ในรอบอาทิตย์นี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องคือ การหารือระหว่าง คสช. กกต. และพรรคการเมือง ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 น. ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต โดยมีข่าวคราวว่า คสช. อาจจะใช้มาตรา 44 ยกเลิก ‘ไพรมารีโหวต’ หรือการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต เนื่องจาก ถ้าจะจัดเลือกตั้งให้ทันเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมืองจะมีเวลาเหลืออีกไม่มากในการดำเนินการต่างๆ เช่น การหาสมาชิกพรรคให้ครบห้าร้อยคน การจัดหาทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท การประชุมพรรค รวมถึงการทำไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560’ บังคับให้พรรคการเมืองต้องทำก่อนการเลือกตั้ง มิเช่นนั้นอาจจะถูกยุบพรรคหรือหมดสิทธิ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
18 มิถุนายน 2561
โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เตรียมส่ง สนช.ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 6 ก.ค. 61
พลเอก สุชาติ หนองบัว พร้อมด้วย รศ.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติว่า การประชุมนัดแรกเพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติได้พิจารณารายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน โดยเน้นการอยู่ดีกินดีของประชาชนและความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภค และการบริหารทรัพยากรต่างๆ ทั้งนี้ กมธ.พร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในแผ่นแม่บท โดยมีกำหนดในการพิจารณา จำนวน 22 วัน จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 และส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศบังคับใช้ต่อไป
“วิษณุ” ปัดตั้งธงเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนระดับชาติ เร่งคลอด กม.ประกาศ ไม่รู้ “สมศักดิ์” เดินสายดูด
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นจะประกาศใช้ได้ในเดือน ธ.ค. 2561 ถึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งถ้องถิ่นได้ในเดือน พ.ค. 2562 จึงจะทำให้การเลือกตั้งระดับชาติต้องเลื่อนออกไปด้วย ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะทั้งหมดนั้นเป็นการคาดการณ์ของ กกต. ทั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีทั้งหมด 6 ฉบับ ส่งไปให้ กกต. รับฟังความคิดเห็นแล้ว 1 ฉบับ เหลืออีก 5 ฉบับ อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแต่เดิม กกต. ระบุว่า การจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ขอให้ทอดระยะเวลาห่างจากการเลือกตั้งระดับชาติประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะจัดการเลือกตั้งประเภทใดก่อนหรือหลังก็ได้ เพื่อป้องกันความสับสนวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะจัดการเลือกตั้งระดับชาติก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่
19 มิถุนายน 2561
ครม.ไฟเขียวโละอัตราจอมพล เหลือระดับนายพล แต่คงรับเงินเดือนเท่าเดิม
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการ พ.ศ. 2551 ในประเด็นยกเลิกอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารของนายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือ พล.อ. พล.ร.อ. และ พล.อ.อ. ที่ครองอัตราจอมพล รับเงินเดือนระดับ น.9 เป็นให้นายทหารสัญญาบัตรยศพล.อ. พล.ร.อ. และ พล.อ.อ. อัตราเงินเดือน พล.อ.พิเศษ พ.ร.อ.พิเศษ และ พล.อ.อ.พิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9 แทน เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและการบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญ ย้ำว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือนของนายทหารสัญญาบัตรที่ครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ และ จอมพลอากาศอยู่ก่อนหน้าและได้รับเงินเดือนระดับ น.9 ต่อไปเช่นเดิม
20 มิถุนายน 2561
สนช.ดันกฎหมาย Fintech คุ้มครองข้อมูลการเงินส่วนบุคคล
ยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิป สนช.ได้รับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงินของ วรพล โสคติยานุรักษ์ กับคณะเป็นผู้เสนอมาพิจารณา
ยุทธนากล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกลาวมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีการเงินที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดให้การทำธุรกรมบางประเภทในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือดำเนินการด้วยวิธีการและเทคโนโลยีอื่นใด ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและห้ามไม่ให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาของศาลทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา
นอกจากนี้ยังกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการใดๆ กับข้อมูลซึ่งทำการปกปิดตัวตนของเจ้าของข้อมูลแล้ว เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับข้อมูลนั้นได้ เว้นแต่ผู้นั้นเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือกระทำโดยสุจริตและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย และให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิดำเนินการทางศาล เมื่อมีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่าผู้ใดกระทำการหรือจะกระทำการใดๆ และไม่ให้เกิดความเสียหาย
21 มิถุนายน 2561
คสช.ออกหนังสือเชิญพรรคฯ หารือ 25 มิ.ย. สโมสร ทบ. ส่งตัวแทนไม่เกิน 3 คน
สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกหนังสือโดยหัวหน้า คสช. กำหนดให้เชิญผู้แทนพรรคการเมืองเข้าร่วมพบปะหารือและรับฟังข้อคิดเห็นไปยังพรรคต่างๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 25 มิ.ย. เวลา 14.00-16.00 น. ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วมพบปะและรับฟังความคิดเห็นด้วย
ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวนอกจากจะรับทราบความคิดเห็นเพื่อเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ รัฐบาลจะชี้แจง ทำความเข้าใจ และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการทางการเมืองของพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยผู้ที่จะเข้าร่วมของแต่ละพรรคให้ส่งตัวแทนไม่เกิน 3 คนเข้าหารือ
กกต.เผยเสนอคลายล็อกเปิดทางพรรคประชุมได้มั่นใจเลือกตั้ง ก.พ. 62
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับ คสช.และพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 26 มิ.ย.นี้ว่า ทาง กกต.ยังไม่ได้รับการประสานมา แต่ได้เตรียมความพร้อมทั้งหมดไว้แล้ว โดยประเด็นที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งมีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข บนสมมติฐานว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 62 สิ่งที่พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวคือ ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค จัดตั้งสาขา หาสมาชิกพรรค เดินหน้าสู่การทำไพรมารีโหวต
ขณะที่ กกต.ก็ต้องเตรียมการเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง หากกระชั้นชิดมากไปจะไม่ทัน ทั้งนี้จากข้อเสนอล่าสุดหากเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ในช่วงเวลาที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็สามารถดำเนินการได้ทัน เนื่องจากมีเวลาอีก 90 วันก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนของการแบ่งเขตเลือกตั้งอาจใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.หรือใช้วิธีการออกเป็นพระราชกำหนดก็ได้ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกำลังหาวิธีการอยู่
ส่วนการจะทำไพรมารีโหวตนั้น เงื่อนไขสำคัญคือต้องให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ได้ ซึ่ง คสช.น่าจะมีการคลายส่วนนี้ให้ แต่ยังไม่ยกเลิกทั้งหมด เนื่องจากยังห่วงปัญหาเรื่องความสงบ
รมว.ทรัพย์ เชื่อ ปชช.หนุน ม.44 แก้ปัญหานำเข้าขยะพิษ ถกเอาผิด รง.-เอื้อสำแดงเท็จ
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงาน แก้ปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษ ว่าวันนี้เวลา 13.30 น.จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวที่กระทรวงทรัพยากรฯ โดยหลักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ซึ่งปัญหาทุกคนทราบแล้วว่ามีขยะเข้ามา แต่ต้องย้อนไปดูสนธิสัญญาการนำเข้าถูกต้องหรือไม่ ถ้าสำแดงเท็จก็จะเป็นภัยต่อประชาชน และจะไม่ให้นำเข้า ตรงนี้จะหากฎหมายมาดำเนินการ หากกฎกระทรวงที่มีอยู่ไม่ลงตัว การใช้มาตรา 44 คนไทยคงจะสนับสนุน
สนช.มีมติ 199 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาฯ เป็นกฎหมาย
สนช.มีมติ 199 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา พ.ศ... เป็นกฎหมาย จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มุ่งส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ
22 มิถุนายน 2561
กสม.รับยื่นตรงศาล รธน.ตีความปมถูกเซตซีโร่แล้ว หลังผู้ตรวจฯ ตีตก เชื่อรับคำร้อง
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งคำร้องของ กสม.ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่นั้น ตนและกรรมการ กสม.รวม 3 คน ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการเซตซีโร่ กสม. ทั้งคณะตาม พ.ร.ป.กสม. ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาวินิจฉัยว่าจะรับคำร้องของพวกตนหรือไม่อย่างไร
23 มิถุนายน 2561
ยอดสมัคร 'กสม.' แค่6คน กก.สรรหาแย้มไม่ครบต้องขยายเวลา
สุริชัย หวันแก้ว กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น กสม. ที่ล่าสุดมีผู้ยื่นใบสมัคร ทั้งสิ้น 6 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนกสม. ที่ต้องสรรหาให้ครบ 7 คน ว่า ขั้นตอนการรับสมัครฯ ตามประกาศจะมีไปถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีผู้ที่ประสงค์เข้าสู่กระบวนการสรรหา ยื่นใบสมัครในวันดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่หากไม่มีผู้ยื่นใบสมัคร ทางกรรมการสรรหา อาจนัดประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาต่อประเด็นดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไร ได้บ้าง อาทิ การขยายเวลารับสมัคร เป็นต้น
สุริชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับรายชื่อ 6 คนที่ยื่นใบสมัครฯ นั้นจากที่เห็นรายชื่อ ตนกังวลเพียงประเด็นเดียว คือ ความหลากหลายของบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการคัดเลือก อย่างไรก็ตามการพิจารณาคัดเลือกของกรรมการสรรหาฯ จะใช้การพิจารณาตามคุณสมบัติเป็นหลัก แต่จะมีความยืดหยุ่น ที่ไม่จำกัดเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งแบบตายตัว