NLA Weekly (28 พ.ค. – 3 มิ.ย. 61): ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คาดเลือกตั้งไม่เกิน เม.ย.62

NLA Weekly (28 พ.ค. – 3 มิ.ย. 61): ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คาดเลือกตั้งไม่เกิน เม.ย.62

เมื่อ 3 มิ.ย. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัย ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การจัดการเลือกตั้งที่ยังไม่มีความแน่นอนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยขั้นตอนต่อจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลคำวินิจฉัยให้ประธาน สนช. เพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีนำขี้นทูลเกล้าฯ
 
ฟากฝั่ง สนช. สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ไว้พิจารณา ขณะที่สัปดาห์นี้วันที่ 8 มิถุนายน จะประชุมรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 9 มิถุนายน จะลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
 
30 พฤษภาคม 2561 
 
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-เลื่อนวินิจฉัยคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ออกไปวันที่ 4 มิ.ย.61
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสมาชิก สนช.ยื่นศาลตรวจสอบร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4),(5) เรื่อง การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง กับ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง เรื่อง ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการหรือผู้สูงอายุได้
 
โดยคำวินิจฉัยของศาลระบุว่า เรื่องการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นั้น 'ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ' เนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามกฎหมายถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่สามารถจำกัดได้ ส่วนประเด็นเรื่อง ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการหรือผู้สูงอายุได้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การอำนวยความสะดวกดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับตามรัฐธรรมนูญ จึงถือว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: ไอลอว์
 
กรธ.ชี้คำนวณเวลาเต็มเพดานแล้ว เลือกตั้งไม่เกิน เม.ย.62
 
อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องส่งคำวินิจฉัยกลับมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อส่งร่างกฎหมายต่อไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะมีระยะไม่เกิน 90 วัน และเมื่อร่างกฎหมายได้รับการโปรดเกล้าฯ ก็จะทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ แต่จะยังไม่สามารถนับหนึ่งในกระบวนการจัดการเลือกตั้งได้ เพราะต้องนับไปอีก 90 วัน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งนั่นเป็นผลดีเพราะพรรคการเมืองจะได้เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง
 
จากนั้นทันทีที่ครบ 90 วัน รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือกันเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งให้จัดขึ้นภายใน 150 วัน ดังนั้นเมื่อคำนวณระยะเวลาแบบเต็มเพดานการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 11 เดือนนับจากเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะไปตรงกับเดือนเมษายน 2562 พอดี แต่หากรัฐบาลต้องการให้จัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้ ก็จะต้องไปหารือกับ กกต.ให้ประกาศวันเลือกตั้งภายใน 90 วัน ไม่ต้องใช้เวลาถึง 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะสามารถจัดได้ตามกรอบเวลาเดิมได้
 
ที่มา: ประชาไท
 
31 พฤษภาคม 2561 
 
มติ สนช. 196 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 196 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับปรุงพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช จะทำให้คนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานที่มีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางความเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว สติปัญญา การเรียนรู้หรือความบกพร่องด้านอื่น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงหนังสือและตำราเรียนต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาความสามารถของมนุษย์ 
 
อีกทั้งการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายของรัฐ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักไม่เลือกปฏิบัติ ความเท่าเทียมและความเสมอภาค ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ การมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สนธิสัญญามาร์ราเคช ได้กำหนดให้รัฐภาคีบัญญัติกฎหมายเพื่อรองรับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อให้คนตาบอด คนพิการทางการเห็นและคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2537 เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาดังกล่าว
 
 
ขอเพิ่มแสนล้าน! รบ.ตั้งแท่นของบรายจ่ายปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้าน 
 
ยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า ในการประชุม สนช. วันที่ 7 มิ.ย. จะมีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปี 2561 จำนวน 1 แสนล้านบาท โดยมีทั้งหมด 61 มาตรา แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน จำนวน 660,305 แสนล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205 ล้านบาท และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท โดยที่ประชุม สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 50 คน เป็นสมาชิก สนช. 40 คน และตัวแทน ครม. 10 คน
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
เห็นชอบกระทรวงใหม่ ‘การอุดมศึกษา’ 
 
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยกรณีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ที่เกิดจากการควบรวมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า กระทรวงใหม่สามารถดำเนินการเสร็จภายในรัฐบาลนี้แน่นอน เนื่องจากมีความคืบหน้าในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงใหม่ถือเป็นการสร้างกำลังคน ผลักดันงานวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะส่งผลให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้น
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
1 มิถุนายน 2561
 
ปรับยุทธศาสตร์ชาติ ผูกมัดรัฐบาลหน้าน้อยลง เข้าครม. 5 มิ.ย.
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานยกฯ และหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุม ว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติเข้าสู่ที่ประชุม ครม.มาแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่มีหลายกระทรวงตั้งข้อสังเกตในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคการทำงาน ครม. จึงมอบให้คณะกรรมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) ปรับแก้บางประเด็น เช่น ตัวชี้วัดที่อาจมีผลต่อรัฐบาลหน้า นายกฯต้องการให้ปรับแก้ให้คล่องตัว แล้วเอาไปใส่ไว้ในแผนแม่บท เพราะแผนแม่บทมีเวลาดำเนินการและสามารถปรับได้ ทั้งนี้ เมื่อ สศช.ปรับแก้แล้วไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีก เพราะเป็นเพียงการปรับแก้เพียงเล็กน้อยสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาใน ครม. ในวันที่ 5 มิถุนายน นี้ได้เลย แล้วจะส่งให้ สนช. พิจารณาภายใน 1 เดือนก่อนเข้าสู่ขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ