สัปดาห์ที่ผ่านมา สนช.มีการนัดพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ โดยที่ประชุม สนช. ให้มีมติตั้ง กมธ.ศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 38 คน พร้อมกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน นับจากวันลงมติเห็นชอบ
นอกจากนี้ สนช. ยังมีมติรับหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ... , ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ศึกษา 28 คน เพื่อดำเนินการต่อไป
12 มิถุนายน 2561
ประธาน สนช. ส่งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ให้นายกรัฐมนตรีแล้ว
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 หลังจากได้รับคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานสนช. กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่ต้องส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมปในปี 2562 ส่วนกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ระหว่างรอรัฐบาลส่งร่างกฎหมายมาให้สนช. พิจารณา โดยเข้าใจว่าขณะนี้อาจจะมีปัญหาในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ซึ่งสนช. ยังระบุไม่ได้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามอยากพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.
หัวหน้าคสช.สั่งตั้ง"คตช."ชุดใหม่พร้อมปรับอำนาจเร่งปราบทุจริต
ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2561 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบตลอดจนหน้าที่และอำนาจของคตช.ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างการบริหาราชการและมอบหมายงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
14 มิถุนายน 2561
มติ สนช. รับหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ โดยร่างพ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ลงมติในคราวเดียวกันเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกัน รับหลักการด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 190 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา จำนวน 28 คน กรอบเวลาในการดำเนินการ 90 วัน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน นับจากวันถัดจากที่สภากำหนดวันแปรญัตติ
โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แจงหลักการตรากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มุ่งประโยชน์ในการอ้างอิงและบังคับใช้กฎหมาย ปรับบทบัญญัติให้เหมาะกับปัจจุบัน ขณะที่ สมาชิก สนช. แนะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาวิจัยข้อดีกัญชาทางการแพทย์ พร้อมเสนอ อาจใช้มาตรา 44 เปิดทางนำข้อดีของกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น
กมธ.วิสามัญฯ ยืนยัน การพิจารณางบประมาณ 2562 ต้องความสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ
พลเอก ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้านบาทว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญใน กมธ. รวม 50 คน โดยมี อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ก่อนส่งร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สนช. ในวาระ 2 และ 3 วันที่ 30 สิงหาคม 2561
สนช.มีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ฯ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. ...ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 174 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ
สำหรับบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ที่มีจุดมุ่งหมายหลักห้ามรัฐภาคีทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ในทุกรูปแบบ
"วิษณุ" เผยมี 4 ประเด็นต้องรายงานนายกฯเพื่อปลกล็อคปัญหาจัดเลือกตั้ง
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังหารือ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ผู้แทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีการทำไพรมารีโหวตว่า วันนี้หารือกันราว 14-15 ประเด็น แต่เรื่องหลักๆที่ต้องรายงาน คสช. และนายกฯ มี 3-4 ประเด็น คือ
1.การทำให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ได้
2.การทำให้พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ เนื่องจากหัวหน้าสาขาพรรคเป็นเงื่อนไขของการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไพรมารี่โหวดในหลายขั้นตอน และยังมีทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่หลายพรรคที่ยังจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบไม่ได้
3.ความชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำได้เร็วหรือช้าแค่ไหนยังไง เพราะต้องรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเมืองที่ถูกห้ามไว้ด้วยคำสั่ง คสช. ด้วย
4. การบริหารจัดการกำหนดเวลาขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้ง จะกำหนดเวลาอย่างไร ซึ่งผูกกับหลายปัจจัย เช่นเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ การเลือกตั้งท้องถิ่น และการได้ กกต. ชุดใหม่ เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นเป็นปัญหาปลีกย่อยที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เช่นคลายล็อคแล้วยังหาสมาชิกไม่ได้ หรือหาทุนประเดิมพรรคไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองเอง
15 มิถุนายน 2561
สนช. ขอเวลาอีก 22 วัน ศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนเห็นชอบ
15 มิถุนายน 2561 ที่ประชุม สนช. นัดพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ คสช. โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตัวแทนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติหกด้านเข้าชี้แจง
วิษณุ อธิบายว่า เหตุที่ต้องกำหนด 20 ปี เพราะถ้าเด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ยุทธศาสตร์ประกาศใช้ ก็จะเติบโตไปกับความเจริญตามยุทธศาสตร์ชาติ และเมื่ออายุ 20 ปีก็จะถึงวัยที่บรรลุนิติภาวะ เด็กคนนี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปอย่างมั่นคง มั่งคง ยั่งยืน
โดยช่วงท้ายของการประชุม สมชาย แสวงการ เสนอที่ประชุม สนช. ให้มีมติตั้ง กมธ.ศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 38 คน โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบ พร้อมกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมให้มติเห็นชอบ
17 มิถุนายน 2561
กกต.หนุนใช้ ม.44 แก้ปัญหาแบ่งเขตเลือกตั้ง
ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งและการทำไพรมารีโหวตนั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้ทันกรอบเวลาของโรดแมปเลือกตั้ง โดยกกต.ไม่เคยมีความเห็นให้ยกเลิกหรือไม่ให้ทำไพรมารีโหวต เพราะมีปัญหาเรื่องกรอบเวลา แต่ กกต.ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคจัดการเลือกตั้งว่าหากจะมีการทำไพรมารีโหวตก็จะต้องดำเนินการให้ทันตามเวลา