รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ ลดหย่อนภาษีผู้มีบุตรคนที่สองขึ้นไป และคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเลือก สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุม สนช.จะพิจารณาวาระเห็นชอบต่อไป
ในสัปดาห์หน้า วันที่ 5 กรกฎาคม สนช.มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์คุ้มกันองค์กรระหว่างประเทศ วันที่ 6 กรกฎาคม มีวาระพิจารณาเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ และในวันที่ 12 กรกฎาคม สนช. มีวาระลงมติเห็นชอบต่อผู้ที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่ง กกต.
25 มิถุนายน 2561
สนช.ระบุ ‘ทักษิณ’ โวยังไม่ผิด ปมครอบงำเพื่อไทย
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมตรวจสอบกรณีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยผ่านวิดีโอคอลกับอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งเข้าข่ายความผิดการครอบงำพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่ว่า สิ่งที่ทักษิณสื่อสารกับอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อการเข้าข่ายความผิดการครอบงำพรรคมาตรา 28 และ 29 พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่มีบทลงโทษยุบพรรคได้
ที่มา: มติชนออนไลน์
26 มิถุนายน 2561
สนช.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์คุ้มกันองค์กรระหว่างประเทศ
นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยว่า วันที่ 5 กรกฎาคม สนช.มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์คุ้มกันองค์กรระหว่างประเทศ วันที่ 6 กรกฎาคม มีวาระพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งหากที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบจะส่งต่อให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
สนช. ระบุ ไพรมารี่โหวตสำคัญต่อการเลือกตั้ง ย้ำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุ จึงหวังว่าความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองจะเสร็จก่อนกำหนดดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่พรรคการเมืองต้องการให้ยกเว้นไพรมารี่โหวต มองว่า ไพรมารี่โหวตเป็นสิ่งสำคัญรวมถึงกฎหมายกำหนดว่าต้องปฏิบัติ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องหาช่องทางที่เหมาะสม อาจต้องใช้มาตรา 44 ทั้งนี้ หากรัฐบาลถามความเห็นมายัง สนช. ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม สนช.เพื่อให้สมาชิกได้พิจารณาร่วมกัน ก่อนที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับ คสช. สนช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อหาข้อยุติ
ส่วนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ประวัติและลักษณะต้องห้าม คาดว่าจะนัดลงมติภายในวันที่ 12 กรกฎาคม เชื่อว่า หาก กกต.ชุดใหม่จะสานต่องาน กกต.ชุดเดิมได้และไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง
ที่มา: วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
27 มิถุนายน 2561
สนช. รับการยื่นรายชื่อเพื่อเสนอขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ
สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก พันตรีวชิพร ยี่ทอง ตัวแทนข้าราชการและข้าราชการบำนาญทั่วประเทศ ยื่นรายชื่อผู้มีสิทธิ์เสนอขอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เนื่องจากเนื้อหาของร่างกฎหมาย 3 ฉบับของรัฐบาล ลิดรอนสิทธิ์ของข้าราชการ ปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญใหม่ส่งผลให้มีรายได้หลังเกษียณลดลง จึงเสนอให้กลับมาใช้วิธีการคำนวณเงินบำนาญ กบข.เดิม และเสนอให้ยกเลิกโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด