารือก็สามารถนัดคุยกันได้ ส่วนการปลดล็อกคำสั่ง คสช. เป็นเนื้อหาที่คำสั่งได้ระบุระยะเวลาไว้แล้ว แต่หากคิดว่าห้วงเวลาในคำสั่งไม่สอดคล้องกัน ก็สามารถที่จะบอกนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยแก้ไขได้ แต่หากจะให้แก้ไขโดยที่ยังไม่ทราบปัญหา ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่นักการเมือง แต่เบื้องต้น คิดว่าต้องรอพิจารณาเนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับสุดท้าย จะมีเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน 
 
นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังใช้ช่องทางยื่นคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงทำให้การแก้ไขคำสั่ง คสช. ตามความต้องการของ กกต. อาจจะต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่หากเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ก็ต้องหารือเพื่อหาทางออก ทั้งนี้ คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยทั้งคำสั่ง คสช. และ กฎหมายลูก แล้วเสร็จทันในช่วงเดือนมิถุนายน ที่นายกรัฐมนตรี เคยกำหนดว่า จะหารือกับพรรคการเมืองไว้ เพราะ ขณะนี้เหลือเวลาอีกสองเดือน  อย่างไรก็ตาม  ยังมั่นใจว่าโรดแมปการเลือกตั้งของรัฐบาล ยังเป็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 
 
 
14 เมษายน 2561
 
คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ เตรียมนัดประชุมหลังสงกรานต์นี้ ปรับเนื้อหาแผนปฏิรูปตำรวจให้ตรงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ กล่าวถึงแผนปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ว่า ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาทบทวนอีกครั้ง มีชัย กล่าวว่า คณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมาใหม่ สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาในแผนปฏิรูปชุด พล.อ.บุญสร้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดแผนปฏิรูปดังกล่าว ส่วนตัวเห็นว่าแผนการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมายังมีความเกรงใจตำรวจอยู่ จึงจะต้องปรับแก้ไขใหม่ 
 
มีชัย มั่นใจว่า คณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะพิจารณาจากแก่นปัญหาอย่างแท้จริง และจะยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญในการปฏิรูป 2 เรื่อง คือ การศึกษาและตำรวจ  ส่วนกรณีที่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว การแต่งตั้งโยกย้ายต้องยึดหลักอาวุโส ขณะนี้ผ่านไป 1 ปีแล้ว ถือว่าเข้าเกณฑ์ดังกล่าว หากการแต่งตั้งตำรวจไม่ใช่เกณฑ์นี้ก็สามารถฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายปฏิรูปตำรวจที่คณะกรรมการชุดใหม่จะดำเนินการนั้น คาดว่าจะเสร็จไม่ทันกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในเดือนตุลาคมนี้ ดังนั้น หลักการแต่งตั้งตำรวจจะต้องยึดลำดับอาวุโสตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด