งานเสวนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ “ฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ

 

ที่มาของการจัดเสวนา
.
การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “การฟ้องคดีปิดปาก” เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้ง ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการฟ้องคดีปิดปากนั้น มิได้มุ่งที่ผลแพ้ชนะของคดี แต่มุ่งที่จะข่มขู่ให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือมุ่งก่อให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ถูกดำเนินคดี เช่น การแกล้งยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างความลำบากแก่จำเลยในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องในข้อหาที่หนักกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดภาระทางการเงินในการต่อสู้คดี การเดินทาง เสียเวลาทำมาหากิน เกิดความยุ่งยากต่างๆ หรือแม้แต่เสียสุขภาพจิต จนที่สุดผู้ถูกดำเนินคดีต้องหยุดแสดงความคิดเห็น หยุดตรวจสอบ หรือหยุดการเข้าไปมีส่วนร่วม
 
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีคดีที่เข้าลักษณะการฟ้องปิดปากอยู่จำนวนมากพอสมควร ประชาชน หรือชุมชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อแสดงความคิดเห็น การคัดค้าน การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือการดำเนินนโยบายการพัฒนาต่างๆที่ก่อผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน ตลอดจนตรวจสอบการดำเนินการต่างๆของรัฐและกลุ่มทุน มักจะถูกกลุ่มทุนหรือรัฐดำเนินคดี ตัวอย่างเช่น กรณีชาวบ้านคัดต้านเหมืองแร่ จังหวัดเลย ถูกบริษัทเหมืองแร่ฟ้องทั้งคดีอาญาและแพ่งหลายคดี ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่การได้ฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของผู้ฟ้องแล้ว เพราะได้ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งปัจจุบันการดำเนินคดีเพื่อปิดปากในลักษณะนี้ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแค่เอกชนเท่านั้นที่เป็นผู้ฟ้อง หลายกรณีรัฐเข้ามามีบทบาทในการดำเนินคดีกับประชาชนด้วยเช่นกัน อาทิ การดำเนินคดีกับชาวบ้าน 17 คน ที่เดินเท้ามายืนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสงขลาเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ปกป้องชุมชน หรือฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน การดำเนินคดีกับเครือข่าย people go network จำนวน 8 คนที่จัดกิจกรรม we walk เดินมิตรภาพจากรังสิตไปขอนแก่น หรือล่าสุดการดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมากที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เป็นต้น
 
สำหรับทางแก้ไขปัญหานั้น ปัจจุบันรัฐโดยศาลยุติธรรมกำลังจะผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก โดยการฟ้องไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจจะกลั่นแกล้งเอาเปรียบกับฝ่ายจำเลย หรือว่ามีการมุ่งหวังประโยชน์ในทางที่มิชอบ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการจัดเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น และแสวงหาแนวทางการพัฒนากฎหมายและกลไกต่างๆเพื่อแก้ปัญหาการฟ้องคดีปิดปากหรือ slapp อย่างเหมาะสมและรอบครอบ และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
 
วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนา
 
1. กระตุ้นการตระหนักรู้สาธารณะในเรื่องการฟ้องคดีปิดปาก หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP)
 
2. เพื่อรวบรวมข้อมูล ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการพัฒนากฎหมายและกลไกต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาการฟ้องคดีปิดปาก หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP)
 
 

 
งานเสวนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ “ฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ
 
วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 – 16.30
ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 
กำหนดการ
 
12.00– 13.00 น. ลงทะเบียน
 
13.00 – 15.30 น. สถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย
 
โดย คุณภัทรานิษฐ์ เยาดำ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
คุณ ส. รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
 
การผลักดันกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการฟ้องคดีปิดปากในปัจจุบัน
โดย คุณพรภัทร์ ตันติกุลานันท์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา
ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา* 
 
ข้อเสนอของภาควิชาการและประชาสังคม
โดย คุณสมชาย หอมลออ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
คุณสุมิตรชัย หัตถสาร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
คุณเสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
 
15.30 – 16.30 น. ช่วงแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม
 
ดำเนินรายการโดย คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
หมายเหตุ : *อยู่ระหว่างการประสานงาน