NLA Weekly (7 เมษายน - 13 พฤษภาคม 2561) : สนช. ตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ 7 ว่าที่กกต.

NLA Weekly (7 เมษายน - 13 พฤษภาคม 2561) : สนช. ตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ 7 ว่าที่กกต.

เมื่อ 13 พ.ค. 2561

NLA Weekly (7 เมษายน - 13 พฤษภาคม 2561) : สนช. ตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ 7 ว่าที่กกต.

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ และ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียฯ ใช้เป็นกฎหมาย รวมถึง มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกฯ ขณะเดียวกัน สนช. ได้ขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม ไปอีก 90 วัน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว นอกจากนี้ สนช. ได้แต่งตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน

 

9 พฤษภาคม 2561

 

กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน สนช. เชื่อ ร่างกฎหมายการจัดทำแผนที่และข้อมูลที่ดินฯ กับ One Map ช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินได้

 

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการติดตามการดำเนินงานการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำแผนที่และข้อมูลที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. .... ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร พบว่า One Map เป็นโครงการของที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดผลในเร็ว ๆ นี้ โดยให้จัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ มาตราส่วน 1 : 4000 แบบดิจิตอลเพื่อให้ทุกส่วนราชการยึดถือแนวทางเดียวกัน ขณะที่ร่างกฎหมายการจัดทำแผนที่และข้อมูลที่ดินฯ เป็นกฎหมายที่ต้องการตราขึ้น เพื่อลดข้อพิพาทเรื่องที่ดิน โดยให้ทุกหน่วยงานหันมาใช้หน่วยวัดในมาตราส่วนเดียวกัน ซึ่ง กรรมาธิการฯ ให้ข้อสังเกตว่า One Map และร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่มีความทับซ้อนกัน เนื่องจากนำไปใช้คนละวัตถุประสงค์ และที่ประชุมเห็นว่าร่างกฎหมายควรดำเนินการผลักดันควบคู่ไปกับการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบ One Map ของรัฐบาล

 

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 

 

10 พฤษภาคม 2561

 

สนช. ประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ใช้เป็นกฎหมาย

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเห็นด้วย 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง เหตุผลที่ต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันได้กำหนดมาตรการและกลไกกำกับดูแลการประกอบกิจการของสถาบันการเงินเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศในกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่เนื่องจากระบบการเงินของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการและกลไกเพิ่มเติมเพื่อเป็นเครื่องมือรองรับการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินของสถาบันการเงินและรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม

 

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 

 

สนช. ประกาศให้ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียฯ ใช้เป็นกฎหมาย

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย พ.ศ. .... ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 มาตรา ทั้งนี้ ไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอภิปรายในรายมาตรานี้ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 190 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง

 

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 

 

สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกฯ

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 189 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลังเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ แปรญัตติ 7 วัน กำหนดระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน โดยก่อนหน้านี้ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขออกประกอบในส่วนที่เกี่ยวกับการรับประกันความเสี่ยงในต่างประเทศ เพื่อให้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สามารถส่งเสริมและสนับสนุนผู้ส่งออก และผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ที่มา : Independent News Network 

 

ประธาน สนช. เชื่อ ว่าที่ กกต. 5 คน จะผ่านมติ สนช.

 

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า ได้รายชื่อว่าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 คนแล้ว โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของว่าที่ กกต. ทั้ง 7 คน ในการประชุม สนช. วันพรุ่งนี้ (11 พ.ค. 61) เพื่อทำหน้าที่ภายใน 60 วัน ก่อนส่งให้ สนช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ รายชื่อว่าที่ กกต. 5 คน ที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งคัดเลือกบุคคลจากกระแสวิเคราะห์ของสื่อมวลชนและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อมีการตรวจสอบประวัติความประพฤติอาจถูกตีตกได้ ถือเป็นคนละส่วนกัน

 

ประธาน สนช. มั่นใจว่า รายชื่อว่าที่ กกต. 5 คน จะผ่านมติที่ประชุม สนช. หากไม่ติดปัญหาเรื่องประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม เพราะคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาอย่างรอบคอบ จากรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งหมด 33 คน ส่วนประเด็นการตรวจสอบคลิปเสียงสนทนาเกี่ยวกับการเลือกกรรมการ กสทช. นั้น ตนยังไม่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบชุดที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนที่ทราบที่มาของคลิปดังกล่าว เพื่อให้การตรวจสอบง่ายขึ้น

 

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

11 พฤษภาคม 2561 

 

สนช. ตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ 7 ว่าที่กกต. คาดลงมติ ช่วง ก.ค. นี้ 

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 17 คน โดยเป็นสัดส่วนจากคณะกรรมาธิการสามัญ สนช.  16 คน และจาก วิป สนช. จำนวน 1 คน   กำหนดกรอบการทำงาน 60 วัน   ก่อนนำชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบกลับเข้าสู่ ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกครั้ง  ราววันที่ 12 – 13 ก.ค. นี้

 

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 

 

สนช.ยื้อเวลา ทำ ร่างกม.ประโยชน์ขัดกัน รอบ 4

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันท์ 171 เสียง ให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..... ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช. เป็นประธานกรรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาฯเป็นครั้งที่ 4 โดยให้เวลาขยายออกไปอีก 90 วัน ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ค้างอยู่ในวาระพิจารณาของกมธ.ฯ แล้วถึง 268 วัน และหากใช้เวลาพิจารณาที่ได้ขยายรอบ 4 จะทำให้ใช้เวลามากถึง  358 วัน สำหรับการพิจารณาของกมธ.ฯ ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ เป็นประธาน ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งวันที่ 17 ส.ค. 2560  ได้นัดประชุมจำนวน 21 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างมาตรา 5 จากเนื้อหาที่มีทั้งหมด 29 มาตรา

 

ที่มา : คมชัดลึก