ความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิก สนช. 36 คน ได้เข้าชื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า กกต. ชุดเดิมใช้อำนาจทิ้งทวนก่อนหมดวาระในการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง และเตรียมสรรหากกต. ชุดใหม่ คาดว่าเปิดรับสมัคร กกต. ที่เหลือ 2 คน ในวันที่ 14-28 สิงหาคม 2561 หลังจากได้คัดเลือกกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้แล้ว 5 คน จาก 7 คน
6 สิงหาคม 2561
ประธาน สนช. ยืนยัน 4 ปี สนช.พิจารณาออกกฎหมายอย่างรอบด้าน ยึดหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงผลงาน 4ปี ของ สนช. ในรายการมองรัฐสภาว่า ภารกิจของ สนช.เป็นการทำงานที่ต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งงานนิติบัญญัติเป็นงานหลักของรัฐสภาทั่วโลกตามระบบนิติรัฐ ยึดหลักนิติธรรมในการออกกฎหมายเพื่อให้การบริหารงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พรเพชร กล่าวต่อว่า 4 ปีที่ผ่านมา สนช.เห็นชอบกฎหมายสำคัญไปแล้วกว่า 300ฉบับ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบราชการ แก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ทำสนธิสัญญาต่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา ส่วนการพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มีทั้งหมด 4ฉบับ เมื่อทั้งหมดมีผลบังคับใช้แล้วจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150 วัน ส่วนกรณีที่ต้องส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง สว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เพื่อทำให้ร่างกฎหมายสมบูรณ์ป้องกันการทักท้วงในอนาคต
ประธาน สนช. รับมี สนช. เสนอแก้ กม.กกต.
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสมาชิก สนช. จำนวนหนึ่งว่า มีความประสงค์ที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งเหตุผลที่ต้องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า การกำหนดให้ กกต. สามารถออกระเบียบเพื่อเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้นั้นอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงคิดว่าควรบัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อให้เกิดความแน่นอน เพราะเมื่อ กกต. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้วก็อาจจะมีการแก้ไขระเบียบอีก
8 สิงหาคม 2561
กรรมการสรรหาเปิดรับสมัคร กกต. ที่เหลือ 2 คน วันที่ 14-28 สิงหาคม 2561
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะ กรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหามีมติให้ใช้วิธีการเปิดรับสมัครผู้มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14 -28 สิงหาคม 2561 ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้พิจารณาทบทวนประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้สมัครด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับการสรรหาโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปีที่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และคาดว่าในช่วงวันที่ 4-6 ตุลาคม 2561 จะสามารถลงมติให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเสนอต่อที่ประชุม สนช. พิจารณา ดังนั้นเท่ากับว่าได้มีการร่นระยะเวลาการพิจารณาในชั้นกรรมการสรรหา จาก 90 วัน เหลือ 60 วัน
9 สิงหาคม 2561
รองนายกรัฐมนตรี และรองประธาน สนช. เห็นว่า แก้กฎหมาย กกต. ไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมาชิกสนช.ที่เข้าชื่อให้แก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ.2560 ได้ยื่นต่อประธานสนช.แล้ว โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของประธานสนช. หากประธานสนช.มีคำสั่งให้เข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) ก็คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรืออีก 1 สัปดาห์ถัดจากนั้น
สุรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการกล่าวหาสนช.จงใจจะเยื้อการเลือกตั้งนั้น คิดว่าเหมือนเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับสนช. เพราะความจริงเป็นการใช้สิทธิของแต่ละสมาชิกที่จะเสนอแก้กฎหมาย ส่วนสภาจะเห็นด้วยหรือไม่ ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ดังนั้น บางคนที่รีบด่วนตำหนิสนช.ค่อนข้างรุนแรง ต้องเรียนว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับสภา เพราะยังไม่ได้ผ่านมติความเห็นชอบจากสภาแต่อย่างใด อีกทั้งต้องผ่านกระบวนการอีกมาก ทั้งนี้ เท่าที่ดูไม่น่ามีอะไรกระทบโรดแมปเลือกตั้ง
“วิษณุ”ชี้แก้กม.กกต.ปมผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่ส่งผลเลือกตั้งช้าลง
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ สมาชิก สนช. เสนอแก้ กฎหมาย กกต. ว่า "กระบวนการทั้งหมดไม่เกี่ยว ว่าจะทำให้การเลือกตั้งช้าลง เพราะกำหนดเวลาเลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เขียนในรัฐธรรมนูญ กฏหมายอื่นจะมาดึงไม่ได้ ดังนั้น จะหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่กระทบการเลือกตั้งแน่นอน"
สนช. แจง ‘มีเหตุผลของตัวเอง’แก้กม.กกต. ยอมรับ ก.พ.62 ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสนช. กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 36 สนช. ที่เข้าชื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่สนช.เข้าชื่อแก้ไขก็มีเหตุผล แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ประธานกกต.จะไม่พอใจ ที่สนช.เข้าชื่อให้แก้ไขกฎหมายลูกกกต. แต่ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ เรายินดีรับฟังคำวิจารณ์ของกกต. แม้กกต. ปัจจุบันจะมีอำนาจเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย แต่ไม่มีความเหมาะสมที่จะเลือก เพราะผู้ทำหน้าที่คุมการเลือกตั้งคือ กกต.ชุดใหม่ จึงควรให้กกต. ใหม่เป็นผู้เลือกคนที่จะมาเป็นมือเป็นไม้ในการทำงานจะเหมาะกว่า ทำไมชุดเก่ามาทิ้งทวนวางคนของตัวเองไว้ ทั้งที่กำลังจะหมดอำนาจ
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ยอมรับว่า การแก้ไขกฎหมายลูก กกต.ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ทั้งการรับฟังความเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาให้ความเห็น ซึ่งรัฐบาลคงส่งให้กกต.ไปพิจารณา และส่งร่างของกกต.เข้ามาประกบกับร่างของ 36 สนช.เข้าชื่อเสนอแก้ไข สุดท้ายก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.อีก ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ดูแนวโน้มคงแก้ไขเสร็จไม่ทันการเลือกตั้ง เดือนก.พ. 2562
สนช. มีมติให้ความเห็นชอบพิธีสารเพื่อแก้ไขภาคผนวก 2 และภาคผนวก 5 ของความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเรื่องด่วน การให้ความเห็นชอบพิธีสารเพื่อแก้ไขภาคผนวก 2 และภาคผนวก 5 ของความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) โดย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาระสำคัญของการเสนอแก้ไขพิธีสารฯ ครั้งนี้ จะมีการแก้ไขในภาคผนวก 2 เป็นการแก้ไข โดยเพิ่มปริมาณโควตาเฉพาะ (Specific Quota) สินค้า มาตรการโควตาภาษี (TRQ) นมผงขาดมันเนย ของปี 2560-2562 จาก 3,011.58 เป็น 3,312.74 ตัน และของปี 2563 - 2567 จาก 3,523.55 เป็น 3,875.90 ตัน และ ภาคผนวก 5 แก้ไข โดยเพิ่มปริมาณเพดานการนำเข้า (Trigger Volume) ของปี 2560-2563 ของสินค้า มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) 6 ราย พิกันสินค้า ได้แก่ สินค้าหางนม (เวย์) ร้อยละ 20 ไขมันเนย ร้อยละ 10 และเนยแข็ง ร้อยละ 10 โดยสมาชิก สนช.ได้ลงมติให้ความเห็นชอบพิธีสารฯ ด้วยคะแนนให้ความเห็นชอบ 188 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 9 เสียง
12 สิงหาคม 2561
กกต. จ่อชงคสช. ใช้ ม.44 ขอแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนทำไพรมารีโหวต
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการหารือรอบ 2 เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพรรคการเมือง ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ ว่า ได้มีการพูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆของพรรคการเมืองว่าต้องดำเนินการอย่างไร ในช่วงของเวลา 90 วันภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ระหว่างในช่วง 90 วันนี้ จะขอให้ กกต. แบ่งเขตการเลือกตั้งได้ก่อน เพราะถ้าจะแบ่งเขตการเลือกตั้งได้ ก็ต้องรอให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ กกต.จึงจะขอให้ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตได้ เพราะถ้าไม่มีเขตเลือกตั้งที่แน่ชัด ก็ไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ ส่วนการปลดล็อกและคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้นั้น เป็นหน้าที่ของ คสช. สำหรับพรรคการเมืองเดิมที่ยังไม่สามารถประชุมพรรคเพื่อแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคหรือเปิดรับสมาชิกใหม่ได้นั้น หากจะดำเนินการ ต้องขออนุญาตจาก คสช.ก่อนเป็นรายกรณี