สัปดาห์นี้มีหลายประเด็นให้ต้องจับตา เริ่มจากเรื่อง 'ยุทธศาสตร์ชาติ' ที่ล่าสุด ครม.ยังมีมติไม่เห็นชอบพร้อมกำหนดให้สภาพัฒน์ฯ ส่งมาให้ดูใหม่ 5 มิถุนายนนี้ ในขณะเดียวกัน หัวหน้าคสช. ประกาศใช้มาตรา 44 เพื่ออุ้มทีวีดิจิตอล โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ค้างชำระหนี้สามารถขอพักชำระหนี้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าการดำเนินธุรกิจและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องไม่ขัดต่อกรอบของกฎหมาย มิเช่นนั้น จะให้ กสทช. เพิกถอนการชำระหนี้ อีกทั้ง ยังเปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์หรือโทรทัศน์ของรัฐสามารถหากำไรจากการโฆษณาได้
ด้าน สนช. มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ ไว้พิจารณา และเห็นชอบพิธีสาร 'ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29' ส่วนผลการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้ข้อสรุปว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลให้เหตุผลว่า กฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตราที่ สนช. ส่งเรื่องมานั้น เป็นส่วนของบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเลื่อนการพิจารณากฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปวันที่ 30 พฤษภาคมนี้
22 พฤษภาคม 2561
ครม. ยังไม่เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้สภาพัฒน์ฯ ฟังความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้อง ก่อนส่ง ครม. ภายใน 5 มิ.ย. 61
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ผลคือที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์ชาติตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานกรรมการฯ เสนอ
แต่ ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอกลับ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2561
ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเหตุผลของกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแนวโน้มเกิดการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิความเป็นส่วนตัวมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาประโยชน์หรือเปิดเผยโดย มิชอบหรือโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เพื่อประโยชน์ในทางการค้า หรือเพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการกระทำความผิดต่าง ๆ เช่น การฉ้อโกง การหมิ่นประมาท เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ เพื่อสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนุบคคลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยต้องไม่สร้างภาระหน้าที่แก่ผู้เกี่ยวข้องจนกลายเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการประกอบธุรกิจการค้าหรือการให้บริการของภาคส่วนต่าง ๆ จนเกินสมควร เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครม. เห็นชอบกฎหมายป่าชุมชน “คนกับป่าอยู่ร่วมกัน”
ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ใกล้ชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน โดยปัจจุบันจากพื้นที่ของประเทศไทย 323 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่า 102.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 32.4% ของพื้นที่รวม ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557 ข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พบว่าหยุดลดลงนับแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหาร สะท้อนความเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งกลับพบปัญหาว่าการบุกรุกป่าส่วนหนึ่งมาจากประชาชนยากไร้เข้าไปหาที่ทำกินและชุมชนที่อาศัยร่วมกับป่ามาตั้งแต่อดีตแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายปัจจุบัน เนื่องจากยังขาดความยืดหยุ่นและเน้นการควบคุม ยับยั้งปราบปรามเป็นหลัก และเป็นที่มาของคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66 ที่พยายามหาทางแก้ปัญหาตามความเหมาะสม รวมไปถึงยกร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับนี้มารองรับ
ทั้งนี้ เป้าหมายของป่าชุมชนมีทั้งสิ้น 19.1 ล้านไร่ 21,850 หมู่บ้าน 3 ล้านครอบครัว และ 12 ล้านคน ซึ่งเป็นป่าที่พัฒนามาจากป่าเสื่อมโทรมในอดีตเพื่อใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ของเดิมที่มีอยู่ โดยกฎหมายจะอนุญาตให้ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จากการเก็บของป่าหรือการปลูกไม้มีค่า ซึ่งกฎหมายเดิมถือว่าเป็นความผิด โดยได้ประกาศการจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วจำนวน 11,000 หมู่บ้าน ออกใบอนุญาตไปแล้วประมาณ 2,000 หมู่บ้าน โดยในปี 2561 กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดทำให้แล้วเสร็จ 99 ป่า เป็นป่าชายเลย 20 แห่งและป่าบนบกทั่วไปอีก 79 แห่ง และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2580 จะประเทศไทยจะมีป่าและพื้นที่สีเขียวถึง 55% ของพื้นที่ทั้งหมดให้ได้
23 พฤษภาคม 2561
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ กฎหมาย ส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ลุ้นพ.ร.ป.ส.ส.สัปดาห์หน้า
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีที่ สนช. จำนวน 30 คน ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในมาตรา 91-96 ที่กำหนดให้ในระยะ 5 ปีแรก ต้องแบ่งกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว. ออกเป็น 10 กลุ่ม และให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสามารถเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ได้นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตราที่ สนช. ส่งเรื่องมานั้น เป็นส่วนของบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอเลื่อนการวินิจฉัยคดีอีกสองคดีที่เหลือไปวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ได้แก่
1) คดีที่สนช. 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามเป็นข้าราชการฝ่ายการเมือง และการลงคะแนนแทนผู้พิการตามลำดับนั้น ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสาม เรื่องการจำกัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมาตรา 85 หรือไม่
2) คดีที่พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 140 และ 141 ว่าด้วยเรื่องการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองและข้อบังคับที่พรรคการเมืองต้องทำตาม ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25-27 เกี่ยวกับจำกัดสิทธิเสรีภาพและสร้างภาระให้แก่บุคคลจนเกินสมควรหรือไม่ รวมถึงขัดต่อมาตรา 45 เรื่องเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่
ขุด ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล แต่ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขโดนถอนอุ้ม-เปิดทางช่อง11หาโฆษณาได้!
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการที่สุจริต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิตอลที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ยื่นขอพักชำระหนี้กับกสทช. กำหนดกรอบไม่เกิน 3 ปี และให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าดอกเบี้ยไปพลางก่อน
ทั้งนี้ หากผู้รับใบอนุญาตเจ้าใดไม่ประกอบธุรกิจหรือดำเนินธุรกิจตามกรอบของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ให้สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบ และ พิจารณายกเลิกการพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
นอกจากนี้ ให้กสทช. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยของกสทช. จัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เป็นจํานวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นเวลา 24 เดือน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากําไรทางธุรกิจ ทั้งนี้ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
24 พฤษภาคม 2561
สนช.มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนน เห็นด้วย 195 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน
โดย สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำผ่าน การนำกลับมาและการส่งกลับออกไปเพื่อเป็นการลดภาระแก่ผู้ประกอบการ กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการและเพิ่มเติมหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการควบคุมวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นไปในแนวทางเดียวกันตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมอายุและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในกรณีการนำวัตถุอันตรายมาใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การทดสอบ การ วิเคราะห์ การวิจัย และการพัฒนา และกำหนดให้มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้เข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือขจัดความเสียหายที่เกิดขั้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบให้เหมาะสม
สนช.เห็นชอบพิธีสาร 'ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29'
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบพิธีสารปี ค.ศ. 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 177 คน โดยเนื้อหาสาระของพิธีสารดังกล่าวคือ การขจัดการใช้แรงงานบังคับ ยกระดับมาตรฐานคุ้มครองแรงงานทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม สอดคล้องมาตรฐานสากล