NLA Weekly (2-8 กรกฎาคม 2561): สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม

NLA Weekly (2-8 กรกฎาคม 2561): สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม

เมื่อ 8 ก.ค. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เป็นกฎหมาย และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศฯ ไว้พิจารณา นอกจากนี้ยังเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ คสช. 20 ปี
 
ในสัปดาห์นี้ สนช. มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ และมีวาระพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายอีกแปดฉบับ คือ
 
1) ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ....
2) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3) ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4) ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ....
5) ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.....
6) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
7) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
8) ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
 
3 กรกฎาคม 2561
 
ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐฯ เตรียมสงเคราะห์คนจนผ่านกองทุน
 
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับนี้ต้องการทำให้กองทุนประชารัฐซึ่งได้มีการตั้งภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีความยั่งยืน สำหรับแหล่งที่มาของเงินกองทุนนี้ จะได้มาจากการประเดิมของรัฐบาลที่จัดสรรให้ ซึ่งจัดสรรมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเปิดช่องให้สามารถรับเงินบริจาค ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเงินจากต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศได้ อนาคตเงินที่จะให้ในบัตรสวัสดิการคนจนก็จะมาจากเงินกองทุนนี้
 
ที่มา: ประชาไท
 
5 กรกฎาคม 2561
 
สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เป็นกฎหมาย โดยการพิจารณาของ สนช.นั้นเป็นการพิจารณาสามวาระรวด สาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า คือ มาตรา 3 คือ ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
 
ที่มา: ประชาไท
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศฯ
 
ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นด้วย 193 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน
 
วีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ การเข้ามาเพื่อดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการเข้ามาจัดประชุมระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์องค์การระหว่างประเทศ บุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ ผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ จะเป็นต้องได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน หรือสิทธิประโยชน์ระหว่างที่เข้ามาดำเนินการดังกล่าว
 
 
6 กรกฎาคม 2561
 
สนช. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ คสช.
 
ที่ประชุม  สนช. พิจารณาเห็นชอบ “ร่างยุทธศาสตร์ คสช.” หรือ “ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” แล้ว ด้วยคะแนน เห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4เสียง การลงมติเกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ใช้เวลา 22 วัน ในการศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะนำไประบุเพิ่มเติมในแผนแม่บทต่อไป และสรุปผลการศึกษาว่า “เห็นควรให้ความเห็นชอบ” ต่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. ทั้งนี้เมื่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศใช้
 
ที่มา: ไอลอว์ 
 
กมธ.วิสามัญพิจารณางบประมาณ ปี 62 เผย คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 50 มั่นใจเป็นไปตามกรอบเวลา
 
พลเอก ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 แถลงว่า ภาพรวมการพิจารณาคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 50 โดยพิจารณาเสร็จแล้ว 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงพลังงาน
 
ส่วนการพิจารณาแผนงานบูรณาการนั้น กมธ.ได้พิจารณาไปแล้ว 7 แผนงาน จากทั้งหมด 24 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แผนงานบูรณาการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนงานบูรณาการด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ และแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและกีฬา
 
สำหรับวงเงินที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 1.057 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.26 ของวงเงินทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท ขณะที่การปรับลดงบประมาณนั้นข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 กมธ.พิจารณาปรับลดไปแล้ว 5,699 ล้านบาท
 
 
สนช. เห็นชอบให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ฉบับแก้ไข ไปพิจารณา กำหนดมาตรการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แก้ปัญหา สุนัข-แมว จรจัด
 
ที่ประชุม สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  สมาชิก สนช.  และคณะสมาชิก สนช.   โดยได้ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ ครม. ขอรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไปพิจารณาศึกษาภายในกำหนด 30 วัน  ก่อนส่งให้ สนช. พิจารณาในวาระรับหลักการ ต่อไป
 
วัลลภ ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ว่า กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพ พ.ศ. 2557  ที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการสำหรับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นระบบ และไม่มีบทกำหนดโทษ  จึงจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะมีการเพิ่มบทบัญญัติ เพื่อแก้ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะสุนัข และแมว  ที่พบว่า มีสุนัขและแมวจรจัดและถูกทอดทิ้งมากถึง 1,300,000 ตัว  ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มภาระของรัฐ รวมทั้งบางส่วนก่อให้เกิดปัญหาโรคระบาดสัตว์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน