ความเคลื่อนไหวประจำสัปดาห์นี้ มีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ คสช. จะคลายล็อคพรรคการเมืองเก่า ให้พรรคสามารถจัดประชุมใหญ่ เปิดรับสมาชิกพรรคได้ จัดตั้งสาขาพรรคได้ ฯลฯ ซึ่งการปลดล็อคดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังกฎหมายการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมาณช่วงกลางเดือนกันยายน และถือเป็น 'คิกออฟ' ฤดูกาลการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกรณี 'ไพรมารีโหวต' หรือการเลือกตั้งขั้นต้นโดยให้สมาชิกพรรคแต่ละพื้นที่เป็นคนเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หารือต่อ กกต. เพื่อวางแนวทางนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ สนช. ต้องแสดงความเห็น ขณะที่ประเด็นข้อเสนอให้แก้ไขการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารีโหวต) ที่มีแนวคิดจะแก้ไขจากเดิมที่ใช้ระบบของจังหวัด
20 สิงหาคม 2561
วิษณุเผย ยังไม่มีเหตุให้เลือกตั้งช้ากว่า 24 ก.พ. 62 ยันกลางเดือน ก.ย. คลายล็อคพรรคการเมือง
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้หารือกับ กกต. 10 ประเด็น ซึ่งต่อยอดจากการประชุมจากเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำใน 90 วันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในกลางเดือน ก.ย. ประเด็นที่จะทำให้ได้คือการคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ 6 อย่างโดยไม่ต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น การจัดประชุมใหญ่ เปิดรับสมาชิกใหม่ จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมือง การทำในสิ่งที่คล้ายการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง เพราะหากทำตามกฎหมายพรรคการเมืองจะมีความยุ่งยาก จึงจะดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทน แต่แนวทางยังไม่ได้สรุปในเวลานี้ และจะรวบรวมเสนอ คสช.พิจารณาแก้ไขต่อไป
วิษณุ กล่าวต่อว่า การแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอการประชุมร่วมกันระหว่าง กกต. คสช.และพรรคการเมืองรอบที่ 2 ในช่วงเดือน ก.ย. โดยการแก้ไขคำสั่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 หรือออกคำสั่งใหม่แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าคำสั่งใหม่จะออกมาเมื่อใด แต่การปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีขึ้นหลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในช่วง 150 วัน ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญกำหนด
21 สิงหาคม 2561
แก้ไพรมารีโหวต อาจกระทบโรดแม็พเลือกตั้ง
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่าตนยังไม่เตรียมพร้อมต่อประเด็นการเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) , คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ข้อ 8 กำหนดไว้ต่อการคลายล็อคทางการเมืองให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม
ส่วนข้อเสนอที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หารือต่อ กกต. เพื่อวางแนวทางนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ สนช. ต้องแสดงความเห็น ขณะที่ประเด็นข้อเสนอให้แก้ไขการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารี่โหวต) ที่มีแนวคิดจะแก้ไขจากเดิมที่ใช้ระบบของจังหวัด เป็นระบบของภาคนั้นตนไม่มีความเห็น ทั้งนี้การแก้ไขดังกล่าวอาจทำได้ผ่านกระบวนการใช้มาตรา 44 หรือ แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ในชั้นของ สนช. ส่วนการแก้ไขจะกระทบโรดแม็พเลือกตั้งหรือไม่ ความเห็นส่วนตัวมองว่าอาจมีผลกระทบ หรือไม่มีผลกระทบก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแก้ไขประเด็นอะไรและมีเนื้อหาอย่างไร
'ประยุทธ์' ย้ำไม่มีปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง จ่อถกพรรคการเมือง 1 ก.ย.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดชุมพร ถึงกรณีที่ กกต. กำหนดกรอบวันเลือกตั้งเร็วที่สุด 24 ก.พ. 2562 โดยยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดิมที่พูดคุยกันไว้ และยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่นอออกไป รวมถึงยังไม่มีเงื่อนไขใดที่ทำให้การเลือกตั้งจะเลื่อนมาเร็วขึ้น โดยในเดือนกันยายนนี้ คสช.จะมีแนวทางผ่อนปรน ให้ กกต. สามารถทำงานได้ ซึ่งอาจรวมถึงการทำไพรมารีโหวตและรัฐบาลจะนัดตัวแทนพรรคการเมืองมาหารือรอบ2 เกี่ยวกับเรื่องวันเลือกตั้ง ในช่วงเดือนกันยายนเช่นกัน คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 กันยายน
คณะกรรมการสรรหาฯ เคาะ 7 รายชื่อ ว่าที่กสม.
คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด สมชาย หอมลออ สุนี ไชยรส และอมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร ผู้แทนสภาทนายความ สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และสุริชัย หวันแก้ว อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคัดสรรและลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
1.บุคคลผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน จำนวน 2 คน คือ สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ และ ไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
2.บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา จำนวน 1 คน คือ ผศ.จารย์จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
3.บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จำนวน 1 คน คือ บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
4. บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คน คือ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
5. บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 คน คือ สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
ประวิตร' เตรียมเสนอ สนช.พิจารณาเพิ่มโทษผู้ทำผิด แก้ปัญหาจราจร
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอแผนแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายใน 3 เดือน ว่า ขณะนี้เตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขกฏหมายจราจรเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิด เช่น ไม่มีใบขับขี่ หรือมีใบขับขี่แล้วไม่พกติดตัว
นอกจากนี้ มีอีกหลายประเด็นที่กำลังพิจารณาอยู่ เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อระบบ รถ ราง เรือ ที่กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะนายกรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาไว้ 3 เดือน ในการปรับปรุง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จ และยังตอบไม่ได้ว่า ต้องใช้ระยะเวลาแค่ไหนในการแก้ปัญหาจราจรที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งการแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 มาบังคับใช้ แต่ยังสามารถใช้กฏหมายปกติดำเนินการได้
'อนุพงษ์' แจงรอดูความเหมาะสมจัด ลต.ท้องถิ่น หลังแก้ กม.เสร็จ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ ที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการต่อไปว่า ขณะนี้ตนว่าอยู่ในกระบวนการ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือระดับชาติอะไรจะเกิดขึ้นก่อนนั้น เป็นเรื่องของนโยบายเพราะต้องดูเวลาที่เหมาะสม ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ได้ขอไว้ว่า การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ควรกระชั้นชิดกับการเลือกตั้งใหญ่เกิน 3 เดือน เพราะจะไม่สามารถดำเนินการต่างๆได้ทัน ทั้งนี้ เมื่อแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นแล้วเสร็จจะต้องดูความเหมาะสมอีกครั้งว่า สมควรมีกำหนดเวลาห่างกันเท่าใด
22 สิงหาคม 2561
เลขาธิการ กกต. เผยเตรียมตั้งวอร์รูม คุมเนื้อหาการหาเสียงออนไลน์
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด การคิดค่าใช้จ่าย โดยในช่วงต้นอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย
23 สิงหาคม 2561
สนช. เห็นชอบ "สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต" เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน วาระ 7 ปี
ที่ประชุม สนช. เห็นชอบ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยมติเห็นชอบ 171 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ระบุว่า ปัจจุบันสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต อายุ 62 ปี เป็นกรรมการในคณะกรรมการของการประปานครหลวง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการหลายจังหวัด เช่น จังหวัดน่าน ขอนแก่น ระยอง เป็นต้น และอดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง
ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวน 3 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และสามารถดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่หลักคือเสนอแนะหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้มีการปรับปรุงกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน และแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่า มีผู้ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ
การเห็นชอบครั้งนี้ของ สนช. ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนครบ 3 คน โดยที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุม สนช.เคยเห็นชอบให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และบูรณ์ ฐาปนดุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินมาแล้ว
24 สิงหาคม 2561
ผบ.ทบ. กำชับ กกล.รส.ดูแลสถานการณ์หลังคลายล็อกพรรคการเมือง ก.ย. นี้
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) กองทัพบก เนื่องในโอกาสเตรียมอำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พร้อมกล่าวให้โอวาทกำลังพล นปอ. ตอนหนึ่งว่าในฐานะที่ นปอ. มีอีกบทบาทคือการเป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในเดือน ก.ย. 2561 นี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการผ่อนคลายให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามโรดแมปการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีหลายส่วน หลายขั้ว และหลายพรรค เคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะกองกำลังรักษาความสบบ จึงขอให้เตรียมการให้พร้อมตลอดเวลา
รองประธานสนช. ยันสนช.รอบคอบพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย แก้พรบ.จราจร
พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่กรมการขนส่งทางบก เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)รถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 โดยให้มีการเพิ่มโทษผู้ขับรถไม่พกใบอนุญาตขับขี่
เป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 1-5 หมื่นบาทว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกฉบับที่ผ่านมา สนช.พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้านอยู่แล้ว ขอให้ใจเย็นๆ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของ ครม.พิจารณา ยังไม่ได้มีการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสนช. หรือถ้ามีการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้ามาที่สนช.จริง ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรา 77 อีกด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าสนช.พร้อมรับฟังทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้ขับขี่บนท้องถนน หรือเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กติกา